ศบค.วอนคนไข้อย่าปิดบังประวัติ ลดความเสี่ยงให้บุคลากรทางการแพทย์
หลังจากการสูญเสีย นพ.ปัญญา หาญพาณิชย์พันธุ์ แพทย์เกษียณอายุ และเปิดคลินิกรักษาประชาชนที่จังหวัดมหาสารคาม ติดเชื้อจากการตรวจรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากคลัสเตอร์งานเลี้ยงโต๊ะแชร์ โดยไม่ทราบว่าผู้ป่วยรายนั้นติดเชื้อ นับว่าเป็นบุคลากรทางการแพทย์รายแรก ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ถึง 36 คน ที่ติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งมีบุคลากรทางการแพทย์ที่กลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงจากการปฎิบัติหน้าที่หลายราย ทำให้ต้องกักตัวงดปฎิบัติหน้าที่ ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฎิบัติงานมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนที่ไปในพื้นที่เสี่ยง มีประวัติเสี่ยง ต้องแจ้งประวัติและข้อมูลทั้งหมด โดยไม่ปิดบัง เพื่อลดการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ โดยในวันจันทร์ที่ 22 ก.พ.64 ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ จะหารือเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
สถานการณ์การฉีดวัคซีนจากทั่วโลก นพ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. เปิดเผยเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนไปแล้ว 57 ล้านโดส หรือร้อยละ 17.29 ของประชากรทั้งหมด และคนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส ประมาณ 16 ล้านคน ส่วนการติดเชื้อในเกาหลีใต้ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเดินทางช่วงวันหยุดยาวตรุษเกาหลี ตัวเลขวันนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 621 คน
‘นพ.ยง’ ชี้ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนโควิด-19 กับหญิงตั้งครรภ์
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” หัวข้อโควิด-19 วัคซีนจะฉีดในคนท้องได้หรือไม่ว่า
หลักการตามทฤษฎี เราสามารถให้วัคซีนเชื้อตายในสตรีตั้งครรภ์ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในสตรีตั้งครรภ์ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นวัคซีนใหม่ ยังไม่มีข้อมูล ก็จะไม่แนะนำให้ในสตรีตั้งครรภ์
ทั้งนี้ โควิด-19 วัคซีนเป็นวัคซีนใหม่ ยังไม่มีข้อมูลในสตรีตั้งครรภ์ จึงยังไม่แนะนำให้ในสตรีตั้งครรภ์
เมื่อพิจารณาแล้ว วัคซีนโควิด-19 วัคซีนที่จะนำมาฉีดในบ้านเราเป็นวัคซีนเปรียบเสมือนเชื้อตายทั้ง 2 ตัว คือ Sinovac และไวรัสเวกเตอร์ AstraZeneca ที่ไม่สามารถแบ่งตัวได้ เมื่อเป็นวัคซีนใหม่ยังไม่มีข้อมูลในสตรีตั้งครรภ์ ก็จะไม่แนะนำให้ในสตรีตั้งครรภ์
เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ก็ไม่ควรฉีด หรือระหว่างการฉีดวัคซีนอยู่ ถ้ารู้ว่าตั้งครรภ์ เข็ม 2 ก็เลื่อนออกไปเป็นหลังคลอด
อย่างไรก็ตาม ในสตรีตั้งครรภ์มีความเสี่ยงในการติดโรคสูง เพราะรู้ว่าถ้าเป็นโรค ความรุนแรงของโรคโควิด-19 จะรุนแรง และอาจจะมีโอกาสสูญเสียทารก หรือการคลอดก่อนกำหนด โดยเฉพาะถ้าเป็นในระยะท้ายของการตั้งครรภ์ ดังนั้น ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่จำเป็นจะต้องดูแลผู้ป่วยหรืออยู่ด่านหน้า อาจจะต้องมาพิจารณาถึงผลได้จากวัคซีน และผลเสียที่เกิดจากการติดโรคหรือป่วยเป็นโรค แล้วมาตัดสินใจร่วมกันในการป้องกันโรค โดยเฉพาะการให้วัคซีน
ศบค.เสนอปรับปรุงตลาดทั่วประเทศให้ถูกสุขลักษณะ
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยสถานการณ์การติดเชื้อวิด-19 ที่จังหวัดปทุมธานี วันนี้ (19 ก.พ.64) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 22 คน แบ่งเป็น จากการคัดกรองเชิงรุก 22 คน และจากการไปตรวจที่ รพ.10 คน
สำหรับการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ตลาดพรพัฒน์ ตรวจหาเชื้อไปแล้ว 5,743 คน พบติดเชื้อ 355 คน ตรวจเชิงรุกพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ชุมชน,ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท,ตลาดชาญนคร และตลาดคลองสี่เมืองใหม่ ตรวจหาเชื้อแล้ว 1,781 คน พบติดเชื้อ 5 คน (ตลาดสี่มุมเมือง ติดเชื้อ 4 คน , ตลาดไท พบผู้ติดเชื้อ 1 คน) โดยทีมสาธารณสุขตั้งเป้าจะตรวจค้นหาเชิงรุกให้ได้อย่างน้อย 10,000 คน
จากการวิเคราะห์ปัจจัยความเสี่ยงในการติดเชื้อ พบว่า สภาพของตลาดพรพัฒน์และตลาดทุกแห่งที่ไปตรวจสอบ พบว่าไม่มีการระบายอากาศ เพราะอาคารของตลาดเป็นลักษณะคล้ายฝาชีครอบอาหาร คือเป็นโดมเตี้ยๆ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่การระบายอากาศไม่เพียงพอ อีกปัจจัยคือ ผู้ค้า ลูกจ้างและแรงงานในตลาดมีการเดินทางไปมาหลายตลาด จึงอาจเกิดการแพร่กระจายจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่ไปจับจ่ายใช้สอยที่ตลาด เพราะพฤติกรรมของคนซื้อจะตื่นตัว สวมหน้ากากอนามัยและไปตลาดแค่ระยะเวลาสั้นๆ แต่ผู้ค้าและแรงงานต้องอยู่ในตลาดเวลานาน อาจมีการกินอาหารร่วมกัน และแพร่เชื้อได้ง่าย
หลังจากนี้ ศบค.และกระทรวงสาธารณสุข เตรียมจะเสนอแผนการพัฒนาตลาดให้ได้มาตรฐาน เพราะโควิด-19 ยังคงอยู่ต่อไปอีกสักพัก รวมทั้งอาจมีโรคติดต่ออื่นๆอีก เบื้องต้น คาดว่า จะมีการเสนอให้ปรับโครงสร้างตลาดให้มีการระบายอากาศได้ดีกว่าเดิม การดูแลทำความสะอาดพื้นและแผงค้า การเว้นระยะห่างระหว่างแผงค้าและการดูแลจำนวนคนในตลาดไม่ให้แออัดจนเกินไป การขึ้นทะเบียนผู้ค้าหรือแรงงานในตลาด เพื่อให้ภาครัฐและท้องถิ่นสามารถตรวจสุขภาพของผู้ค้าและแรงงานได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะไปศึกษาในรายละเอียดอีกครั้ง
ญี่ปุ่น พบผู้ป่วยโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์มากกว่า 90 คน
นายคัตสึโนบุ คาโตะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรายงานผลการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่นจำนวน 91 คนเป็นผู้ติดเชื้อชนิดกลายพันธุ์ (E484K) ซึ่งมีความแตกต่างไปจากชนิดที่พบในสหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ และบราซิล โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคคันโต ที่อยู่ทางตะวันออก แต่มีอยู่ 2 คนที่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 ในการตรวจที่สนามบิน จึงถูกแยกกักตัวเพื่อรับการรักษา และผลการทดสอบในเวลาต่อมาชี้ว่าเป็นเชื้อชนิดกลายพันธุ์
นายคาโตะ กล่าวว่า ไวรัสโควิด-19 ชนิดใหม่ที่พบเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งจะต้องมีการศึกษาต่อไป ขณะนี้ ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ บราซิล จำนวน 151 คนจากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 400,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 7,194 ราย