ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30 น.วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564

11 กุมภาพันธ์ 2564, 09:58น.


กทม.พบผู้ป่วยอีก 17 คน กลุ่มจุฬา-ครอบครัว-กลุ่มติดเชื้อในพื้นที่เสี่ยงย่านฝั่งธน



         กรุงเทพมหานคร เปิดเผยไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สอบสวนโรคเสร็จแล้วอีก 17 คน พบว่าแบ่งเป็นรายละเอียดของผู้ติดเชื้อในกลุ่มที่พบในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  การติดเชื้อในครอบครัว และการติดเชื้อในพื้นที่เสี่ยงในเขตฝั่งธน ซึ่งในกลุ่มที่มีการเปิดเผยพบทั้งคนไทย ชาวเมียนมา และชาวลาว



1.ผู้ป่วยรายที่ 816-819    



-เป็นกลุ่มที่ทำงานและมีบ้านพักอยู่ที่จุฬานิวาส ทั้งผู้ป่วยชายและหญิง อาชีพพนักงานเดินเอกสาร  แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย



-ไทม์ไลน์ผู้ป่วยชายรายที่ 816 พนักงานเดินเอกสาร



*18 ม.ค.-29 ม.ค.64 ส่วนมากทำงานเดินเอกสารที่อาคารบริการ 2 ชั้น 2 ชั้น 3 และไปส่งหนังสือที่อาคารจามจุรี 5 ชั้น 3 และ ชั้น 4 และมีที่พักอยู่ที่อาคารหอพักจุฬานิวาส แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน



*30-31 ม.ค.64 ตลอดทั้งวัน อาศัยอยู่ที่ที่พัก



*2 ก.พ.64 ทำงานตามปกติ มีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น



*4 ก.พ.64 ช่วงเช้าทำงานตามปกติ ส่วนช่วงบ่าย เวลา 13.00 น. มีอาการหอบเหนื่อย ไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 เวลา 23.00 น. ทราบผลว่าติดเชื้อ เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล (มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า)  



-ไทม์ไลน์ผู้ป่วยหญิงรายที่ 817 แม่บ้าน



*19ม.ค.-22 ม.ค. 64 เดินไปทำงานที่สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ เขตปทุมวัน,ทานอาหารกลางวันกับเพื่อน 3 คน ที่ชั้น 7,ช่วงเย็น เดินทางกลับที่พัก และขับรถจักรยานยนต์ส่วนตัวไปซื้ออาหารที่ตลาดสวนหลวงกับสามี  



*20 ม.ค.64 ไปงานศพที่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี โดยรถยนต์ส่วนตัว



*23 ม.ค.64 เดินทางไปที่พักแถวคลอง 7 จ. ปทุมธานี โดยรถยนต์ส่วนตัว



*ช่วงวันที่ 25ม.ค.-5 ก.พ.64 เดินทางไปทำงานที่สถาบัน สลับกับการเดินทางกลับมาพักที่บ้านที่คลอง 7  บางวันพักที่ที่พักเขตปทุมวัน



*5ก.พ.64 เวลา 12.00-15.00 น. มีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ลิ้นไม่รู้รส เพื่อนร่วมงานพาไปหาหมอที่โรงพยาบาล เดินทางไปและกลับด้วยรถแท็กซี่(จำทะเบียนไม่ได้)



*6 ก.พ.64 ประมาณ 14.00 น. สถานที่ทำงานให้คนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และเวลาประมาณ 15.00 น.ไปร้านขายยาที่ตลาดสวนหลวง ประมาณ 10 นาที จำชื่อร้านไม่ได้



*7 ก.พ.64 ประมาณ 08.00 น. ทราบผลการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ประมาณ 13.00 น. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล  (มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า)  



-ไทม์ไลน์ผู้ป่วยหญิงรายที่ 818 พนักงานรักษาความปลอดภัย



*ทำงานออกหน่วยตรวจรักษาความปลอดภัยในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีประวัติพบกับเพื่อนร่วมงาน(ทราบภายหลังว่าติดเชื้อโควิด-19) ,ไปซื้ออาหารที่ตลาดสวนหลวง



*6 ก.พ.64 เวลา 15.00 น. ทราบว่าผู้พักอาศัยห้องตรงข้ามติดเชื้อโควิด-19 จึงไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล



*7ก.พ.64 ผลการตรวจพบติดเชื้อ เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล( มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า)



-ไทม์ไลน์ผู้ป่วยหญิงรายที่ 819 แม่บ้าน



*20-22 ม.ค.64 เวลา 06.30-12.00 น. ทำงานเป็นแม่บ้านที่วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข อาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินส่งเอกสารในตึก



*23ม.ค.-24ม.ค.64 และ 30ม.ค.-31 ม.ค.64 เวลา 06.00-09.00 น. ไปขายของแถวโลตัส พระราม1 เดินทางโดยรถจักรยาน



*5 ก.พ.64 เวลา 14.30 น. ทราบว่าผู้พักอาศัยห้องตรงข้ามติดเชื้อโควิด-19



*6ก.พ.64 เวลา 13.30 น. ไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล โดยรถจักรยาน



*7ก.พ.64 ช่วงเช้า ทราบผล ช่วงบ่าย เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล (มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ )  



2.กลุ่มผู้ป่วยในครอบครัวเดียวกัน ผู้ติดเชื้อรายที่ 825-830



-ผู้ป่วยชายและหญิง เด็กอีก4 คน อายุ 17 ปี 15 ปี 11 ปี และ6 ขวบ



-ผู้ป่วยหญิง อาชีพค้าขาย ขายผักในตลาดวิชัยพร ซ.บางขุนเทียน 14 แถวแสมดำ เขตบางขุนเทียน  เมื่อวันที่ 30 ม.ค.64 รู้ว่าลูกสาวติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 1ก.พ.64 ไปตรวจหาเชื้อพร้อมคนในครอบครัว 7 คน ที่หน่วยตรวจเชิงรุก เวลา 11.00 น. ไปรับประทานก๋วยเตี๋ยวที่ร้านไผ่ทองโภชนา หลังสำนักงานเขตบางขุนเทียน ถนนพระราม 2 ซอย 54 เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคคนในร้านและปิดร้านทำความสะอาดตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค วันที่ 3 ก.พ.64 ทราบผลการตรวจเชื้อและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล( มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ )  



-ผู้ป่วยชาย อาชีพ พนักงานโรงงาน ทำงานที่บริษัท อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ทราบว่า เพื่อนที่ทำงานแผนกเดียวกัน 2 คนติดเชื้อโควิด-19 และ ทราบผลว่าลูกสาวติดเชื้อเช่นกัน วันที่ 1ก.พ.64ไปตรวจหาเชื้อ และผลการตรวจพบเชื้อออกมาวันที่ 3ก.พ.64 เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล(มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง โรงงานในเขตบางขุนเทียน)  



ตลาดสดเสี่ยง 5 จังหวัด ผู้ขายแพร่เชื้อ



         กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลผู้ติดเชื้อในตลาด 1,815 คน พบว่า ร้อยละ 96.86 เป็นการติดเชื้อในตลาดสด ตลาดนัด ร้อยละ 3.14 คน พบเป็นผู้ขายถึงร้อยละ 90.19 ผู้ซื้อร้อยละ 9.81



         จากการสอบสวนโรคพบคนติดเชื้อโยงตลาด 1,815 คน มี 5 จังหวัดมีผู้ป่วยมากที่สุดคือ สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ โดยปัจจัยติดเชื้อคือ ไม่มีมาตรการระวังตัวเอง ไม่วัดอุณหภูมิก่อนเข้าตลาด แม่ค้าไม่ค่อยล้างมือ ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมไม่สม่ำเสมอ ไม่มีที่กั้นระหว่างร้านค้า แม่ค้าตลาดสดเดินทางไปซื้อของหลายแห่ง ขณะที่ตลาดนัดมีการหมุนเวียนแม่ค้า จึงมีข้อเสนอแนะทุกตลาดต้องเข้มข้นมาตรการป้องกันตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องใส่หน้ากากอนามัย และไม่สามารถเว้นระยะแผงค้าได้ ก็ควรมีฉากกั้นและงดเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวอย่างเคร่งครัด



CR:กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข



ศบค.งดแถลงข่าว12-14 ก.พ.



          ในช่วงเวลานี้ใกล้ช่วงเทศกาลตรุษจีน จึงจะขอเว้นการแถลงข่าวในวันที่ 12- 14 ก.พ.64 เพื่อจะได้ฉลองเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่กำหนดเป็นวันหยุด ขอให้จังหวัดที่ไม่ใช่พื้นที่สีเข้มเหมือนสมุทรสาครและกรุงเทพฯ ที่มีการผ่อนคลายไปบ้างแล้วดูแลสุขภาพ ขอให้สวมหน้ากากอนามัยป้องกันด้วย



ผู้ว่าฯ เพชรบุรีสำรวจกลุ่มเสี่ยงโยงมหาชัย ติดเชื้อเพิ่ม 3 คน



          จังหวัดเพชรบุรี  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 3 คน รวมยอดสะสม 40 คน รักษาหายแล้ว 32 คน กำลังรักษา 8 คน ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้ง 3 คน เป็นผู้ป่วยโควิด-19 รายที่ 38 รายที่ 39 และรายที่ 40 ของจังหวัดเพชรบุรี มีอาชีพเป็นแม่ค้าและพ่อค้าขายผักที่ปกติทุกวันจะเดินทางจากจังหวัดเพชรบุรีไปซื้อผักที่ตลาดศรีเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี เพื่อไปขายต่อที่ตลาดรถไฟ และตลาดแม่เน้ย ซึ่งทั้ง 2 ตลาดตั้งอยู่ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 



-รายแรก หญิงไทย อายุ 55 ปี ชาวบ้าน ม.6 ต.ไร่สะท้อน อ.บ้านลาด



-รายที่สอง หญิงไทย อายุ 50 ปี ชาวบ้าน ม.8 ต.ไร่สะท้อน อ.บ้านลาด ทั้งสองรายนี้ประกอบอาชีพค้าขาย ที่ตลาดรถไฟ จังหวัดสมุทรสาคร



-รายที่สาม ชายไทย อายุ 30 ปี ชาวบ้าน ม.2 ต.ไร่สะท้อน อ.บ้านลาด ประกอบอาชีพค้าขายตลาดแม่เน้ย จังหวัดสมุทรสาคร

         นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดจะทำการสำรวจรายชื่อแม่ค้าพ่อค้า ที่ไปทำมาหากินในพื้นที่เสี่ยง คัดกรองแบบแยกกลุ่ม ทั้งกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า และกลุ่มรับจ้าง เพื่อหาลู่ทางในการช่วยเหลือ ด้วยการสำรวจทำแบบสอบถาม ซึ่งจะครอบคลุมถึงความชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือ โดยจะมีทั้งแบบขอรับการสงเคราะห์ ที่ต้องการให้ช่วยหาสถานที่จัดจำหน่าย ผลผลิตทางการเกษตร และช่วยหางานให้ทำ ฝึกอาชีพ หรือทางออกแบบให้โอกาสด้านเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำรวมทั้งหากถูกกักตัว 14 วัน ชาวบ้านสามารถเลือกได้ว่าต้องการอะไรบ้าง โดยกำชับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายประสานชุมชน คุมเข้มทุกมาตรการให้ชาวบ้านปลอดภัยจากโควิด-19

ลดลงต่อเนื่อง! ติดเชื้อรายใหม่สมุทรสาคร 129 คน



          สำนักงานสาธารณสุข จ.สมุทรสาคร ศูนย์โควิด-19 สมุทรสาคร รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อตัวเลขเมื่อเวลา 24.00 น.วันที่ 10 ก.พ.64 ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงต่อเนื่อง



-ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 129 คน ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสม 15,476 คน



-ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ มาจากการค้นหาเชิงรุก 73 คน เป็นคนไทย 11 คน ต่างด้าว 62 คน การรักษาที่โรงพยาบาล 56 คน พบว่า เป็นคนไทย 30 คน ต่างด้าว 26 คน



-ผู้ป่วยติดเชื้อสะสม มาจากการค้นหาเชิงรุกรวม 13,165 คน  การรักษาในโรงพยาบาลรวม 2,311 คน



-ผู้ป่วยที่ดูแลรักษาอยู่ในโรงพยาบาลรวม 3,461 คน



-รักษาหายแล้วรวม 2,700 คน



-อยู่ระหว่างสังเกตอาการรวม 12,015 คน



-เดินทางกลับบ้านไปแล้วรวม 8,681 คน



-เสียชีวิตรวม 6 ราย



CR:สำนักงานสาธารณสุข จ.สมุทรสาคร 



ผ่อนปรนด่านสิงขร 22 ก.พ.นี้

           นายพรหมพิริยะ กิจนุสนธิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ และคณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านเมียนมา เพื่อติดตามสถานการณ์การโควิด-19 ว่า ขณะนี้ยังคงตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ มาเป็นเวลา 38 วัน ขณะที่ทางจังหวัดยังคงเข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน ตั้งจุดตรวจจุดสกัดในตำบลชายแดน 26 จุด และการตรวจเชิงรุกค้นหาและการตรวจคัดกรองคนไทยที่เดินทางเข้า-ออกในพื้นที่จังหวัด



          มีรายงานว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาการผ่อนผันการใช้ช่องทางด่านสิงขร เฉพาะเพื่อการนำเข้าส่งออกสินค้า โดยเห็นว่าเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกสินค้าไทยเมียนมา และขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าชายแดน จึงมีมติผ่อนผันให้ผู้ประกอบการสามารถนำเข้าส่งออกสินค้าประเภทแห้งและแช่แข็งที่จำเป็น เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น.เริ่มวันที่ 22 ก.พ.64 โดยผู้ประกอบการต้องจัดทำบันทึกข้อมูลการขนส่งตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และต้องแจ้งการนำเข้าส่งออกสินค้าให้จังหวัดทราบล่วงหน้า 1 วัน และในระหว่างนี้หน่วยงานความมั่นคงจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมมาตรการรองรับการเปิดด่าน



 

ข่าวทั้งหมด

X