ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 12.30น.วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564

15 กุมภาพันธ์ 2564, 13:04น.


พนักงานขับรถเมล์ร้อน สาย 34 ติดเชื้อโควิด-19 บ้านพักอยู่บริเวณตลาดสุชาติ ปทุมธานี




        การตรวจคัดกรองเชิงรุกคนในพื้นที่ จ. ปทุมธานี หลังจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อน จากผู้ติดเชื้อ หญิงชาวเมียนมา จากพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และทำให้มีผู้ติดเชื้อกระจายไปอีก 8 จังหวัด ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่เพิ่มอีก 50 คน




         ฝ่ายประชาสัมพันธ์ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ.64 เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ตรวจพนักงานชาย 1 คน ขับรถโดยสารธรรมดา (รถเมล์ร้อน) สาย 34 (ปฏิบัติหน้าที่ขับรถเมล์กะบ่าย) ซึ่งมีที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณตลาดสุชาติ โดยขณะเข้ารับการตรวจ พนักงานไม่ได้มีอาการเจ็บป่วย ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.พ.64 เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้แจ้งผลการตรวจแก่พนักงานขับรถเมล์คนดังกล่าว ว่าได้รับการติดเชื้อ จึงให้ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลำลูกกา จ.ปทุมธานี 



         ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 1-12 ก.พ.64 พนักงานผู้ติดเชื้อไม่ได้มีอาการเจ็บป่วย ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ก.พ.64 พนักงานได้มาปฏิบัติหน้าที่บนรถเมล์ร้อน สาย 34 หมายเลข 1-40063 (ผลการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย อยู่ที่ 36.5 องศาเซลเซียส รวมทั้งมีการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่ และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์) ซึ่งรถออกจากอู่รังสิต เวลา 13.45 น. ถึงหัวลำโพง เวลา 15.00 น. และกลับถึงอู่รังสิต เวลา 19.28 น. ปรากฏว่าพนักงานมีอาการไข้ ปวดหัว และปวดเมื่อยร่างกาย นายท่าจึงให้ไปพบแพทย์ที่คลินิกเรือนแพทย์ และกลับไปพักผ่อนที่บ้าน  



          พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่บนรถเมล์ สาย 34 หมายเลข 1-40063 ในช่วงกะบ่าย ซึ่งเป็นกะสุดท้ายของแต่ละวัน จึงไม่มีพนักงานขับรถคนใดนำรถไปขับต่อ เมื่อพนักงานขับรถนำรถกลับเข้าอู่เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในแต่วัน จะฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถเมล์ทันทีด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70%  จึงมั่นใจได้ว่ารถเมล์ขององค์การมีความสะอาด ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้องค์การได้พักการใช้งานรถเมล์คันดังกล่าว เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อฉีดพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถ รวมถึง อู่จอดรถ และท่าปล่อยรถประจำทาง 



          นอกจากนี้ ขสมก.ได้ตรวจสอบว่าพนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่กับพนักงานเก็บค่าโดยสารคนใดบ้าง ซึ่งขณะนี้ได้ให้พนักงานเก็บค่าโดยสารดังกล่าว หยุดงานไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้ว หากได้ผลเป็นประการใด ขสมก.จะแจ้งให้ทราบต่อไป  



‘หมอธีระ’ ห่วงการระบาดแฝงในชุมชน จากเคส ติดเชื้อที่ปทุมฯ  



         รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก ระบุถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ว่าหากลองเหลียวดู จ.ปทุมธานี พบว่าน่าเป็นห่วง เพราะมีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อวานนี้ ตรวจเชิงรุกไป 684 คน พบว่ามีติดเชื้อ 41 คน คิดเป็นประมาณร้อยละ 6 ถือว่าสูงมากกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเมื่อกลางปีที่แล้วประมาณ 10 เท่า แต่ที่น่าสังเกต คือ ด้วยความชุกของการติดเชื้อที่สูงเช่นนี้ แต่กลับไม่มีการตรวจพบในระบบบริการทางการแพทย์ แปลง่ายๆ คือ ไม่มีคนเดินเข้ามาตรวจเอง



          ปรากฏการณ์ข้างต้น อาจเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะสะท้อนถึงภาวะที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ตระหนักถึงโอกาสที่ตัวเองจะติดเชื้อ บางคนอาจมีอาการคล้ายหวัดแต่ไม่ได้เอะใจ ไม่ได้ไปตรวจรักษา และอาจส่งผลให้เกิดการแพร่เชื้อไปได้เรื่อยๆ ในชุมชน



          ดังนั้น พอเห็นภาพสถานการณ์เช่นนี้ น่าจะถึงเวลาที่รณรงค์ให้ประชาชนทุกคนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ตระหนักถึงการระบาดที่แฝงในชุมชน และขันน็อตการป้องกันตัวเองให้เข้มแข็ง หมั่นสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบายคล้ายหวัด ให้หยุดเรียนหยุดงานและรีบไปตรวจรักษา แคมเปญหน้ากาก 100% จำเป็นต้องทำ



          ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก ตอนนี้อัตราการติดเชื้อรายวันลดลงกว่าเดิม เมื่อเทียบเท่ากับช่วงตุลาคมปีที่แล้ว ประมาณ 1,000,000 คนต่อ 3 วัน เป็นผลมาจากการที่หลายต่อหลายประเทศในยุโรปตัดสินใจล็อกดาวน์ยาวนาน และยังไม่ตัดสินใจคลายล็อก แต่เร่งระดมฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย พอพบเคสติดเชื้อไม่กี่คน ก็ตัดสินใจ hit hard hit early ล็อกดาวน์ระยะสั้นในเมืองนั้น และเร่งตรวจคัดกรอง มาตรการดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดทำให้เห็นภาพการชะลอตัวของการระบาดในภาพรวม ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น จะช่วยลดการระบาดลงไปได้อีก และจะเห็นชัดในเดือนมี.ค.64  



          ตอนนี้มีประเทศที่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วทั้งสิ้น 60 ประเทศทั่วโลก โดยมีประเทศที่ใช้วัคซีน Pfizer/Biontech ไปประมาณ 57 ประเทศทั่วโลก ฉีดไปแล้ว 25.19 ล้านคน Moderna 27 ประเทศ ฉีดไปแล้ว 23.11 ล้านคน รวมแล้วสองชนิดฉีดไปราว 50 ล้านคน จากจำนวนคนที่ได้วัคซีนไปแล้วทั้งสิ้น 87 ล้านคนทั่วโลก ดังนั้นแม้วัคซีนทั้งสองชนิดจะต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิเย็นจัด ก็ไม่น่าจะเป็นอุปสรรค หากวางแผนบริการจัดการไว้ล่วงหน้าได้ดี เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ต่างก็นำไปใช้ เพราะมีสรรพคุณในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการได้สูงสุดในบรรดาทุกวัคซีนที่มีขณะนี้ 



รวบ ‘เจ๊เพชร’ พร้อมพวก ตัวการสำคัญ เครือข่ายใหญ่ที่สุด นำเข้าแรงงานผิดกฎหมาย



         พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) แถลงผลปฏิบัติการกวาดล้างขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาในประเทศไทย ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค.ถึง 11 ก.พ. 64 จับกุมขบวนการหรือเครือข่าย นำแรงงานต่างด้าวมากกว่า 10 เครือข่าย ,จับกุมผู้ลักลอบขนนำพาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 29 ราย,จับกุมผู้ช่วยเหลือซ่อนเร้นแรงงาน 91 ราย,จับกุมแรงงานต่างด้างหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย 396 ราย และยึดรถของกลางได้ 22 คัน



          หนึ่งในเครือข่ายที่สำคัญ คือเครือข่ายของนางราตรี เวชสุวรรณ หรือ “เจ๊เพชร” อายุ 45 ปี ซึ่งเป็นตัวการสำคัญและเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในการนำเข้าและส่งออกแรงงานเมียนมาเข้าสู่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร และเกี่ยวพันต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19



         พฤติการณ์ของ “เจ๊เพชร” ทำหน้าที่เป็นเอเย่นต์ฝั่งไทย ประสานกับเอเย่นต์เมียนมา เมื่อมีแรงงานที่ต้องการเข้าประเทศไทย จะต้องเสียค่าดำเนินการตั้งแต่ 6,000-12,000 บาท และเอเย่นต์ในเมียนมา จะออกเอกสารผ่านแดนให้แรงงาน หรือ Border pass และเข้ามาทางจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อน จังหวัดกาญจนบุรี หรือหากไม่มีเอกสารผ่านแดน ก็ลักลอบเข้ามาทางชายแดนธรรมชาติ จากนั้น “เจ๊เพชร” จะทำหน้าที่จัดหาที่ทำงาน และที่พักให้แรงงาน พร้อมสั่งให้นายเย มิน และกลุ่มนายอองโจ เป็นคนขับรถพาแรงงานไปยังที่พักในจังหวัดกาญจนบุรี และสมุทรสาคร ตามพื้นที่รับผิดชอบ



          เบื้องต้น ตำรวจสามารถจับกุม “เจ๊เพชร” รวมถึงนายเยมินและกลุ่มของนายอองโจ ได้แล้วรวม 4 คน อยู่ระหว่างสอบสวนขยายผลผู้ที่เกี่ยวข้อง



          ส่วนตัว “เจ๊เพชร” ถูกฝากขังอยู่ภายในเรือนจำบางขวาง เนื่องจากพนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นผู้มีอิทธิพลอาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในอนาคต จึงคัดค้านการประกันตัว



โครงการ เราชนะ ทำปุ่มสีชมพู ให้ยกเลิก–สละสิทธิ



          โครงการเราชนะ ที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร อาชีพอิสระ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงกลุ่มที่ได้รับสิทธิคนละครึ่งหรือเราเที่ยวด้วยกัน โดยมีการกำหนดคุณสมบัติไว้ 7 ข้อ และลงทะเบียนสำหรับบางกลุ่มผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com หากผ่านเกณฑ์จะได้รับเงินเยียวยา 7,000 บาท ผ่านบัตรคนจน หรือแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยผู้ลงทะเบียน ต้องไม่เป็นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างชั่วคราวของรัฐ ซึ่งหลังจากโครงการเราชนะได้ตรวจสอบสิทธิที่ผ่านมา พบว่าประชาชนบางส่วนที่ไม่มีคุณสมบัติเราชนะได้รับสิทธิด้วย โดยกลุ่มนี้จะต้องสละสิทธิ ไม่เช่นนั้นจะถูกเรียกเงินคืน



        จากการตรวจสอบจากทาง www.เราชนะ.com พบว่ามีการเปิดให้ประชาชนที่ไม่มีคุณสมบัติในโครงการเราชนะ กดปุ่มสละสิทธิได้แล้ว ซึ่งจะเป็นปุ่มสีชมพู เขียนว่า สละสิทธิ มีขั้นตอนดังนี้ 



1.ประชาชน ที่ประกอบอาชีพ ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างชั่วคราว กดปุ่มสละสิทธิได้แล้ววันนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com.



2.กรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ชื่อ นามสกุล วัน เดือน ปี เกิด 



3.กดปุ่ม ขอสละสิทธิเข้าร่วมโครงการเราชนะ 



4.หากประชาชนกลุ่มดังกล่าว ไม่ยอมทำการสละสิทธิ จะมีการเรียกเก็บเงินคืนในภายหลัง 



 

ข่าวทั้งหมด

X