แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ลงทะเบียนออนไลน์มากกว่า 6 แสนคนแล้ว

14 กุมภาพันธ์ 2564, 15:56น.


          นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการยื่นคำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าวต่อนายทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ตาม มติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ตามที่ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความกังวลเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงานอย่างถูกต้อง และมีการหลบหนีเนื่องจากเกรงกลัวความผิด และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งในกลุ่มคนไทยและคนต่างด้าวเป็นจำนวนมาก จึงเห็นควรให้มีการกำหนดมาตรการตรวจสอบ คัดกรองโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพื่อควบคุม ยับยั้ง ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและให้แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองหรือผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบการทำงานที่ถูกต้องแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้นายจ้างสถานประกอบการสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภาคต่าง ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งทำให้เกิดความมั่นคงของระบบฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย (Big Data) ว่ามีอยู่จำนวนเท่าใด ทำงานอยู่กับใคร ประเภทกิจการอะไร และอยู่ที่ไหนบ้าง ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ตาม มติ ครม.เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 เห็นชอบ ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ผลการยื่นคำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าวต่อนายทะเบียนโดยผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม -13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาปรากฏว่า



-กลุ่มแรกคนต่างด้าวที่มีนายจ้าง นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อฯ จำนวน 133,910 คน เป็นคนต่างด้าว 596,502 คน แยกเป็น กัมพูชา 180,476 คน ลาว 63,482 คน และเมียนมา 352,544 คน



-กลุ่มสองคนต่างด้าวที่ไม่มีนายจ้าง 58,362 คน แยกเป็น กัมพูชา 23,203 คน ลาว 3,626 คน และเมียนมา 31,533 คน รวมทั้งสองกลุ่มจำนวน 654,864 คน แยกเป็น กัมพูชา 203,679 คน ลาว 67,108 คน และเมียนมา 384,077 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.พ.64 เวลา 23.59 น.)



          จังหวัดที่อนุมัติบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว 5 อันดับแรก ได้แก่



-กรุงเทพมหานคร 120,163 คน



-ชลบุรี 47,326 คน



-ปทุมธานี 38,994 คน



-สมุทรปราการ 37,621 คน



-สมุทรสาคร 28,953 คน



          ประเภทกิจการที่อนุมัติบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว 5 อันดับแรก ได้แก่



-กิจการก่อสร้าง 148,332 คน



-เกษตรและปศุสัตว์ 117,430 คน



-จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 49,702 คน



-การให้บริการต่างๆ 45,118 คน



-กิจการต่อเนื่องการเกษตร 39,025 คน



           สำหรับขั้นตอนต่อไปดำเนินการ ดังนี้



-กรณีคนต่างด้าวที่มีนายจ้างเข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 (สธ.) และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (ตม.) ภายในวันที่ 16 เม.ย.64 ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค (สธ.) ภายในวันที่ 18 ต.ค.64 จากนั้น สธ. ส่งผลการตรวจโรค และ ตม.ส่งข้อมูลการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ให้กกจ.ออกใบอนุญาตทำงานต่อไป นายจ้างชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th แนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงานเพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติ ภายในวันที่ 16 มิ.ย. 64 นายจ้างพาคนต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) และรับบัตรสีชมพู ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนด ภายใน 30 ธ.ค.64



-กรณีคนต่างด้าวที่ยังไม่มีนายจ้าง เข้าตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 (สธ.) และจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (ตม.) ภายในวันที่ 16 เม.ย.64 ตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค (สธ.) ภายในวันที่ 18 ต.ค.64 คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค ทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนดภายในวันที่ 16 มิ.ย. 64 นายจ้างที่ประสงค์จ้างคนต่างด้าวที่จัดทำทะเบียนประวัติ (ทร.38/1) เข้าทำงาน ยื่นบัญชีรายชื่อแทนคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th ชำระค่าคำขอใบอนุญาตฯ ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์ หลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติ ภายใน 13 ก.ย. 64 นายจ้างพาคนต่างด้าวไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ณ สถานที่กรมการปกครอง/กรุงเทพฯ กำหนดภายใน 28 ก.พ.2565



     กรณีคนต่างด้าวทำงานประมงทะเลไปทำหนังสือคนประจำเรือ ณ ที่กรมประมงกำหนด



           ภายหลังจากวันนี้แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจังกับคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมือง และลักลอบทำงานผิดกฎหมาย ซึ่งจะต้องดำเนินการผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง รวมถึงดำเนินคดีกับนายจ้าง/สถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายต่อไป



...

ข่าวทั้งหมด

X