ฉีดวัคซีน ซิโนแวค ให้บุคลากรสาธารณสุข และปชช.กลุ่มเสี่ยง อายุ 18-59 ปี
การเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ระยะแรก นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ระบบการฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลราชวิถี จะเป็นแนวทางให้โรงพยาบาลต่างๆ นำไปปรับ โดยได้ซักซ้อมการฉีดวัคซีน 8 ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ ทำบัตร ชั่งน้ำหนัก ซักประวัติ รอฉีด เข้ารับการฉีด พักรอดูอาการ 30 นาที ตรวจสอบก่อนกลับ แสดงผลในไลน์ “หมอพร้อม” รวมแล้วใช้เวลาไม่เกิน 40 นาที โรงพยาบาลราชวิถี สามารถรองรับการฉีดวัคซีนได้วันละ 500 คน สำหรับจุดนั่งพักหลังการฉีด จัดให้อยู่ใกล้ห้องฉุกเฉิน หากมีปัญหาขึ้นก็จะได้ช่วยเหลือได้ทันที นอกจากนี้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หารือกันว่า อาจจัดจุดฉีดวัคซีนที่มีพื้นที่กว้างขวางไว้รองรับคนที่มาฉีดนับพันคนได้ เช่น สนามกีฬา ศูนย์การค้า โรงละคร ซึ่งต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิต รถฉุกเฉินต่างๆ ให้พร้อม
-ในเขตกรุงเทพฯ กรมการแพทย์จะประสานกับคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ทำหน้าที่รวบรวมจำนวนประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายแรกที่จะได้รับการฉีดวัคซีนล็อตแรก จำนวน 200,000 แสนโดส ของซิโนแวค โดยเป็นบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่สมัครใจประมาณ 32,000 คน ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยง อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล และจากการหารือเบื้องต้นกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คาดว่า พื้นที่ กทม.น่าจะได้วัคซีนมา 80,000 โดส อาจจะฉีดในเขตที่เป็นพื้นที่เสี่ยงของ กทม.ก่อน
-ส่วนต่างจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) จะเป็นผู้รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิรับวัคซีน ซึ่งวัคซีนของซิโนแวค กำหนดฉีดให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18-59 ปี
อนุ กก.วัคซีน ขอให้คนอายุ 60 ปี อดใจรอฉีดของแอสตราเซเนกา
นพ.โสภณ เมฆธน ประธานอนุกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 กล่าวว่า เดิมคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาให้วัคซีนโควิด-19 กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ด้วยเพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่เนื่องจากวัคซีนของซิโนแวค มีการทดลองให้วัคซีนกับผู้สูงอายุ อายุ 60 ปี ขึ้นไปจำนวนน้อย ทำให้ไม่รู้ว่าประสิทธิผลและความปลอดภัยในกลุ่มนี้เป็นอย่างไร ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ จึงมีความเห็นร่วมกันว่าในระยะแรกที่นำวัคซีนโควิด-19 จากซิโนแวค เข้ามาไม่ควรฉีดให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป กลุ่มนี้ให้รอฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกา
รพ.สนาม กทม.ส่งผู้ป่วยโควิด-19 รักษาหายกลับบ้านแล้ว 131 คน
โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน จัดแบ่งพื้นที่เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นที่พักสำหรับสังเกตอาการผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย หรือที่เรียกว่า ผู้ป่วยโควิดเขียว และดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้น โดยจัดรูปแบบผู้ป่วยในเป็นกลุ่มเฝ้าระวังโรคโควิด-19
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เริ่มเปิดรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 63 มีผู้ป่วยเข้ารับการดูแล ข้อมูลเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 64 รวมจำนวน 149 คน รักษาหายและกลับบ้านแล้ว 131 คน นำส่งต่อเนื่องจากมีอาการปอดอักเสบจำนวน 7 คน ปัจจุบันยังมีผู้ป่วยรับการดูแลอยู่จำนวน 11 คน ได้เน้นย้ำให้โรงพยาบาลอำนวยความสะดวกและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งดูแลเจ้าหน้าที่และสถานที่ให้มีความปลอดภัย ปลอดเชื้อ และทำความเข้าใจกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ยังเปิดให้บริการแผนกผู้ป่วยนอกตามปกติ โดยประชาชนสามารถเข้ารับการบริการได้โดยไม่ต้องมีข้อกังวลใจเรื่องการแพร่กระจายของเชื้อ เนื่องจากโรงพยาบาลมีการแบ่งพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลสำหรับให้บริการออกจากกันอย่างชัดเจนเพื่อความปลอดภัย
CR:สำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร
สธ. เสนอ 2 เงื่อนไขรับนักท่องเที่ยวคู่ขนานกับการฉีดวัคซีน
มาตรการผ่อนคลายกิจการต่างๆ และการเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว
-วันที่ 22 ก.พ. 64 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชุดใหญ่ พิจารณาผ่อนคลายมาตรการ เบื้องต้นมีพิจารณา 2 รูปแบบ คือ
1.ผ่อนคลายตามลักษณะกิจกรรมต่าง ๆ เฉพาะ เช่น การแข่งขันกีฬาที่มีคนชม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2.การพิจารณาเปลี่ยนสีของพื้นที่
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มพิจารณาขยับสีมากกว่าเพราะถ้าพิจารณาตามลักษณะกิจกรรมอาจจะเกิดการเปรียบเทียบได้ อย่างไรก็ตามในวันที่ 18 ก.พ. 64 จะมีประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อให้ มีข้อสรุปก่อนเสนอเข้าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่พิจารณา
-การเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยว รายงานระบุว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) การประชุมหารือร่วมกับหลายหน่วยงานในสังกัด เช่น กรมควบคุมโรค กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ผู้ประสานงาน ศบค. ผู้พัฒนาไอที และผู้พัฒนาแอปพลิเคชันติดตามนักท่องเที่ยว Go Thailand และ Dr.Link โดยมีข้อสรุปว่าจะนำเสนอมาตรการให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พิจารณา 2 รูปแบบควบคู่ไปพร้อมๆกับนโยบายการฉีดวัคซีน
1.Quarantine at home คือ รูปแบบการกักตัว 14 วันที่ประเทศต้นทาง เมื่อเข้ามาประเทศไทยจะมีการตรวจโควิด-19 อีกครั้ง และกักตัวต่ออีก 2 คืน 3 วันในประเทศไทย
2.รูปแบบ Mobile Quarantine โดยให้ต่างชาติที่เดินทางเข้ามาสามารถท่องเที่ยวได้ตามโปรแกรม โดยมีเจ้าหน้าที่เดินทางไปดูแลนักท่องเที่ยวตามโปรแกรม และมีการใช้ระบบของแอปพลิเคชันในการติดตามตัวคาดว่ากระบวนการพิจารณาน่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค.64 และน่าจะเปิดให้บริการได้ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.64 เป็นต้นไป