แพทย์ ย้ำโควิด-19ระบาดในไทย ยังเป็นสายพันธุ์จากเมียนมา เตือนเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ในไทย

15 กุมภาพันธ์ 2564, 15:50น.


          รศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังเฝ้าระวังไวรัสโควิด-19  3 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์  ได้แก่ 


1.สายพันธุ์ B.1.1.7 เป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอย่างหนักในประเทศอังกฤษ รวมทั้งแพร่ระบาดไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นการกลายพันธุ์ที่ทำให้ไวรัสสามารถจับกับผิวเซลล์ของมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น แบ่งตัวได้ดีขึ้น จึงทำให้มีเชื้อไวรัสในโพรงจมูกมาก ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น รวมทั้งอาจจะสัมพันธ์กับอาการป่วยและเสียชีวิตที่มากกว่าไวรัสสายพันธุ์ปกติเล็กน้อย 


2.สายพันธุ์  B.1.351 เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่ระบาดในแอฟริกาและเซาท์แอฟริกา ไวรัสที่กลายพันธุ์จะสามารถจับกับเซลล์มนุษย์ได้ดี หลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนได้  ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงอย่างเห็นได้ชัด


3.สายพันธุ์ P.1 เป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่ระบาดในบราซิล มีลักษณะคล้ายกับไวรัสกลายพันธุ์ในแอฟริกา 


 




 


          รศ.นพ.โอภาส ระบุว่า ปกติแล้วไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา เมื่อมีการแบ่งตัวในคนจะมีการกลายพันธุ์ไปทีละน้อย  ในการระบาดระลอกแรก มีข้อมูลว่าไวรัสกลายพันธุ์ทุกสองเดือน ส่วนการระบาดระลอกใหม่ยังไม่พบว่ามีการกลายพันธุ์ และสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทย ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่มาจากเมียนมา  แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ หากไทยยังไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ ในอนาคต ไวรัสตัวนี้อาจมีโอกาสกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ในประเทศไทยเอง อาจทำให้คุณสมบัติของไวรัสเปลี่ยนไป ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดขณะนี้ คือ ยับยั้งไม่ให้เกิดการระบาด ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และการฉีดวัคซีน 


          สำหรับการจับตาไวรัสกลายพันธุ์ 3 สายพันธุ์จากต่างประเทศ พบว่า มีคุณสมบัติที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเดิม โดยในส่วนของสายพันธุ์ที่ระบาดในอังกฤษ พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเพิ่มอัตราการป่วยและการเสียชีวิตที่มากขึ้น  ส่วนสายพันธุ์แอฟริกา มีผลทำให้การตอบสนองต่อวัคซีนเกือบทุกประเภทลดลง 


           ส่วนการตรวจคัดกรองของระบบสาธารณสุขไทย ขณะนี้สามารถคัดกรองสายพันธุ์อังกฤษได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติและคนไทยที่เดินทางมาจากประเทศอังกฤษและประเทศที่มีการระบาด และอยู่ในสถานที่กักตัว  จึงสามารถดักจับการแพร่กระจายได้ทั้งหมด ขณะที่สายพันธุ์แอฟริกา พบในผู้ป่วยชายที่เดินทางกลับจากแทนซาเนีย เพียงรายเดียว


 




 


          ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค  เปิดเผยว่า ในผู้ป่วยชายที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา ขณะนี้เข้ารับการรักษาแล้ว และมีอาการดีขึ้น ส่วนการค้นหาเชิงรุกในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยง ยังไม่พบการติดเชื้อเพิ่ม แต่ยังไม่สามารถวางใจได้ เนื่องจากไวรัสโควิดสายพันธุ์แอฟริกา ไม่ได้ระบาดแค่ในทวีปแอฟริกาแล้ว แต่ยังแพร่กระจายไปยังยุโรป ซึ่งข้อมูลขณะนี้พบว่า มีการระบาดในเซาท์แอฟริกา อังกฤษ เบลเยี่ยม โมซัมบิก ฝรั่งเศส บอสวานา เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น  จึงต้องเฝ้าระวังคัดกรองในกลุ่มผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศอย่างเข้มข้น


 


 


 


          ส่วนการติดเชื้อภายในประเทศ ในกลุ่มตลาดพรพัฒน์ ที่จังหวัดปทุมธานี วันนี้พบผู้ติดเชื้อ 50 คน แต่แนวโน้มผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ ทางทีมสอบสวนโรคยังไม่วางใจและได้ตรวจค้นหาเชิงรุกไปยังผู้ค้าที่เดินทางข้ามจังหวัดด้วย เช่น ผู้ค้าที่มาจากจังหวัดเพชรบุรี ก็มีการไปตรวจเชิงรุกที่จังหวัดเพชรบุรีด้วย  


          สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีการติดเชื้อในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มา 4 วันแล้ว และมีมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้น เช่นเดียวกับโรงงานที่บางขุนเทียนและภาษีเจริญ ก็มีการคัดแยกผู้ติดเชื้อ กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยง และมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มข้นเช่นกัน 
ข่าวทั้งหมด

X