ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 12.30 น.วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564

16 กุมภาพันธ์ 2564, 13:32น.


ศบค. ประชุม 22 ก.พ. เตรียมปรับสีแต่ละจังหวัด-ผ่อนคลายกิจกรรม



           สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในวันนี้ที่ต้องติดตามคือ กลุ่มที่ติดภายในหอพักจุฬานิวาส และกลุ่มที่อยู่ด้านนอกจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ การติดเชื้อที่ จ. ปทุมธานี




          ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.จะหารือกันในวันที่ 22 ก.พ.64 เพื่อพิจารณาหารือเรื่องการผ่อนคลายในจังหวัดต่างๆ จะมีการศึกษาพิจารณาปรับสีของแต่ละจังหวัด ในเบื้องต้น คณะกรรมการเฉพาะกิจจะหารือกันก่อนในวันที่ 18 ก.พ.64 และนำเสนอขออนุมัติในวันที่ 22 ก.พ.  



ศบค.ชี้การติดเชื้อในจุฬาฯ จุดเสี่ยงติดเชื้ออยู่ที่สแกนนิ้ว-ทำงาน-กินข้าวด้วยกัน



          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน  โฆษก ศบค. กล่าวถึง กรณีการติดเชื้อภายในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อแล้ว 22 คน ผู้ติดเชื้อที่พบรายแรก พนักงานส่งเอกสาร อายุ 56 ปี พักอยู่ที่ชั้น 12 ของอาคารจุฬานิวาส จากนั้นไปแพร่ให้กับญาติที่พักอยู่ในตึกดังกล่าวชั้นเดียวกัน รวมทั้งยังแพร่ไปยังแม่บ้าน พนักงานทำความสะอาด เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.)  ที่พักอยู่ชั้นเดียวกันรวม 7 คน  ซึ่ง รปภ.ที่ติดเชื้อจากการระบาดในวงแรก ก็แพร่เชื้อไปยังเพื่อน รปภ.ที่ทำงานด้วยกัน รับประทานอาหารร่วมกัน จากนั้นกลุ่มก้อนการระบาดวงที่สอง ก็แพร่ไปยังครอบครัว ญาติ และเพื่อนร่วมงานที่อยู่ภายนอก  



          จากกรณีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนที่จุฬาฯ พบว่า ปัจจัยการระบาดที่สำคัญ คือ การพักอาศัยอยู่ในที่เดียวกัน  ทำงานร่วมกัน ทานอาหารร่วมกัน การเข้าแถวก่อนทำงานร่วมกันของกลุ่ม รปภ. และที่สำคัญคือ ไปพบเชื้อที่จุดสแกนนิ้วก่อนเข้างานด้วย  ดังนั้นจึงเป็นกรณีศึกษาว่า สถานที่ทำงานที่มีพนักงานต้องทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การสแกนนิ้ว หรือการนั่งรับประทานอาหารด้วยกัน จะต้องเพิ่มความเข้มงวดระมัดระวัง 




           ส่วนพื้นที่อื่นๆ เช่นที่ จ.สมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อ  16 คน เป็นการเดินเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนมากเป็นชาวเมียนมา มากกว่าคนไทย พบผู้ติดเชื้อมี ด.ญ.วัย 14 ปี ชาวเมียนมา รวมอยู่ในผู้ป่วยรายใหม่ด้วย  



           จ.ปทุมธานี พบผู้ติดเชื้อ 48 คน  โดยเป็นผู้ติดเชื้อที่พบจากการคัดกรองเชิงรุก 47 คน และผู้ติดเชื้อจากการไปตรวจที่โรงพยาบาล 1 คน เป็นนักศึกษาชาย อายุ 21 ปี เป็นผู้ป่วยแบบมีอาการและเข้ารักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติแล้ว จากการคัดกรองเชิงรุกพบคนไทยที่ติดเชื้อมากกว่าต่างชาติ ดังนั้นต้องหันกลับมาดูแลสุขลักษณะส่วนตัว



‘หมอยง’ ชี้วัคซีนของรัสเซียจะใช้สองเข็มต่างกัน  



          คุณสมบัติของวัคซีน เพื่อใช้ในการป้องกันโควิด-19  ล่าสุด ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับโควิด-19 วัคซีนไวรัสเวคเตอร์ (Vector)  ระบุว่า ในขณะนี้วัคซีนชนิด Virus Vector มีอยู่ 4 ขนานเป็นของอังกฤษ Oxford AstraZeneca ,ของสหรัฐอเมริกา Johnson & Johnson, ของรัสเซียที่มีชื่อว่า Sputnik V และของจีน Cansino  ที่มีข้อมูลมากและพอจะเปรียบเทียบกันได้ในลักษณะรูปแบบและการให้วัคซีน นำมาเปรียบเทียบให้เห็น 3 ชนิดดังแสดงในรูป ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้ง 3 ชนิดที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารชั้นนำของโลก



         หลักการให้วัคซีนของรัสเซียจะใช้ Vector เข็มแรกและเข็มที่ 2 ต่างกัน เพราะกลัวว่าภูมิต้านทานต่อตัวไวรัสเวกเตอร์ที่เกิดจากการฉีดเข็มที่ 1 จะไปรบกวนทำลาย ไวรัสเวกเตอร์ในเข็มที่ 2 ทำให้วัคซีนของรัสเซียมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง วัคซีนทั้ง 3 ชนิดถ้าเราหาได้ ก็น่าจะยินดีทั้งหมด



ปท.ที่เข้าร่วมโครงการ COVAX จะได้รับวัคซีนจากแอสตราเซเนกา



          นพ.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก(WHO)แถลงที่สำนักงานใหญ่ WHO ในนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ว่า WHO อนุญาตให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกใช้วัคซีน 2 ตัวจากบริษัทแอสตราเซเนกา ผู้วิจัยวัคซีนอังกฤษ-สวีเดน สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 ในกรณีฉุกเฉิน



-ตัวแรกเป็นผลจากการวิจัยระหว่าง แอสตราเซเนกากับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดของอังกฤษ



-วัคซีนตัวที่สอง เป็นผลจากการวิจัยระหว่าง แอสตราเซเนกา บริษัทเอสเค ไบโอไซแอนซ์ของเกาหลีใต้ และสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย



          วัคซีนทั้งสองตัวมีกรรมวิธีการผลิตเหมือนกัน ต่างเพียงทีมวิจัยและโรงงานผลิต



          การที่ WHO รับรองวัคซีนทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญสำหรับวัคซีนที่จะถูกส่งมอบให้กับ 184 ประเทศที่เข้าร่วมโครงการกระจายวัคซีนไปยังกลุ่มประเทศที่มีรายต่ำถึงปานกลางหรือ COVAX ของ WHO ทั้งจะผลักดันให้ประเทศสมาชิก WHO เร่งรัดขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติวัคซีนให้เร็วยิ่งขึ้น



          นับเป็นวัคซีนตัวที่ 2 และตัวที่ 3 ที่ WHO อนุมัติให้ใช้ป้องกันโรคโควิด-19 ต่อจากวัคซีนตัวแรกจากบริษัทไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค จากสหรัฐฯ-เยอรมนี ซึ่ง WHO อนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.63



ญี่ปุ่น-มาเลย์ จะเริ่มฉีดวัคซีนจากไฟเซอร์ ให้กลุ่มแพทย์ก่อน 



         2 ชาติที่จะเริ่มฉีดวัคซีนในสัปดาห์นี้ ในระยะเวลาใกล้ๆกัน และใช้วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ /ไบโอเอ็นเทค



ประเทศญี่ปุ่น :  เริ่มฉีดวัคซีนวันพรุ่งนี้ 17 ก.พ. 64 นายโยชิฮิเดะ สึกะ นายกฯ ญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะเริ่มฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรกประมาณ 20,000 คน ในกรุงโตเกียว ก่อนที่จะขยายไปในพื้นที่อื่นๆ หลังจากที่เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว 13 ก.พ.64  ได้รับวัคซีนล็อตแรก จากบริษัทไฟเซอร์ จำนวน 400,000 โดส  หลังจากนั้น เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 ก.พ.64 กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ได้อนุมัติวัคซีนตัวแรกของประเทศอย่างเป็นทางการเพื่อฉีดให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปนอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดให้มีตู้แช่แข็งประมาณ 20,000 ตู้ทั่วประเทศ เนื่องจากวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค จะต้องเก็บในอุณหภูมิ -75 องศาเซลเซียส



ประเทศมาเลเซีย : นายมุฮ์ยิดดิน ยัซซิน นายกฯ มาเลเซีย เปิดเผยว่า มาเลเซีย จะได้รับวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ล็อตแรกที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค ในวันที่ 21 ก.พ. 64  และจะเริ่มโครงการจัดฉีดวัคซีนในวันที่ 26 ก.พ.64 โดยนายกฯ จะเป็นคนแรกที่ได้รับวัคซีน



          มาเลเซีย ตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด 32 ล้านคนภายในหนึ่งปี โดยรัฐบาลได้สั่งซื้อวัคซีนในปริมาณมากกว่าเป้าหมาย ซึ่งนอกจากบริษัทไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคแล้ว ยังได้ตกลงกับแอสตราเซเนกา (AstraZeneca), สถาบันกามาเลยาของรัสเซีย ผู้พัฒนาวัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V), ซิโนแวค (Sinovac) และแคนซิโน (CanSino) ของจีน



         นายกฯ มาเลเซีย กล่าวว่า โครงการฉีดวัคซีนในช่วงเดือน ก.พ. ถึง เม.ย.64 จะเริ่มฉีดให้แก่บุคลากรด่านหน้า 500,000 คน ตามด้วยคนที่มีความเสี่ยงสูงอีก 9,400,000 คน ที่จะได้รับวัคซีนในช่วงเดือนเม.ย. ถึง ส.ค.64 สำหรับระยะสุดท้ายจะฉีดให้แก่ผู้ที่มีอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไปกว่า 16 ล้านคน โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. 64 ถึง ก.พ. 65 นอกจากนี้ จะขยายโครงการฉีดวัคซีนให้แก่ชาวต่างชาติทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย

         มาเลเซียมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการแพร่ระบาดระลอกใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยล่าสุดมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันในประเทศกว่า 260,000 คน สูงเป็นอันดับที่สามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 975 ราย



ผบ.ตร ขึ้นเหนือ แถลงข่าวจับกุมเฮโรอีนและยาบ้าล็อตใหญ่ที่สุดที่เคยจับได้



         ช่วงก่อนเที่ยงวันนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เดินทางไปติดตามการจับกุมยาเสพติดล็อตใหญ่ในพื้นที่ จ. เชียงใหม่ พร้อมแถลงข่าวร่วมกับ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 (ผบช.ภ.5)  หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 สามารถจับกุมยาเสพติดรายใหญ่ จำนวน 2 คดี ยึด เฮโรอีน 1,400 แท่ง จำนวน 18 กระสอบ น้ำหนักประมาณ 551 กก. ที่ด่านตรวจห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 64 และจับยาบ้า 8,000,000 เม็ดใช้รถบรรทุก 10 ล้อ 2 คัน ลำเลียงจากชายแดน เข้าสู่ตัวเมืองชั้นใน โดยใช้กระสอบถ่าน ปิดบังเอาไว้ข้างบน การจับกุมยาเสพติดในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการจับยาเสพติดมากสุดในประเทศที่เคยจับได้ ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่กำลังอยู่ในระหว่างการลำเลียงของกลางยาเสพติดมาแถลงข่าวที่บริเวณใต้อาคารกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 5 อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่



 

ข่าวทั้งหมด

X