ป.ป.ช.ฟัน 'ปารีณา' ผิดจริยธรรมร้ายแรงคดียึดครองที่ดิน ส่งศาลฎีกาถอดถอนจาก ส.ส.

10 กุมภาพันธ์ 2564, 15:06น.


          นายนิวัติไชย  เกษมมงคล  รองเลขาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก ป.ป.ช.  แถลงกรณีนางสาวปารีณา ไกรคุปต์  ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ถูกกล่าวหาว่ายึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในพื้นที่หมู่ 6 ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี  ซึ่งเป็นที่ดินของรัฐ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 


          โดยในปี พ.ศ.2536-ปี 2537 คณะรัฐมนตรีมีมติให้กรมป่าไม้ส่งมอบที่ดินให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. เพื่อนำไปปฏิรูปที่ดิน  โดยให้เกษตรกรที่เคยทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ต้องยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินทุกปี  นางสาวปารีณา และนายทวี ไกรคุปต์ บิดา เข้ายึดครองและทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2546 โดยมีแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภ.บ.ท.5 ซึ่งเป็นเอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่  ไม่ใช่เอกสารแสดงสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน   ต่อมามีการยกเลิกการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ดังกล่าวและยกเลิก ภ.บ.ท.5 ไปแล้ว  แต่นางสาวปารีณายังคงยึดถือ ครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว ทำฟาร์มไก่ โดยที่ไม่มีสิทธิ์ครอบครองและไม่ได้ขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ 


          กระทั่งในปี พ.ศ.2562 นางสาวปารีณา เข้าปฎิบัติหน้าที่ ส.ส. โดยยังถือครองที่ดินดังกล่าวอยู่ จนถูกตรวจสอบการครองที่ดิน และส.ป.ก.แจ้งให้นางสาวปารีณา คืนที่ดินดังกล่าว และกรมป่าไม้ยังไปร้องทุกข์กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.)  ให้ดำเนินคดีอาญากับนางสาวปารีณา ในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ คำนวนเป็นเงินค่าเสียหายกว่า 36 ล้านบาท 


          คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า นางสาวปารีณา  ฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่กระทำสิ่งที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม   ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง  มีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ,  ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง  พร้อมให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาพิจารณาถอดถอนออกจากตำแหน่ง ส.ส.ต่อไป 


          ซึ่งตามขั้นตอน เมื่อ ป.ป.ช. ส่งศาลฎีกาไปแล้ว ศาลฎีกาประทับรับฟ้อง ก็จะเป็นเหตุให้ ส.ส. ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที เว้นแต่ศาลจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น  โดยคดีของนางสาวปารีณาจะส่งไปยังศาลฎีกาตามมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญ และจะเป็นมาตรฐานใหม่ ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ถือเป็นสำนวนแรก ของ ส.ส. ที่กระทำผิดฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง  ซึ่งยังมี ส.ส.และนักการเมืองถูกยื่นฟ้องผิดจริยธรรมในลักษณะเดียวกันอีกหลายราย


 




 


ข่าวทั้งหมด

X