ใบพัดเสื่อมสภาพ! NTSB เผย สาเหตุทำให้เครื่องยนต์ของโบอิ้ง 777 ของยูไนเต็ดแอร์ไลน์ขัดข้อง

23 กุมภาพันธ์ 2564, 13:00น.


          กรณีเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 ของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์ของสหรัฐฯ เที่ยวบิน 328 พร้อมผู้โดยสาร 231 คนและลูกเรือ 10 คน ลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินนานาชาติเมืองเดนเวอร์ เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว หลังเครื่องยนต์หนึ่งตัวทางฝั่งขวาของเครื่องบินเกิดปัญหาขัดข้องทางเทคนิค ไม่นานหลังบินขึ้นจากสนามบินเมืองเดนเวอร์ มุ่งหน้ายังเมืองโฮโนลูลู  และมีชิ้นส่วนจากเครื่องยนต์ร่วงหล่นยังย่านชุมชนแห่งหนึ่งใกล้สนามบิน เกือบตกถูกบ้านหลังหนึ่ง ไม่มีคนบาดเจ็บ



          นายโรเบิร์ต ซัมวอล์ต ประธานคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการคมนาคมแห่งชาติ(NTSB)ของสหรัฐฯเปิดเผยว่าจากการตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์ในเบื้องต้น ผู้เชี่ยวชาญจาก NTSB  ระบุว่า ความเสียหายของใบพัดของเครื่องยนต์รุ่น แพรทท์ แอนด์ วิทนีย์ PW4000 เป็นผลจากการเสื่อมสภาพของเหล็กที่เกิดตามอายุการใช้งาน เป็นเหตุให้เครื่องยนต์เกิดปัญหาขัดข้อง พร้อมส่งใบพัดของเครื่องยนต์ดังกล่าวจะถูกส่งไปตรวจยังห้องแล็บของบริษัทแพรทท์ แอนด์ วิทนีย์ในรัฐฟลอริดา เพื่อวิเคราะห์สาเหตุโดยละเอียดต่อไป



          ในเบื้องต้น คณะผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบอย่างชัดเจนว่าการที่เครื่องยนต์ PW4000 ขัดข้อง มีเสียงดังหนึ่งครั้ง 4 นาทีหลังเท็คออฟจากสนามบินเมืองเดนเวอร์เมื่อวันเสาร์ที่แล้วเป็นลักษณะเดียวกับกรณีเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 อีกลำหนึ่งของยูไนเต็ดแอร์ไลน์เกิดปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้อง ขณะบินมุ่งหน้ายังรัฐฮาวายในปี 2561 หรือไม่ ครั้งนั้น ผู้เชี่ยวชาญของ NTSB สรุปว่า รอยร้าวที่ใบพัดของพัดลมซึ่งเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานคือ สาเหตุทำให้เครื่องยนต์ขัดข้อง สำหรับเครื่องบินดังกล่าวใช้งานมา 26 ปี โดยพบว่า บริษัทโบอิ้งของสหรัฐฯติดตั้งเครื่องยนต์รุ่น PW4000 กับเครื่องบินโบอิ้ง 777 ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของเครื่องบินโบอิ้ง 777 ทั้งหมด ที่ขายให้กับสายการบินต่างๆทั่วโลก



          ด้านคณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งของญี่ปุ่น ระบุว่า จากการตรวจสอบเครื่องยนต์ PW4000 ของสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว หลังผู้เชี่ยวชาญของญี่ปุ่นพบใบพัด 2 ตัวเสื่อมสภาพ ใบพัดตัวหนึ่งมีรอยร้าว ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นจะตรวจสอบอย่างละเอียดเช่นกัน



Cr: Reuters, The Guardian UK

ข่าวทั้งหมด

X