แพทยสภาไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง เสนอลงทะเบียนแพทย์อาสา

15 กุมภาพันธ์ 2564, 11:33น.


          ศ.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา อุปนายกแพทยสภาคนที่หนึ่ง แถลงกรณีเกิดความรุนแรงในการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.พ.64 ว่า แพทยสภาไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับทุกฝ่าย  จึงขอแสดงจุดยืน คือ 


1. ขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำที่เป็นการยั่วยุ การละเมิดกฎหมาย และการใช้กำลังที่เกินความเหมาะสมของทุกฝ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้น ส่งผลต่อสุขภาวะของผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในบริเวณ หรือสัญจรผ่านพื้นที่ใกล้เคียง


2. ขอให้ทุกฝ่ายให้เกียรติและระมัดระวังที่จะไม่กระทำให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายใดๆ ต่อบุคลากร และอาสาสมัครทางการแพทย์ ตลอดจนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และรถพยาบาลตามหลักกาชาดสากล


3. ขอหน่วยงานที่รับผิดชอบ จัดให้มีระบบการให้การดูแลทางการแพทย์ที่เหมาะสม มีการติดสัญลักษณ์ที่ระบุว่าเป็นบุคลากรหรืออาสาสมัครทางการแพทย์ที่ชัดเจน เพื่อให้บุคลากรเหล่านี้สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างปลอดภัย ตามหลักสากล ที่สำคัญคือ ไม่เลือกปฏิบัติ ยึดถือความเป็นกลาง มีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพอย่างเคร่งครัด


4. ขอแสดงความชื่นชมต่อบุคลากรและอาสาสมัครทางการแพทย์ทุกท่าน ที่เสียสละและมีจิตอาสาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์การชุมนุมต่างๆ โดยมิได้หวังผลตอบแทนใดๆ


 




          ศ.นพ. ประสิทธิ์  ยังระบุว่า โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า การเป็นอาสาสมัครทางการแพทย์ ต้องเป็นกลางทางวิชาชีพ ไม่เลือกปฎิบัติ ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม และการชุมนุมไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่กรุงเทพฯ แต่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด หลายพื้นที่ ดังนั้นจึงควรต้องมีการคัดกรอง ลงทะเบียนให้ชัดเจน และควรมีการรับรองตราสัญลักษณ์การเป็นแพทย์อาสา  อาสาสมัครสาธารณสุข คือ ต้องใช้สัญลักษณ์กากบาทสีเขียว ไม่ใช่สีแดง เพราะเป็นสีของกาชาด 


          ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อวางระบบให้ชัดเจน มีการเรียนรู้ขั้นตอนการปฐมพยาบาล การกู้ชีพและการเชื่อมโยงระบบส่งต่อ แม้จะเป็นอาสาสมัครก็ต้องมีความรู้เรื่องเหล่านี้ด้วย โดยเบื้องต้นได้หารือกับกระทรวงสาธารณสุขในการขึ้นทะเบียนอาสาสมัครทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ ทั้งประเทศต้องอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะได้พูดคุยเพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในการลงทะเบียนข้อมูลต่างๆ พร้อมย้ำว่า แพทยสภาไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ถ้าเข้ามาเป็นอาสาสมัครทางการแพทย์แล้ว จะต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง และตามหลักการของแพทย์อาสา ก็อยากให้เป็นคนที่สามารถดูแลสุขภาพของประชาชนได้จริง ได้รับการรับรอง ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนด้วย 


           ด้าน นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์  อุปนายกแพทยสภาคนที่สอง ระบุว่า ระบบการดูแลการแพทย์ฉุกเฉินนั้นจะมีการวางระบบเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งในส่วนของกรุงเทพฯ นั้นจะมีทางศูนย์เอราวัณ ร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ดูแลร่วมกับอาสาสมัครกู้ภัย ซึ่งจะมีการแบ่งหน้าที่การทำงานในพื้นที่ และการส่งต่ออย่างเป็นระบบ อยู่ในเซฟโซนป้องกันการปะทะ มีสัญลักษณ์ชัดเจน คือกากบาทสีเขียว


 


 
ข่าวทั้งหมด

X