พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.เปิดเผยว่า จากการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ตลาดพรพัฒน์ จังหวัดปทุมธานี ทำให้ ศบค.ยังต้องจับตาและติดตามใกล้ชิด โดยจากข้อมูลวันที่ 11 ก.พ.64 กรณีการติดเชื้อในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการคัดกรองผู้สัมผัสใกล้ชิดไปแล้ว 862 คน ยืนยันผลติดเชื้อ 20 คน ส่วนการคัดกรองพื้นที่ตลาดชุมชนรอบๆ จุฬา ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.พ.64 คัดกรองแล้ว 343 คน ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่ยังรอผลตรวจอีกประมาณ 100 คน
ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อกลุ่มก้อนที่ตลาดพรพัฒน์ จังหวัดปทุมธานี พบว่าผู้ป่วยรายแรกของกลุ่มก้อนนี้เป็นหญิงชาวเมียนมา อาชีพผู้ค้าขายในตลาด เริ่มมีอาการเมื่อวันที่ 30 ม.ค.64 จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่ได้รับรส จนกระทั่งวันที่ 6 ก.พ.64 ไปตรวจที่โรงพยาบาลและในวันที่ 7 ก.พ.64 ยืนยันพบว่าติดเชื้อโควิด-19 หลังจากนั้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) , ตลาด , สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด , กรมอนามัย และมูลนิธิศุภนิมิต ลงพื้นที่สอบสวนโรค ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ.64 คัดกรองผู้สัมผัสใกล้ชิด 1,333 คน พบติดเชื้อ 175 คน ซึ่งจากข้อมูลการสอบสวนโรคว่า จำนวนผู้ติดเชื้อมีการกระจายตัวอยู่ในพื้นที่กลางตลาด เจ้าหน้าที่วิเคราะห์แล้วพบว่า แม้เป็นตลาดเปิด แต่พื้นที่ส่วนกลางมีเพดานต่ำ อากาศไม่ค่อยถ่ายเท ผู้ติดเชื้อให้ข้อมูลด้วยว่า ในช่วงอากาศร้อนก็จะไม่สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งการติดเชื้อที่ตลาดแห่งนี้ ยังทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี สระบุรี นครราชสีมา นครนายก อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ และแพร่


ส่วนการแพร่ระบาดที่จังหวัดตาก ก็ยังเป็นพื้นที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากพบการติดเชื้อในพยาบาล ที่คาดว่าน่าจะติดเชื้อจากผู้ป่วย ซึ่งเมื่อไปติดตามสอบสวนโรคจากผู้ป่วยรายนี้ พบว่าอาศัยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 คน และคนในครอบครัวยังทำอาชีพค้าขายในตลาดสีมอย จึงทำให้ต้องมีการตรจคัดกรองผู้สัมผัสเสี่ยงในตลาด รวมทั้งในชุมชนและสถานที่เลี้ยงไก่ (ไม่ใช่สถานที่ชนไก่) นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังตรวคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยรายนี้ เช่น ในคลังรถจักรยาน และในโรงงานแห่งหนึ่ง ทำให้ขณะนี้จังหวัดตาก มีผู้ป่วยสะสมจากการระบาดรอบใหม่แล้ว 112 คน