กทม.เลื่อนเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวอัตรา 15-104 บาท ออกไปก่อน
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานครเรื่องการกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2564 จัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอัตราไม่เกิน 104 บาท ตลอดสายตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.2564 เป็นต้นไป กรุงเทพมหานคร ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนอัตราค่าโดยสาร ตามประกาศโดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพมหานครได้หารือร่วมกับสภากรุงเทพมหานคร เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว จึงให้เลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการนี้ออกไปก่อน อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552
CR:กรุงเทพมหานคร
ตรุษจีน ไม่คึกคัก แต่ยังมีข่าวดีแต๊ะเอีย
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 64 สำรวจระหว่างวันที่ 25 ม.ค.-3 ก.พ.64
-ปีนี้มีมูลค่าการใช้จ่าย 44,939 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 21.85 เมื่อเทียบกับปี 63 ที่มีมูลค่าใช้จ่าย 57,639 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.30 หรือมูลค่าหายไป 12,700 ล้านบาท ถือว่า ลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ หรือลดลงต่ำสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจมาตั้งแต่ปี 52 เนื่องจากเศรษฐกิจแย่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ลด และลดค่าใช้จ่าย
-มูลค่าการใช้จ่ายปี 64 ที่ลดลง ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 42.2 ตอบว่า ใช้จ่ายลดลง เพราะเศรษฐกิจแย่ลง รายได้ลดลง ลดค่าใช้จ่าย การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นหนี้เพิ่ม ของแพง ตกงาน ส่งผลให้ปริมาณการซื้อสินค้าลดลง ส่วนอีกร้อยละ 33.2 ใช้จ่ายไม่เปลี่ยนแปลง และมีเพียงร้อยละ 24.6 ที่ตอบใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น รายได้-โบนัสเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจดีขึ้น
-สอบถามในเรื่องแต๊ะเอีย ซึ่งผู้ตอบมีทั้ง เป็นผู้ให้และผู้รับ โดยผู้ให้มากถึงร้อยละ 74.2 บอกว่า ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมีผลกระทบปานกลางถึงน้อยต่อการให้แต๊ะเอีย และคิดว่า จะให้เงินแต๊ะเอียไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับปี 63 มีเพียงร้อยละ 25.8 ที่ตอบว่า เศรษฐกิจปัจจุบันมีผลต่อการให้แต๊ะเอีย และจะให้เงินแต๊ะเอียลดลง ส่วนกรณีเป็นผู้รับ ส่วนใหญ่คาดว่าจะได้รับเงินแต๊ะเอีย และจำนวนเงินไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 63
-มูลค่าใช้จ่ายช่วงตรุษจีนที่หายไป 12,000 ล้านบาท มีผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หายไปร้อยละ 0.05-0.07 แต่ถ้ารัฐอัดฉีดเงินโครงการเราชนะ เรารักกันเข้ามาในช่วงปลายเดือนนี้ จะมีผลกระตุ้นการใช้จ่ายได้ คาดว่า เศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป และถ้ารัฐยังมีมาตรการกระตุ้นออกมาต่อเนื่อง รวมถึงมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้บ้าง 4,000,000-6,000,000 คน น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ประมาณร้อยละ 3 แต่ถ้ายังไม่มีเข้ามาเลยก็อาจโตต่ำกว่าร้อยละ 3 ได้
อุปทูตจีน ยืนยัน เตรียมส่งวัคซีนจากชิโนแวคให้ไทยเร็วที่สุด
นายหยาง ซิน (Mr. Yang Xin) อุปทูตรักษาราชการ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่ออวยพรในโอกาสเทศกาลตรุษจีน ทั้งสองฝ่ายต่างชื่นชม และขอบคุณความร่วมมือและความช่วยเหลือที่มีต่อกันในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ ทราบว่าทุกหน่วยงานระหว่างไทย-จีนได้หารือกันผ่านความสัมพันธ์ฉันท์มิตร
นายกฯ กล่าวว่ารัฐบาลไทยยืนยันที่จะจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุมร้อยละ 50 ของประชาชนอย่างเร็วที่สุด โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนแก่ประชาชนตามที่ได้กำหนดกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการฉีดเร่งด่วนก่อน ฝ่ายจีน แจ้งว่าวัคซีนจากบริษัทชิโนแวคได้รับอนุญาตจากรัฐบาลจีนให้ส่งออกแล้ว และพร้อมจะส่งมายังประเทศไทยโดยเร็วที่สุด ตามที่ได้ตกลงกันไว้
ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะมีความร่วมมือกันในสาขาที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้าน E-commerce เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไทยแลนด์ 4.0 โดยนายกฯ เชิญชวนให้จีนพิจารณาลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG ) ที่ประเทศไทยให้ความสำคัญด้วย
คัดกรองเชิงรุก ! จุฬาฯ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 6 คน รวมเป็น 13 คน
หลังจากที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศมาตรการของคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 3 คน พร้อมทั้งประกาศให้ จุฬานิวาส ซึ่งเป็นอาคารพักอาศัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานให้บริการของส่วนงานและหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เป็นเขตต้องดูแลเป็นพิเศษ
ล่าสุด ช่วงดึกวันที่ 8 ก.พ.64 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศเพิ่มเติมเป็นฉบับที่ 4/2564 ว่า คณะกรรมการโควิด-19 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีมาตรการระดมตรวจคัดกรองโรคเชิงรุกกับกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับบุคลากรกลุ่มดังกล่าว จำนวน 230 คน ผลจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกดังกล่าว พบว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 6 คน รวมเป็น 13 คน คณะกรรมการโควิด-19 จึงได้ดำเนินการต่อไปนี้
1.ขยายการตรวจคัดกรองปูพรมเชิงรุกเพิ่มขึ้นอีก 389 คน (รวมเป็นผู้ได้ตรวจคัดกรองโรคแล้ว 619 คน)
2.สอบสวนโรคอย่างเร่งด่วน โดยร่วมมือกับสถาบันป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค และศูนย์บริการสาธารณสุขที่ 5 กรุงเทพมหานคร
ขณะนี้สถานการณ์ยังอยู่ในระดับที่มหาวิทยาลัยควบคุมดูแลได้ และขอให้ผู้ที่เข้ามาภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด
หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติม คณะกรรมการโควิด-19 จุฬาฯ จะแจ้งให้ทราบเป็นระยะต่อไปผ่านทาง https://www.chula.ac.th/covid-19/ หัวข้อ “ข่าวสาร COVID-19”
CR:https://www.chula.ac.th/covid-19/
สัญญาณดี! ยอดผู้ป่วยใหม่สมุทรสาครลดลง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร รายงานยอดผู้ป่วยรายใหม่ของจังหวัด ข้อมูลล่าสุด ณ เวลา 24.00 น. วันที่ 8 ก.พ.64
ผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 159 คน แบ่งเป็นจากการค้นหาเชิงรุก 50 คน (คนไทย 24 คน และแรงงานต่างด้าว 26 คน) และผู้ป่วยจากการตรวจในโรงพยาบาล 109 คน (คนไทย 32 คน แรงงานต่างด้าว 77 คน) ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 15,215 คน
ส่วนผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล แบ่งเป็นคนไทย 455 คน แรงงานต่างด้าว 421 คน และยังเฝ้าสังเกตอาการอีก 4,267 คน
คนที่รักษาหายแล้วกลับบ้านได้เป็นคนไทยรวม 1,796 คน และต่างด้าว 654 คน ด้านผู้ที่ถูกกักตัวเพื่อเฝ้าสังเกตอาการจนครบตามระยะเวลาที่กำหนดแล้วไม่พบเชื้อ สามารถให้กลับบ้านได้รวม 7,617 คน แบ่งเป็นคนไทย 182 คน และคนต่างด้าวรวม 7,435 คน ส่วนผู้เสียชีวิตยังคงเดิมจำนวน 5 ราย
CR:สำนักงานสาธารณสุข จ.สมุทรสาคร