ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30น.วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564

16 กุมภาพันธ์ 2564, 09:24น.


ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ‘เราชนะ’ รับลงทะเบียนถึงบ้าน



          เพจไทยคู่ฟ้า โพสต์ข้อความ การอำนวยความสะดวกในโครงการเราชนะ ระบุว่า เปิดรับลงทะเบียนด้วย บัตรประชาชน สำหรับคนไม่มีอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ในวันที่ 15 ก.พ.-5 มี.ค.64 ที่ธนาคารกรุงไทย



-สำหรับ ผู้พิการ ผู้ป่วย และผู้สูงอายุ ที่เดินทางไม่ได้ จะมีอาสาสมัครระดับหมู่บ้าน และหน่วยเคลื่อนที่ของ ธนาคารกรุงไทย ไปรับลงทะเบียนถึงบ้าน



-กรณีผู้พิการที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ผู้ดูแล หรือ คนในครอบครัว ช่วยลงทะเบียนให้ได้



ผู้ที่ได้รับสิทธิจากโครงการสามารถซื้อของได้โดยให้ร้านค้าใช้แอปพลิเคชันถุงเงิน สแกนบัตรประชาชนของผู้ซื้อ วงเงินจะเข้าบัตรประชาชนเป็นรายสัปดาห์ งวดแรก ได้วันที่ 5 มี.ค. 64 และทยอยได้จนครบ 7,000 บาท



CR:ไทยคู่ฟ้า 



กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ลงทะเบียนวันแรก 112,981 คน



          การขยายระยะเวลาในการลงทะเบียนให้กลุ่มที่ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ขยายระยะเวลาปิดรับลงทะเบียนจากเดิมวันที่ 25 ก.พ.64 เป็นวันที่ 5 มี.ค. 64 สามารถติดต่อลงทะเบียนได้ที่สาขาธนาคาร 1,023 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงจุดบริการพิเศษจำนวน 871 จุดทั่วประเทศ สามารถตรวจสอบจุดบริการได้ที่ www.krungthai.com หรือสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้เข้าร่วมโครงการเราชนะที่เบอร์โทรศัพท์ 02-111-1144



          การลงทะเบียน จะต้องนำบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด (Smart Card) ไปติดต่อขอลงทะเบียนได้ที่สาขาหรือจุดบริการเคลื่อนที่ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนโดยการเสียบบัตรประจำตัวประชาชน (Dip Chip) ผ่านเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture หรือ EDC) พร้อมกำหนดรหัส (PIN Code) ไม่สามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ เนื่องจาก จะต้องมีการเก็บข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตน (Verification) เป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทะเบียนเอง และป้องกันไม่ให้มีการสวมสิทธิ



         กระทรวงการคลัง ประสานกระทรวงมหาดไทย อำนวยความสะดวกให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวเพิ่มเติม โดยประชาสัมพันธ์ไปยังหมู่บ้านและอำเภอต่างๆ เพื่อสำรวจจำนวนประชาชนที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวที่ต้องการสมัครเข้าร่วมโครงการและประสานไปยังธนาคารกรุงไทยให้จัดจุดบริการเคลื่อนที่เพิ่มเติม รวมถึงเพิ่มบริการจัดทำบัตรประชาชนแบบ Smart Card แก่ประชาชนที่มีบัตรประชาชนรูปแบบเก่า รวมถึงบัตรประชาชนชำรุด เพื่อให้สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้



         ธนาคารกรุงไทย สรุปว่า การลงทะเบียนวันแรกสำเร็จแล้ว 112,981 คน ยอมรับว่า วางแผนบริหารจัดการได้ยาก เพราะไม่มีข้อมูลว่าประชาชนกลุ่มนี้มีจำนวนเท่าใด และอยู่ในพื้นที่ไหนบ้าง ธนาคารเตรียมปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อให้การบริการลงทะเบียนสะดวกรวดเร็วขึ้น



สศช.เสนอ 9 แนวทางบริหารศก.ปีนี้ หลังศก.ปี 63 ต่ำสุดในรอบ 22 ปี   



          สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 63 และคาดการณ์จีดีพี ปี 64 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาฯสศช.เปิดเผยว่า ตัวเลขจีดีพี ปี 63 หดตัวติดลบกว่าร้อยละ 6.1 ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 22 ปี ตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง สาเหตุหลักมาจากผลกระทบโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจภายในประเทศ 



          แนวโน้มเศรษฐกิจปี 64 คาดว่า ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5-3.5 มีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 3 เป็นการปรับตัวลดลงจากคาดการณ์เดิม ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5-4.5



ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญในปี 64 ได้แก่



-แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก เกิดขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ที่มีการใช้มาตรการกระตุ้นการเงินการคลังเข้ามาในวงเงินค่อนข้างสูง



-การอนุมัติกระจายวัคซีนต้านไวรัสของประเทศเศรษฐกิจหลักที่เร็วกว่าคาด ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ปรับตัวลดลง



-แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2564



ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปี 64



-การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ



-ประสิทธิภาพในการกระจายวัคซีนต้านไวรัส



-สถานการณ์ภัยแล้ง รวมถึง มีแผนในการบริหารการเพาะปลูก เพื่อวางแผนการผลิตที่ชัดเจนมากขึ้น



-หนี้ครัวเรือน ภาคธุรกิจ และแรงงานที่ยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะภาคธุรกิจยังมีข้อจำกัดในเรื่องการฟื้นตัวจากเรื่องสภาพคล่องและปัญหาหนี้



-ความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจและการเงินโลก จากการเปลี่ยนแปลงนโยบายระหว่างประเทศของประเทศเศรษฐกิจหลัก



-ความร้อนแรงทางการเมืองภายในประเทศ



ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 64 มีทั้งหมด 9 เรื่อง



1.การควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงภายในประเทศ



2.การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ เพราะไทยต้องดึงการลงทุนจากต่างชาติเข้ามา ทำให้การรักษาบรรยากาศการเมืองให้ดีเป็นเรื่องสำคัญ ที่มีผลกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ



3.ข้อจำกัดในการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งการฟื้นตัวยังมีข้อจำกัดจากมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งการพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพิ่มเติม  



4.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ



5.การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า เพื่อสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศ



 6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน



7.การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ



8.การเตรียมมาตรการรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้ง และการดูแลรายได้เกษตรกร



9.การติดตามและเตรียมการรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่อาจส่งผล กระทบต่อเศรษฐกิจไทย ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ



นายกฯ ให้กำลังใจรัฐมนตรี ยิ้มไว้เมื่อภัยมา สู้ศึกอภิปราย



          การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 10 คน ในวันนี้ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) คาดว่า การอภิปรายจะต่อเนื่องจนถึงหลังเที่ยงคืนหรือถึง 02.00 น.ของทุกวัน เว้นวันสุดท้ายวันที่ 19 ก.พ.64จะต้องอภิปรายและสรุปให้แล้วเสร็จจบไม่เกิน 21.00 - 22.00 น.ก่อนที่จะไปลงมติในวันเสาร์ที่ 20ก.พ. 64 ยืนยัน ว่าจะจัดการให้การอภิปรายไม่เกินเวลา 21.00 น. ของวันที่ 19 ก.พ. 64 คงจะต้องทำเป็นข้อตกลงร่วมกันของวิปฝ่ายค้าน



สำหรับ 10 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประกอบด้วย



พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม



พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี



นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข



นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์



พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย



นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม



นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน



นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ



นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย



ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์



          รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แจ้งว่า ในที่ประชุม ครม. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม.ให้ทราบถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ 16-19 ก.พ.64 ว่า ฝ่ายค้านจะอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนแรก โดยใช้เวลาวันครึ่ง จากนั้นจะเป็นนายอนุทิน พล.อ.ประยุทธ์ พูดว่า ให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการชี้แจงของรัฐบาลมากที่สุด และยังได้ให้กำลังใจรัฐมนตรีคนอื่นๆ ว่า ไม่ต้องเครียด ยิ้มไว้เมื่อภัยมา ในส่วนตัวเองจะอดทนฟังอย่างใจเย็น เพราะเป็นคนจุดเดือดต่ำ จะสงบนิ่งที่สุด พูดน้อยที่สุด ให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องชี้แจง ให้ดูจังหวะให้ดี ขอความร่วมมือทุกคนทำทั้งการบ้านและการเมือง การเมือง คือ ดูแลประชาชนให้ดี จะพิจารณาเป็นรายพรรคถ้ามีปัญหา



 

ข่าวทั้งหมด

X