'ตาบอดคลำช้าง'สธ.แถลงโต้ฝ่ายค้าน ไม่อัพเดทข้อมูล แจงยิบ วิธีจัดหาและกระจายวัคซีน

17 กุมภาพันธ์ 2564, 16:30น.


          กรณีที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยอภิปรายไปถึงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่าล่าช้า เลือกใช้วัคซีนเพียงเจ้าเดียว คือ แอสตราเซเนกา ทำให้ทีมสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีน ต้องแถลงตอบโต้ชี้แจงถึงประเด็นที่ถูกพาดพิงถึง ที่อาคารรัฐสภา


 




 


          นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่า ขณะนี้ประเทศไทย มีวัคซีนอยู่ในมือที่จะได้แน่นอนแล้ว จำนวน 63 ล้านโดส โดยจะทยอยจัดส่งวัคซีนเข้ามาตามระยะที่วางแผนไว้ และจะฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2564 โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันระดับประเทศ เพื่อให้สามารถเปิดประเทศ และเศรษฐกิจเดินหน้าได้อย่างเป็นปกติ  โดยแผนที่จัดทำไว้ คือ 


ระยะที่ 1 เมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด คือ ช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค.2564 จะเป็นการฉีดให้กับกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และผู้สูงอายุ คาดว่าจะฉีดได้ประมาณ 2,000,000 โดส 


ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอ คือ ช่วงเดือน มิ.ย.-ธ.ค.2564 ตั้งเป้าฉีดในประชากรในประเทศ 61 ล้านโดส  โดยคนไทยทุกคนที่อยู่ในเกณฑ์ จะได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมตามความสมัครใจ 


 




 




 




 


           ส่วนการได้มาของวัคซีนที่จะนำมาฉีดให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่า ทีมสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มต้นวางแผนจัดหาวัคซีนมาตั้งแต่เดือน เม.ย.2563  โดยแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ


1. การสนับสนุนงานวิจัยในประเทศ 


2. การแสวงหาความร่วมมือในการวิจัยร่วมกับต่างประเทศ


3. ติดตามการผลิตวัคซีนในต่างประเทศ เพื่อเลือกวัคซีนที่เหมาะสมกับประเทศไทย 


          นพ.นคร ระบุว่า เมื่อการพัฒนาวัคซีนไปสู่การทดลองในคน ช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค.2563 พบว่าการพัฒนาวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) และชนิดไวรัลเวคเตอร์ มีความก้าวหน้าที่ใกล้เคียงกัน ไทยจึงเริ่มแสวงหาความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติหลายประเทศ โดยมีเป้าหมาย คือ รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต เพื่อตอบโจทย์ควบคุมการระบาดในปัจจุบันและในอนาคต  โดยในเดือน ก.ค.-ส.ค.2563 บริษัทแอสตราเซเนกา ได้พิจารณาหาผู้ร่วมผลิตวัคซีน มีบริษัทผู้ผลิตจาก 60 บริษัท 60 ประเทศ เสนอตัวร่วมผลิต แต่แอสตราเซเนกา คัดเลือกเพียง 25 บริษัท หนึ่งในนั้นคือบริษัทสยามไบโอไซแอนซ์ ของไทย ที่แอสตราเซเนกา มาตรวจสอบแล้ว พบว่ามีศักยภาพ ได้มาตรฐานสากล รัฐบาลจึงสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงบางส่วน เพื่อให้พร้อมรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เร็วที่สุด ซึ่งล่าสุดนั้น การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วเมื่อเดือน ต.ค.2563  โดยมีเงื่อนไขร่วมกันว่า จะร่วมกันผลิตวัคซีนให้กับภูมิภาคอาเซียน  และไทยอ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ที่มีคำแนะนำว่า วัคซีนแอสตราเซเนกา สามารถใช้กับผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไปได้ 


 




 


          ส่วนที่มีการอภิปรายว่าไทยไม่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) นพ.นคร ยืนยันว่า ขณะนี้ไทยก็ยังเดินหน้าเจรจา หากได้เงื่อนไขที่เหมาะสมกับไทย แต่วัคซีนที่จะส่งมอบในโครงการโคแวกซ์นั้น ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนจากแอสตราเซเนกา เพราะบริษัทไฟเซอร์เพิ่งเข้าร่วมโคแวกซ์เมื่อเดือน ม.ค.64 ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่ไทยจะต้องร่วมโคแวกซ์ เพื่อรับวัคซีนจากบริษัทที่เราจะได้รับและสามารถผลิตได้ในประเทศอยู่แล้ว  นอกจากนี้ การจองซื้อวัคซีนในโคแวกซ์ เงินที่จ่ายไป เป็นเพียงค่าบริหารจัดการ ไม่ใช่ค่าวัคซีน  เพราะราคาวัคซีนจะถูกกำหนดต่อเมื่อทราบว่าจะได้วัคซีนของบริษัทใด และผู้ผลิตจะเป็นผู้กำหนดราคาอีกครั้ง 


           ส่วนกรณีที่มีการอภิปรายว่า บริษัทผลิตวัคซีนของอินเดียมาเสนอขายวัคซีนให้ไทย แต่ไทยไม่ซื้อ นพ.นคร ระบุว่า เป็นข่าวเท็จ เพราะความจริง คือ ไม่มีการเสนอขายวัคซีนจากอินเดีย  แต่ไทยมีความร่วมมือในการวิจัยวัคซีนร่วมกับบริษัทหนึ่งของอินเดีย  ซึ่งเป็นคนละบริษัทที่เป็นข่าว ดังนั้นเมื่อมีการนำข้อมูลจากโซเชียลมีเดียที่ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ก็ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและข้อมูลสับสน เช่นเดียวกับประเด็นราคาวัคซีนที่มีเสียงวิจารณ์ว่าไทยได้ในราคาที่แพงกว่าที่อื่น ความจริงคือ ราคาวัคซีนของแอสตราเซเนกาที่กลุ่มประเทศอียูได้ไป ไม่รวมกับเงินที่อียูให้การสนับสนุนการวิจัยไปก่อนหน้านี้ ส่วนสหรัฐฯ ที่ได้ในราคา 4 เหรียญ ความจริงคือ สหรัฐฯ ให้เงินสนับสนุนการวิจัยไปแล้ว 36,000 ล้านบาท ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.63 ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นการลงทุนบนความเสี่ยงที่ไม่มีประเทศไหนทำ  


          นอกจากนี้ การผลิตวัคซีนในแต่ละแหล่งผลิต และในแต่ละช่วงเวลา จะมีต้นทุนวัตถุดิบที่แตกต่างกัน ราคาจึงแตกต่างกันไป ประเทศไทย มีคณะกรรมการตรวจสอบการจัดซื้อวัคซีนให้โปร่งใส มีการพิจารณาเงื่อนไขต่างๆอย่างรอบคอบ เอกสารสัญญาต่างๆ มีการส่งให้หน่วยงานด้านกฎหมายระดับประเทศหลายหน่วยงานตรวจสอบก่อน จึงมั่นใจได้ว่า การจัดซื้อวัคซีนเป็นไปอย่างถูกต้อง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และความปลอดภัยของคนไทย 


          ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ย้ำว่า ข้อมูลด้านวัคซีนมีความซับซ้อนและมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา การหยิบจับข้อมูลเพียงบางส่วนมาอภิปราย ทำให้เหมือน "ตาบอดคลำช้าง" คือรู้แค่บางส่วน และบางข้อมูลก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว 


 




 


          ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  อธิบายถึงนโยบายการกระจายวัคซีน คือ 


1.ลดอัตราการป่วยและตาย  คือ ให้วัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว


2.ปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ กลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์ 


3.เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มเป้าหมาย คือ แรงงานในภาคธุรกิจบริการ อุตสาหกรรมและประชาชน (แรงงานต่างชาติเจ้าของกิจการต้องร่วมจ่ายค่าวัคซีน) 


 




 


          หลังการฉีดวัคซีน ยังมีระบบการติดตามสังเกตอาการ โดยทันทีที่ฉีด จะสังเกตอาการ 30 นาที จากนั้นให้กลับบ้านเฝ้าระวังต่ออีก 1 เดือน เพื่อบันทึกว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ ตามระบบมาตรฐานสากล และระบบการชดเชยในกรณีมีการแพ้หรือเสียชีวิต  ส่วนภูมิภาค จะกระจายวัคซีนโดยใช้กลไกของคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละจังหวัด โดยมีเป้าหมาย คือ ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันในประเทศ  และเนื่องจากการพัฒนาวัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แผนการให้วัคซีนจึงจะมีความยืดหยุ่น เช่น อาจฉีดได้เร็วขึ้นกว่าที่วางแผนไว้ 


 




 




หนังสือจากบริษัทแอสตราเซเนกา : ข้อมูล กระทรวงสาธารณสุข


 


          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าวตอบโต้ฝ่ายค้าน ประเด็นการจัดซื้อวัคซีน ภายในอาคารรัฐสภา ห้อง 203 นั้น นายวิโรจน์ ได้มาสังเกตการณ์ และจดข้อมูล ถึงภายในห้องที่ใช้แถลงข่าวด้วย


 
ข่าวทั้งหมด

X