เร่งค้นหาผู้สูญหาย ธารน้ำแข็งหิมาลัยแตก มวลน้ำไหลท่วม เสียชีวิตแล้ว 7 ราย
รัฐบาลอินเดีย ส่งเจ้าหน้าที่จากกองกำลังตอบสนองภัยพิบัติแห่งชาติ (NDRF) จากกรุงนิวเดลี เดินทางมาสนับสนุนปฏิบัติการกู้ภัย คาดว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ หลังจากเกิดเหตุธารน้ำแข็ง บนเทือกเขาหิมาลัยแตก กลายเป็นหิมะถล่มชนเขื่อนอินเดียพังทลาย มวลน้ำมหาศาลไหลทะทักท่วมหลายหมู่บ้านทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันรุนแรงในรัฐอุตตราขัณฑ์ ทางเหนือของอินเดีย พบผู้เสียชีวิตแล้ว 7 ราย และสูญหายอีกนับร้อยคน
ผู้เห็นเหตุการณ์ บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า หิมะที่ถล่มลงมาจากการแตกออกของธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย พัดพาทั้งฝุ่น, หิน และน้ำ ลงสู่แม่น้ำธอลีกังกา ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นสายของแม่น้ำคงคา น้ำมาเร็วมาก ไม่มีเวลาให้เตือนใครเลย
นายตรีเวนทรา สิงห์ ราวัต มุขมนตรีรัฐอุตตราขัณฑ์ กล่าวถึง ความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมว่าทำให้โรงไฟฟ้าได้รับความเสียหายและมีคนงานสูญหาย พร้อมทั้งประกาศว่าจะมอบเงินชดเชยให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต รายละ 400,000 รูปี หรือราว 165,000 บาท
-โรงงานไฟฟ้าพลังงานน้ำ ‘ริชิกังกา’ (Rishiganga) ในเขตชาโมลี ซึ่งมีคนงานทั้งหมด 35 คน และตอนนี้สูญหายไปประมาณ 29-30 คน
-โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำของบริษัท NTCP บนแม่น้ำธอลีกังกา (Dhauliganga) ได้รับความเสียหาย ในขณะที่มีคนงานประมาณ 176 คนทำงานอยู่ในอุโมงค์ 2 จุด ซากปรักหักพังอุดเส้นทางไว้ มีคนงานประมาณ 15 คนสามารถออกมาจากอุโมงค์สายหนึ่งได้ ก่อนที่คนงานอีก 35-50 คนจะได้รับการช่วยเหลือออกมา และคาดว่ามีคนงานมากกว่า 30 คนติดในอุโมงค์ที่ 2
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ทวีตข้อความหลังจากหารือกับมุขมนตรีรัฐอุตตราขัณฑ์ว่า ชาวอินเดียทั้งประเทศกำลังสวดภาวนาให้ทุกคนรอดปลอดภัย
ด้านนายอมิต ชาห์ รัฐมนตรีมหาดไทย ทวีตข้อความว่า กองทัพอากาศเตรียมพร้อมเสริมปฏิบัติการกู้ภัย ขณะที่หน่วยรับมือภัยพิบัติเดินทางทางอากาศไปยังที่เกิดเหตุแล้ว เจ้าหน้าที่ทุกนายที่เกี่ยวข้องกำลังทำงานเต็มที่
ขณะเดียวกัน รัฐอุตตระประเทศที่อยู่ติดกันและมีประชากรมากที่สุดในอินเดียเพิ่มการระวังพื้นที่ริมฝั่งน้ำในระดับสูงเพราะเกรงจะได้รับผลกระทบเช่นกัน
นักเล่นสกีเสียชีวิต 4 เจ็บ 4 หิมะถล่ม บนหุบเขามิลครีก แคนยอน
ส่วนที่สหรัฐฯ เกิดเหตุหิมะถล่ม บนหุบเขามิลครีก แคนยอน จุดที่เกิดเหตุอยู่ใกล้เมืองซอลต์ เลค ซิตี้ รัฐยูทาห์ สหรัฐฯ ทำให้นักเล่นสกี เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 4 คน ช่วยตัวเองออกมาได้จากกองหิมะ และได้โทรศัพท์ไปที่สายด่วนแจ้งเหตุร้าย 911 เจ้าหน้าที่เร่งให้ความช่วยเหลือ แต่ระหว่างนี้ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเดินทางเข้าไปใกล้พื้นที่เกิดเหตุ เพื่อให้ปฏิบัติการช่วยเหลือกู้ภัยทำได้อย่างเต็มที่
ประท้วงเดือดในชิลี! ไม่พอใจ ตำรวจยิงชายวัย 27 ปี เสียชีวิต
ชาวชิลี ประท้วงต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจ หลังเกิดเหตุตำรวจยิงชายวัย 27 ปี เสียชีวิตระหว่างตรวจเอกสารประจำตัว ชาวชิลีชุมนุมประท้วงจุดไฟเผาอาคารเสียหายราว 10 หลัง รวมทั้งสำนักงานเทศบาลในเมืองท่องเที่ยวทางใต้ ต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจ หลังเกิดเหตุตำรวจยิงนักแสดงเปิดหมวกชายวัย 27 ปี เสียชีวิตระหว่างการตรวจเอกสารประจำตัว แต่เกิดมีปากเสียงและทำร้ายต่อสู้กัน การประท้วงรุนแรงที่กรุงซานติเอโก กลุ่มผู้ประท้วงได้ขว้างปาก้อนหินและข้าวของใส่ตำรวจปราบจลาจล ซึ่งตอบโต้ด้วยการยิงปืนฉีดน้ำแรงดันสูง เพื่อสลายการชุมนุม แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บ ด้านตำรวจคู่กรณีถูกควบคุมตัวไปสอบปากคำแล้ว
ชุมนุมใหญ่ในเมียนมาในรอบ 14 ปี -สั่งย้าย ‘ซูจี’ ไปกักตัวที่เนปิดอว์
ชาวเมียนมาหลายเมืองทั่วประเทศ ออกมาชุมนุมประท้วงต่อเนื่องกันตั้งแต่สุดสัปดาห์ ไม่พอใจเรื่องการยึดอำนาจ และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา เป็นการชุมนุมใหญ่ที่สุดในรอบ 14 ปี ส่วนที่เมืองย่างกุ้ง เริ่มมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใช้งานได้แล้ว หลังถูกตัดไป
เจ้าหน้าที่ทหารอาวุโสของเมียนมา เปิดเผยว่า นางซูจี มีสุขภาพแข็งแรงดี ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวที่บ้านพักของเธอ นายวิน มินต์ ประธานาธิบดีเมียนมา และนางซูจี ถูกควบคุมตัวโทษฐานฝ่าฝืนกฎหมายการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ และกฎหมายการนำเข้าและส่งออก จนถึงวันที่ 15 ก.พ.64
รายงานระบุว่า นางซูจี ถูกพาย้ายจาก Counsellor Home ไปกักบริเวณ ที่บ้านพักส่วนตัวที่ Rose Garden ในกรุงเนปิดอว์ตั้งแต่คืนวันที่ 6 ก.พ.64
ท่ามกลางการชุมนุมประท้วง กระทรวงสาธารณสุขและการกีฬาของเมียนมา แถลงว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 200 คน ทำให้เมียนมามีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 141,304 คน นอกจากนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้น 5 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 3,168 ราย
จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเมียนมา พุ่งขึ้นอย่างมาก นับตั้งแต่ที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อเป็นครั้งแรกเพียง 2 คน เมื่อวันที่ 23 มี.ค.63
กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมียนมาได้เริ่มการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชน เริ่มต้นจากกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี รวมทั้ง เจ้าหน้าที่รัฐบาล เมียนมาได้รับวัคซีน Covishield จากอินเดียจำนวน 1,500,000 โดส
ย้ำชัด! ไบเดน ไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ยืนยันว่า จะไม่ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร จนกว่าอิหร่านจะหยุดเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียม เพื่อกลับไปเจรจาข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์กันอีกครั้ง ตอกกลับอิหร่านที่เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกการคว่ำบาตร หากต้องการให้พวกเขากลับไปปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำไว้เมื่อปี 2558
นายไบเดน ให้สัมภาษณ์กับนางนอราห์ โอดอนเนลล์ บรรณาธิการข่าวและพิธีกรของรายการ CBS Evening News เป็นการออกรายการข่าวครั้งแรกของนายไบเดน ตั้งแต่สาบานตนเมื่อ 20 ม.ค.64 นางโอดอนเนลล์ ถามว่า สหรัฐฯ จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรก่อนเพื่อให้อิหร่านกลับมาเจรจาหรือไม่ นายไบเดน ตอบว่าไม่ และเมื่อถามว่า อิหร่านต้องหยุดการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมก่อน จึงจะมีการยกเลิกคว่ำบาตรหรือไม่ นายไบเดน พยักหน้าเป็นการตอบรับ
ภายใต้ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ที่มหาอำนาจ 6 ชาติรวมทั้งสหรัฐฯ เห็นชอบเมื่อปี 58 กำหนดให้อิหร่านจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของตัวเองในหลายๆทาง แลกกับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่ในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงนี้ในปี 61 และกลับมาคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง ขณะที่ อิหร่านก็กลับมาเสริมสมรรถะแร่ยูเรเนียมตามเดิม