ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 07.30น.วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564

22 กุมภาพันธ์ 2564, 08:53น.


เตรียมปลดล็อก! เปิดสถานบันเทิง-นั่งดริ้งค์ในร้านได้




          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว เปิดเผยว่า การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชุดใหญ่ จะมีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการอนุญาตให้นั่งดื่มในร้านอาหาร และการเปิดสถานบันเทิง โดยประเด็นนี้ ที่ประชุมจะพิจารณาอย่างรอบคอบให้ดีที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดเล็ก ร้านอาหาร และผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ จะปรับสีของพื้นที่ต่างๆให้ผ่อนคลายมากขึ้น เป็นดังนี้



-พื้นที่ควบคุมสูงสุด (แดงเข้ม) 1 จังหวัด  : จ.สมุทรสาคร



-พื้นที่ควบคุม (ส้ม) 8 จังหวัด :กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ตาก และราชบุรี

-พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 14 จังหวัด: กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ระนอง ชลบุรี ระยอง ชุมพร สงขลา ยะลา และนราธิวาส



-พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) 54 จังหวัด : กำแพงเพชร ชัยนาท นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบูรณ์ สุโขทัย สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี กระบี่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง นครพนม ชัยภูมิ นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปัตตานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี อ่างทอง สระแก้ว จันทบุรี สิงห์บุรี ตราด ปราจีนบุรี และ ลพบุรี



          นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาเรื่องการต่ออายุการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ที่จะครบกำหนดในวันที่ 28 ก.พ. 64 นี้ การขยายระยะเวลาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งล่าสุด เป็นครั้งที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.-28 ก.พ. 64  เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจในการปฏิบัติงานเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรคและมาตรการทางสังคมที่เข้มข้นและรวดเร็ว




ก.อุดมศึกษาฯ ยืนยัน สถิติฉีดวัคซีนคนทั่วโลก ผลดีเกินคาด



          ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่าเมื่อมีการฉีดวัคซีนทั่วโลกได้เกินกว่า 200 ล้านโดส ในเวลา 2 เดือน มีการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดในมิติต่าง ๆ ทำให้ทราบผลการใช้งานในสถานการณ์จริง พบว่า ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของวัคซีนดีกว่าที่คาด สรุปข้อมูล การใช้งานจริงที่น่าสนใจได้ 6 ประเด็น ดังนี้



1.ประสิทธิภาพของวัคซีน สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก ผู้ที่ได้รับวัคซีนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง ตรวจพบทั้งแอนติบอดีและการตอบสนองภูมิคุ้มกันด้านเซลล์ เดิมตั้งความหวังว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพร้อยละ 60-70 น่าจะเพียงพอแต่ผลจากที่ใช้จริงนั้น ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งวัคซีนจากผู้ผลิตหลักแต่ละบริษัท ให้ผลใกล้เคียงกัน



2.ประสิทธิผลของวัคซีน สามารถป้องกันการเกิดอาการ และความรุนแรงจากการติดเชื้อได้ดีมาก ผู้ได้รับวัคซีนแล้วส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแม้ว่าได้รับเชื้อ โดยวัคซีนสามารถลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างมาก เมื่อฉีดในประชากรจำนวนเพียงพอในหลายประเทศ ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลง และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงอย่างชัดเจน



3.ความปลอดภัยของวัคซีน การติดตามผลการฉีดในคนจำนวนมากนั้น พบว่าวัคซีนที่ใช้มีความปลอดภัยสูง มีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ที่พบคือเจ็บบริเวณฉีด ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัวหรืออ่อนเพลีย ซึ่งหายโดยเร็วในไม่กี่วัน และไม่พบผลข้างเคียงชนิดรุนแรง การแพ้วัคซีนแบบอาการหนักนั้นพบน้อยมากเพียงไม่กี่ราย และยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากผลข้างเคียงของวัคซีน

4.วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ค่อนข้างดีหลังการฉีดเข็มแรก หลังฉีดวัคซีนเข็มแรกจะเริ่มมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจจะสูงเพียงพอในการป้องกันการติดเชื้อได้แล้วในระดับหนึ่ง รวมทั้งพบว่าการยืดเวลาการฉีดเข็มที่สองออกไป ทำให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันดีขึ้นด้วย ดังนั้น อาจสามารถยืดระยะเวลา ระหว่างการฉีดเข็มที่หนึ่งและเข็มที่สองได้ เป็นการลดภาระในการเร่งฉีดเข็มที่สอง ทำให้สามารถกระจายวัคซีนที่มีอยู่ ไปฉีดให้ครอบคลุมประชากรจำนวนมากขึ้น โดยแทนที่จะเร่งฉีดเข็มที่สอง จะนำวัคซีนเข็มที่หนึ่งให้กับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ทำให้มีจำนวนประชากรได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้นอีก

5.ความคงทนของวัคซีน ในช่วงต้นของการพัฒนาวัคซีน พยายามเก็บรักษาและขนส่งวัคซีน ในตู้แช่อุณหภูมิต่ำมาก เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของวัคซีน ต่อมาพบว่าสามารถเก็บและขนส่งวัคซีนได้ ในอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ ลดข้อจำกัดในการขนส่งและการกระจายวัคซีนที่ต้องควบคุมเป็นพิเศษ ทำให้กระจายวัคซีนได้ในวงกว้าง และเร่งฉีดได้จำนวนมากขึ้น



6.วัคซีนได้ผลลดลง ต่อเชื้อไวรัสโควิดบางสายพันธุ์ เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง และมีข้อกังวลเรื่องผลการป้องกันต่อเชื้อที่กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ โดยวัคซีนมีประสิทธิผลลดลงต่อ เชื้อโควิด-19 บางสายพันธุ์โดยเฉพาะจากแอฟริกาใต้ จึงต้องเตรียมพัฒนาวัคซีนต่อเชื้อสายพันธุ์ใหม่ด้วย



CR:กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม



รพ.ไชโย อ่างทอง กักตัว 16 คน ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19



           โรงพยาบาลไชโย จังหวัดอ่างทอง ประกาศว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้มีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลไชโย ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-19 มีโอกาสสัมผัสเชื้อ จึงต้องเข้ารับการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน มีจำนวนถึง 16 คน ทำให้อัตรากำลังไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องปิดแผนกผู้ป่วยใน ระหว่างวันที่ 20 ก.พ.ถึง 28 ก.พ.64



-โรงพยาบาล นำผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในแผนกผู้ป่วยในส่งต่อไปที่โรงพยาบาลใกล้เคียง คือ โรงพยาบาลโพธิ์ทอง



-โรงพยาบาลไชโย ยังเปิดให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน และผู้ป่วยนอก



          สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอกสองของ จ.อ่างทอง พบผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่มอีก 6 คน อยู่ที่ อ.เมือง 3 คน อ.โพธิ์ทอง 1 คน และ อ.ไชโย 1 คน รวมมีผู้ติดเชื้อสะสมทั้งสิ้นเป็น 127 คน



พยาบาล รพ.บางละมุง ชลบุรี ติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วย



          นพ.อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี กล่าวถึง กรณีพยาบาลหญิงอายุ 25 ปี ที่ รพ.บางละมุง ติดเชื้อโควิด-19 ว่า  ติดเชื้อจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และกักตัวในสถานที่กักตัวและเมื่อพบเชื้อจึงส่งตัวมารับการรักษา ไม่ใช่การติดเชื้อจากการปฏิบัติงานในสถานที่กักตัว



-จากการสอบสวนโรคมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 11 คน ตรวจหาเชื้อแล้วไม่พบ ขณะนี้ส่งไปกักตัวแล้ว



-ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำมี 5 คน ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว  2 คน อยู่ระหว่างตรวจและรอผลอีก 3 คน



          โรงพยาบาลบางละมุง จ.ชลบุรี เป็นโรงพยาบาลที่รับส่งต่อผู้ติดเชื้อมาจากสถานที่กักกันโรคของภาครัฐอยู่แล้ว ตั้งแต่ที่มีการระบาดรอบแรกมาถึงรอบนี้ การทำงานกับผู้ติดเชื้อจึงมีความเสี่ยงมากที่จะเกิดการติดเชื้อได้ รายนี้นับเป็นรายแรกของจังหวัดที่ติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ต้องไปดูว่า มีช่องโหว่ตรงไหนที่ทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น เบื้องต้นทราบว่าพยาบาลคนนี้ มักมีการดูแลพูดคุยกับผู้ป่วยบ่อย ดังนั้นในส่วนนี้ต้องมีการกำชับผู้ปฏิบัติงานกรณีที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ขอให้พูดและสื่อสารกับผู้ป่วยเท่าที่จำเป็นเท่านั้น 



โรงเรียนสาธิต ม.ศิลปากร ปิดจนถึง 8 มี.ค. พบเจ้าหน้าที่การเงินติดเชื้อ



          หลังจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม รายงานผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ว่าเจ้าหน้าที่การเงินโรงเรียนสาธิตในระดับชั้นมัธยมและสามีติดเชื้อโควิค-19 จากญาติที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน เป็นผู้ป่วยที่จ.นครปฐม รายงานเมื่อวานนี้ มีการประสานผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมัธยม ให้ปิดทำการในสถานศึกษาสถานที่ตั้ง และให้ผู้สอนจัดการเรียนการสอนออนไลน์ทั้งหมด ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 22 ก.พ. 64 เป็นต้นไป และให้บุคลากรของโรงเรียนสาธิตมัธยมปฏิบัติงานที่บ้าน คาดว่าโรงเรียนสาธิตมัธยมจะเปิดทำการในวันที่ 8 มี.ค. 64



          ส่วนโรงเรียนสาธิตปฐมวัยและประถมศึกษา จะปิดทำงานในสถานที่ตั้ง และจัดการเรียนการสอนออนไลน์ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 64 เป็นต้นไป และให้บุคลากรปฏิบัติงานที่บ้าน ส่วนกำหนดการเปิดทำการปกติ จะติดประกาศจากทางโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง



          สำหรับบุคลากรสังกัดสำนักงานคณบดี ปิดทำงานในสถานที่ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 22 ก.พ. 64 และเริ่มปฏิบัติงานปกติวันที่ 1 มี.ค. 64 ยกเว้นบุคลากรกรณีที่ทางภาครัฐและสำนักงานคณบดี พิจารณาขอให้มาปฏิบัติงานตามความจำเป็น โดยสำนักงานคณบดีและโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ทุกระดับชั้นปฐมวัย มัธยมศึกษาได้ทำการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันศุกร์ที่ 19 ก.พ. 64



 

ข่าวทั้งหมด

X