ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ แถลงว่า ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารอนุมัติมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อคณะรัฐประหารของเมียนมา นำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา พร้อมทั้งย้ำข้อเรียกร้องให้คณะรัฐประหารคืนอำนาจการปกครองให้กับฝ่ายพลเรือนโดยเร็ว ขอให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ตลอดถึงผู้นำฝ่ายพลเรือน นักการเมืองและนักเคลื่อนไหวอื่นๆที่ถูกจับกุมหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ คำสั่งนี้มีผลกับคณะรัฐประหาร กลุ่มผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ และสมาชิกในครอบครัวของคณะรัฐประหารของเมียนมา
สหรัฐฯจะจัดทำรายชื่อคณะบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารของเมียนมาในสัปดาห์นี้ พร้อมทั้งอายัดเงินทุนของรัฐบาลเมียนมา 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในสหรัฐฯ ควบคุมการส่งออก ระงับการช่วยเหลือทางการเงินแก่รัฐบาลเมียนมา แต่ยังคงให้การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข กลุ่มประชาสังคมและอื่นๆที่เกิดประโยชน์ต่อชาวเมียนมา นายไบเดน กล่าวว่า สหรัฐฯพร้อมจะออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม และจะทำงานร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อขอให้ประเทศอื่นๆร่วมมือกับสหรัฐฯในการคว่ำบาตรคณะรัฐประหารของเมียนมา
ชาติตะวันตก ประณามการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา แต่นักวิเคราะห์หลายคน รวมถึงนายเดเรค มิตเชล อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำเมียนมา มองว่า คณะรัฐประหารของเมียนมา จะไม่ถูกโดดเดี่ยวดังเช่นคณะรัฐประหารชุดก่อนๆของเมียนมา ในส่วนประเทศจีน อินเดีย เพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และญี่ปุ่น อาจจะไม่ตัดความสัมพันธ์กับเมียนมา เนื่องจาก เมียนมามีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์กับประเทศดังกล่าว สิ่งสำคัญ คือ สหรัฐฯจะต้องชักชวนพันธมิตรชาติอื่นๆให้คว่ำบาตรคณะรัฐประหารของเมียนมาโดยพร้อมเพรียงกัน มาตรการคว่ำบาตรจึงจะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
Cr: Reuters, WMBF News