สถานการณ์พบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ในจังหวัดปทุมธานี ทำให้มีปฏิบัติการตรวจเชิงรุกเพื่อหากลุ่มเสี่ยง ล่าสุด ฝ่ายประชาสัมพันธ์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 9 – 12 ก.พ.2564 เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอธัญบุรี ได้ร่วมกันตรวจหาเชื้อโควิด-19 บริเวณตลาดสุชาติและอาคารพาณิชย์โดยรอบอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
โดยวันที่ 11 ก.พ. 2564 เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ตรวจพนักงานขับรถโดยสารธรรมดา(รถเมล์ร้อน)สาย 34 (ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโดยสารกะบ่าย) เพศชายจำนวน 1 คน ซึ่งมีที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณตลาดสุชาติ ขณะเข้ารับการตรวจ พนักงานไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2564 เวลา 09.00 น. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้แจ้งผลการตรวจแก่พนักงานขับรถโดยสารคนดังกล่าว ว่าได้รับการติดเชื้อ จึงให้ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
ต่อมา เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2564 เวลา 19.00 น. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว จากผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 1 จึงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค คือ
องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการแจ้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งรายละเอียดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) (ตามแนวทางปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อฯ) โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดปทุมธานี
ก่อนหน้านี้ ตั้งแต่วันที่ 1 – 12 ก.พ. 2564 พนักงานผู้ติดเชื้อไม่ได้มีอาการเจ็บป่วย แต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2564 พนักงานได้มาปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 34 หมายเลข 1 - 40063 (ผลการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย อยู่ที่ 36.5 องศาเซลเซียส รวมทั้งมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย ตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่ และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์) ซึ่งรถออกจากอู่รังสิต เวลา 13.45 น. ถึงหัวลำโพง เวลา 15.00 น. และกลับถึงอู่รังสิต เวลา 19.28 น. ปรากฏว่า พนักงาน มีอาการไข้ ปวดหัว และปวดเมื่อยร่างกาย นายท่าจึงให้ไปพบแพทย์ที่คลินิกเรือนแพทย์ และ กลับไปพักผ่อนที่บ้าน
พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 34 หมายเลข 1 – 40063 ในช่วง กะบ่าย ซึ่งเป็นกะสุดท้ายของแต่ละวัน จึงไม่มีพนักงานขับรถคนใดนำรถไปขับต่อ อีกทั้ง เมื่อพนักงานขับรถ นำรถกลับเข้าอู่เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในแต่วัน จะมีการฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารทันที ด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70% จึงมั่นใจได้ว่ารถโดยสารขององค์การ มีความสะอาด ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19)
นอกจากนี้ องค์การได้พักการใช้งานรถโดยสารคันดังกล่าว เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อฉีดพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถ รวมถึง อู่จอดรถ และท่าปล่อยรถโดยสาร
รวมทั้ง ยังได้ตรวจสอบเพิ่มเติมว่า พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่กับพนักงานเก็บค่าโดยสารคนใดบ้าง ขณะนี้ได้ให้พนักงานเก็บค่าโดยสารดังกล่าว หยุดงานไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) แล้ว