ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายวันวาเลนไทน์ปีนี้ นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มีมูลค่าใช้จ่าย 2,560 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21.15ต่ำสุดรอบ 15 ปีนับจากที่เริ่มสำรวจมา เมื่อเทียบกับปี 63 ที่มีมูลค่า 3,246 ล้านบาท โดยมีการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่ 1,306 บาท ต่ำสุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ปี 55 และลดลงจากปี 63 ที่เฉลี่ย 1,814 บาท ค่าใช้จ่ายที่ลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลดลง ราคาของขวัญ สินค้าแพงขึ้น กังวลโควิด-19 และเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ส่วนที่มาของเงินที่ใช้จ่าย ส่วนใหญ่มาจากเงินเดือน ตามด้วยเงินออม และอื่นๆ เช่น ผู้ปกครอง มาตรการช่วยเหลือของรัฐ จากผลสำรวจยังพบว่า ร้อยละ 57.1 ไม่ฉลองในวันวาเลนไทน์ปีนี้
ส่วนผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนม.ค.64 ที่สำรวจจากสมาชิกหอการค้าไทย 369 ตัวอย่าง วันที่ 25-29 ม.ค.64 พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 29.8 ลดจาก 31.8 ในเดือนธ.ค.63 ดัชนีต่ำสุดในรอบ 25 เดือน โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีลดลงมาจาก การล็อกดาวน์ในพื้นที่เสี่ยงสูง ทำให้ธุรกิจต่างๆ หยุดชะงัก รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องจากการล็อกดาวน์ด้วย, ความกังวลจากการระบาดระลอกใหม่ ที่เป็นวงกว้าง และมีผู้ติดเชื้อในประเทศจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ และเศรษฐกิจของประเทศ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของทุกภูมิภาคลดลงหมด และยังทำให้ดัชนีหมวดอื่นๆ ทั้งการบริโภค ท่องเที่ยว การค้า บริการ และจ้างงาน ของทุกภูมิภาคลดลงทั้งหมด ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งทำให้การแพร่ระบาดคลายตัวลง และทำให้การท่องเที่ยวกลับมา เพื่อให้เกิดเงินสะพัดได้ในทุกภาค ประคองการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคได้
ขณะนี้ศูนย์กำลังติดตามผลของมาตรการต่างๆของรัฐบาลว่า สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้เพียงไร โดยเฉพาะ เราชนะ และม.33เรารักกัน ที่จะมีเงินเข้าไปเติมในระบบหลายแสนล้านบาท ซึ่งหากได้ผล จะช่วยกระตุ้นให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพิ่มขึ้นได้อีกร้อยละ1.7-1.9และจะทำให้จีดีพีทั้งปี 64 ขยายตัวในกรอบร้อยละ 3.0-3.5ได้ จากก่อนหน้านี้ ที่ศูนย์คาดทั้งปี 64 จะโตประมาณร้อยละ 2.8