พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.64 มีนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ จำนวน 41 คน เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อเข้าพักแบบกอล์ฟควอรันทีน Golf Quarantine (GQ) เป็นกลุ่มแรกของไทย เข้าพักที่สนาม อาทิตยา กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท (Artitaya Golf & Resort) จังหวัดนครนายก จากการประสานงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานโซล เกาหลีใต้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนหน้านี้ ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำเสนอมาตรการควบคุมและป้องกันโรคมายัง ศบค.และได้รับอนุมัติ
สำหรับกอล์ฟควอรันที คือ การให้นักท่องเที่ยวกักตัวที่สนามกอล์ฟรีสอร์ท เป็นเวลา 14 วัน โดยในช่วงเวลาที่กักตัว สามารถออกมาเล่นกอล์ฟหรือทำกิจกรรมอื่นๆนอกห้องได้ โดยต้องปฎิบัติตามมาตรการควบคุมโรคภายในกอล์ฟรีสอร์ทอย่างเคร่งครัด และไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกมานอกพื้นที่กอล์ฟรีสอร์ท โดยกอล์ฟรีสอร์ทที่จะเข้าร่วมเป็นกอล์ฟควอรันทีน ต้องนำเสนอมาตรการป้องกันและควบคุมโรคให้ ศบค.พิจารณาก่อน ซึ่งนางจิราณี พูนนายม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานโซล เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ทั้ง 41 คน หลังจากมาเข้ากอล์ฟควอรันทีนที่สนามกอล์ฟอาทิตยา จังหวัดนครนายก ครบ 14 วันแล้ว จะเดินทางไปเล่นกอล์ฟต่อที่สนามกอล์ฟอาทิตยา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียน มีเงินสะพัดในประเทศ ในช่วงระยะเวลา 2 เดือน สร้างรายได้รวมให้กับประเทศไทยประมาณ 13. 1 ล้านบาท คิดต่อหัวต่อวัน 5,571. 59 บาท และ ค่า Golf Quarantine จำนวนเงินประมาณ 69,000 บาทต่อหัว
พญ.อภิสมัย ระบุว่า หลังจากรัฐบาลจัดให้มีสถานที่กักตัวของรัฐ สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้ง สถานกักกันที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการ (State Quarantine) , สถานกักกันที่ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ (Local Quarantine) , สถานกักกันทางเลือกที่เป็นของเอกชน (Alternative Quarantine) , สถานกักกันทางเลือกที่เป็นโรงพยาบาล (Alternative Hospital Quarantine) , และสถานกักกันในโรงงาน (Factory Quarantine) เพื่อเป็นทางเลือกในการกักตัวที่เหมาะสม หลังจากนี้จะเริ่มได้ยินคำว่า Golf Quarantine การกักตัวในสนามกอล์ฟรีสอร์ท , Sport Quarantine การกักตัวระหว่างมีการแข่งขันกีฬา และ Villa Quarantine การกักตัวภายในวิลลารีสอร์ทต่างๆ ภายใต้มาตรการควบคุมป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ ที่กระทรวงสาธารณสุขและ ศบค.จะถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการควบคุมโรคไปยังภาคเอกชนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินกิจกรรมกิจการการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศสามารถเดินหน้าไปได้
โดยขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขและ ศบค.กำลังจัดทำเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน เพื่อประกาศเป็นมาตรฐานและหลักเกณฑ์ให้กับภาคเอกชนที่จะจัดทำสถานกักกัน เช่น การรับตัวนักท่องเที่ยวจากสนามบินเข้าสู่ที่พัก , การใช้ชีวิตประจำวันภายในสนามกอล์ฟ วิลลา รีสอร์ท หรือสถานประกอบการอื่นๆ , มาตรการดูแลป้องกันตัวเองของพนักงานที่จำเป็นต้องให้บริการนักท่องเที่ยวในสถานกักกันนั้น , ต้องมีผู้รับผิดชอบหลักดูแลการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง คล้ายกับบับเบิ้ลของโรงงานต่างๆ ที่ต้องมีผู้ควบคุมไม่ให้ออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ จะต้องกำหนดมาตรการดูแลด้านการแพทย์และการควบคุมโรค โดยต้องตรวจหาเชื้อจากโพรงจมูกนักท่องเที่ยวทันทีที่เข้าที่พักในวันแรก (Day 0) จากนั้นตรวจอีกครั้งในวันที่ 5-7 ของการกักตัว เมื่อผลเป็นลบก็สามารถออกจากห้องมาทำกิจกรรมต่างๆ ภายในสถานกักกันได้ เมื่อกักตัวครบ 14 วัน ก็สามารถเดินทางท่องเที่ยวไปยังที่อื่นๆ ได้ โดยมาตรการต่างๆ ทางภาคเอกชนสามารถเสนอเข้ามายัง ศบค.ได้ โดย ศบค.จะพิจารณาว่าเหมาะสมได้มาตรฐานหรือไม่ รวมทั้งมาตรการต่างๆ ควรได้รับความเห็นชอบจากชุมชน หรือส่งเสริมให้เกิดอาชีพในชุมชน เช่น การจ้างชุมชนทำอาหารจัดส่งเข้าไปยังรีสอร์ท หรือมีร้านขายของของชุมชน ก็จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนได้ด้วย