ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30 น.วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564

08 กุมภาพันธ์ 2564, 08:57น.


เคสชายเมียนมาที่แม่สอด ติดเชื้อทั้งครอบครัว มีโอกาสกระจายในชุมชน



          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยกกรณีชายชาวเมียนมา อายุ 75 ปี ติดเชื้อโควิด-19 และแพร่สู่ครอบครัว 10 คน ทั้งลูก ลูกสาว ลูกสะใภ้ หลาน สะท้อนว่าเมื่อมีการติดเชื้อ ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะเป็นคนในครอบครัวที่อยู่ใกล้ชิด คนที่เข้าไปดูแลคนป่วย คนที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย และหากมีการติดเชื้อในครอบครัวจำนวนมากก็มีโอกาสกระจายถึงชุมชน ดังนั้น จึงจะมีการไปตรวจคัดกรองเชิงรุก สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า อ.แม่สอด จ.ตาก ยังมีวิถีชีวิตไปๆ มาๆ กับชาวเมียนมา แม้การพบปะกันจะลดลง แต่หากยังมีอยู่ก็จะทำให้การควบคุมลำบาก และพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มๆ ขึ้นเป็นระยะ จึงขอให้เข้มข้นป้องกันเรื่องนี้



ย้ำ! แรงงานต่างด้าวทำงานเป็นลูกจ้างในบ้าน นำเชื้อมาติดคนไทย



          สรุปสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ภาพรวมจังหวัดต่างๆ ควบคุมได้ดี ยังมีรายงานผู้ติดเชื้อที่จ.สมุทรสาคร จ.ตาก กรุงเทพฯ และบางจังหวัด  ลุ้นปลดล็อกเพิ่มสิ้นเดือนนี้



-จ. สมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง แต่มีการควบคุมโรคใน 3 ระยะ คือ



*ระยะที่ 1 ตรวจหาการกระจายของโรค ทำให้พบว่ามีการกระจายมากใน อ.เมือง และบางตำบลของ อ.กระทุ่มแบน



*ระยะที่ 2 ตรวจเชิงรุกในโรงงานขนาดใหญ่และโรงงานที่มีอัตราติดเชื้อสูงกว่าร้อยละ 10 ทำให้เกิดการปูพรมตรวจวันละหมื่นคน และพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก



*ระยะที่ 3 ขณะนี้ที่ใช้มาตรการให้แรงงานเมียนมาอยู่ในโรงงานและที่พัก ให้ทำงานได้ปกติ ไม่ให้ปะปนกับชุมชน หากเจ็บป่วยก็เข้าสู่ระบบรักษา เหมือนกับกรณีตลาดกลางกุ้ง ซึ่งมีข่าวดีว่าตลาดกลางกุ้งน่าจะเปิดให้ดำเนินชีวิตอย่างปกติเร็วๆ นี้




          ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ระบุว่า ความยากลำบากของพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ระบุว่า มีโรงงานและแออัดมาก นอกจากนั้น ยังมีชุมชนโดยรอบที่อาศัยแออัด ดังนั้น ต้องปรับยุทธศาสตร์ป้องกันและควบคุมการระบาดในจังหวัด




-กรุงเทพฯ จะพบรายงานแรงงานต่างด้าวมาทำงานบ้าน ติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ซึ่งติดเชื้อไปยังคนไทยได้ จึงต้องกำชับแรงงานว่าให้เลี่ยงการพบกับเพื่อน โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย และต้องระวังการรับประทานอาหารเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้



ยังไม่ใช้'วัคซีนพาสปอร์ต' เป็นเงื่อนไขอนุญาตเดินทางเข้าประเทศ



          นพ.โอภาส กล่าวถึง วัคซีนพาสปอร์ตว่าเป็นหลักฐานทำให้เกิดความมั่นใจว่าผู้เดินทางจะไม่นำเอาเชื้อโรคเข้าสู่ประเทศ ที่ผ่านมามีการใช้ในโรคไข้เหลืองที่พบมากในอเมริกาใต้และแอฟริกา ถ้าจะเข้าประเทศไทยต้องฉีดวัคซีนและมีหนังสือรับรอง คือสมุดปกเหลือง ซึ่งเป็นไปตามกติกาสากลขององค์การอนามัยโลก



          ส่วนโรคโควิด-19 เรายังใช้การป้องกันเชื้อจากต่างประเทศด้วยการกักตัว 14 วัน การจะใช้มาตรการวัคซีนพาสปอร์ตแทนการกักตัว ต้องมั่นใจว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มีข้อมูลว่าฉีดแล้วอยู่ได้นานแค่ไหน



          อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แต่ปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ยังวิจัยไม่เสร็จ เป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน พัฒนาได้ 3-4 เดือน องค์การอนามัยโลก แนะนำว่า ยังไม่ควรกำหนดให้ใช้เอกสารรับรองการฉีดวัคซีนโควิด -19 หรือวัคซีนพาสปอร์ต มาเป็นเงื่อนไขในการอนุญาตเข้าประเทศ เนื่องจาก ยังขาดข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ว่าฉีดแล้วจะไม่แพร่โรค ฉีดแล้วจะอยู่นานแค่ไหน หรือต้องฉีดซ้ำอีกกี่เข็ม เป็นต้น แต่ในอนาคตถ้ามีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำวัคซีนพาสปอร์ตมาเป็นข้อกำหนด แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป



นายกฯ ย้ำฉีดวัคซีนกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทาน ไม่ได้หมายความป้องกันการติดเชื้อได้  



          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ย้ำเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ในฐานะผู้รับผิดชอบ ยินดีให้ทุกบริษัทมาขอขึ้นทะเบียนโดยเปิดช่องทางพิเศษ ปัจจุบันมีผู้มายื่นคำขอขึ้นทะเบียนแล้ว 3 ราย และได้รับทะเบียนแล้ว 1 ราย คือ บริษัทแอสตราเซเนกา (ประเทศไทย) จำกัด หากมีผู้มายื่นคำขอและผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้รับการขึ้นทะเบียนในระยะต่อไป



          ส่วนความจำเป็นทุกคนต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ นายกฯ  ชี้แจงว่า การฉีดวัคซีนเป็นการกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิต้านทานให้มากกว่าร้อยละ 95 แต่การมีภูมิต้านทานไม่ได้หมายความว่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้



          หลักการของวัคซีนโควิด-19 มีหลักการที่เหมือนกับวัคซีนโรคไข้หวัด เพียงแต่วัคซีนไข้หวัดจะทดลองจนครบตามกระบวนการทางการแพทย์ที่กำหนดไว้ คือ ฉีดและติดตามผลอย่างน้อย 1 ปี เพื่อดูผลสุดท้ายว่าผลลัพธ์คือป้องกันได้จริงหรือไม่ แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดในขณะนี้ทำให้รอไม่ได้ เนื่องจากมียอดผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงเป็นการอนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 แบบฉุกเฉิน



          หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วก็จะมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในขณะนี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าวัคซีนโควิด-19 สามารถป้องกันการติดเชื้อได้จริงจนกว่าจะครบอย่างน้อย 1 ปี แต่มีผลเบื้องต้นที่สามารถยอมรับได้คือฤทธิ์ข้างเคียงไม่เยอะ เป็นไปตามธรรมชาติ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฤทธิ์ข้างเคียงที่มีข้อมูลคือ เมื่อฉีดไป 1,000,000 คน มีผู้เสียชีวิต 1.1 ราย แต่ข้อมูลปัจจุบันของวัคซีนโควิด-19 ถ้านับเป็น 1,000,000 คนมีผู้เสียชีวิต 11 ราย ในทางการแพทย์ถือว่ายอมรับได้ หากได้รับการวัคซีนโควิด-19 อาจยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อ แต่โอกาสที่จะป่วยก็มีน้อยลง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะต้องการผ่านการทบทวน กลั่นกรอง และยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญ



          วัคซีน Pfizer และ Moderna  ได้ผลร้อยละ 95  วัคซีน AstraZeneca ได้ผลร้อยละ 90 ของ Sinavac และ Sinopharm ได้ผลร้อยละ 70 ซึ่งหลักเกณฑ์ทั้งหมดถูกกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก ซึ่งประเทศไทยถือมาตรฐานวัคซีนที่ยอมรับได้ร้อยละ 50 เช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดกันเป็นประจำทุกปี



 



 



 



 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X