สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือ กทม. หลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) ซึ่งมีพล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยง (Sentinel Surveillance ) ของโรงงานในพื้นที่ 6 เขต ได้แก่ ภาษีเจริญ บางแค หนองแขม บางบอน จอมทอง และบางขุนเทียน ปัจจุบัน (4 ก.พ. 64) ดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 113 แห่ง แรงงานที่ผ่านการตรวจฯ รวม 13,042 คน พบผู้ติดเชื้อรวม 54 คน โดยขณะนี้ กทม.พบผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 63 - 5 ก.พ. 64 รวม 820 คน
นอกจากนั้นกรุงเทพมหานคร ได้เปิดไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 15 คน หลังได้เปิดTimelineไปแล้ว 729 คน พบว่า เป็นไทม์ไลน์แรงงานเมียนมา 11 คน พนักงานโรงงานคนไทย 3 คน แบ่งเป็นชาย 1 คน และหญิงอีก 2 คน รวมทั้งยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19จากเพื่อนที่ร่วมงานเลี้ยงวันที่ 9 ม.ค.64 หลังเข้ารับการตรวจแบบไดร์ฟทรู ที่โรงพยาบาล เมื่อวันที่ 20 ม.ค.64 หลังจากนั้น เข้ากักตัวที่สถานกักตัวตั้งแต่วันที่ 21-26 ม.ค. 64และรู้ผลการตรวจหาเชื้อในวันที่ 27 ม.ค.64
ศบค.กทม.ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานเขตที่ดูแลพื้นที่เสี่ยง อาทิ เขตบางขุนเทียน บางบอน ภาษีเจริญ บางแค หนองแขม และจอมทอง แจ้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงาน และเจ้าของสถานประกอบการในพื้นที่ กำชับให้แรงงานดาวน์โหลดแอปพลิเคชันหมอชนะ เพื่อประโยชน์ในการติดตามและสอบสวนโรค รวมทั้งให้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานหากมีการจัดทำโรงอาหารภายในโรงงานให้เว้นระยะห่างระหว่างที่นั่ง และควรหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตลอดจนให้สำนักงานเขตทุกเขตกำชับผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตที่เป็นพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ ได้ขอให้สำนักงานเขต แจ้งเตือนประชาชนถึงความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อาทิ การจัดงานเลี้ยงในพื้นที่ส่วนตัวที่อาจมีการดื่มกินร่วมกัน หรือรวมกลุ่มในสถานที่เดียวกันเป็นจำนวนมากหรือเป็นเวลานาน หรือการรับประทานอาหารรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นต้น โดยขอความร่วมมือประชาชนให้ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตามที่ราชการกำหนด และงดเว้นการรวมกลุ่มรับประทานอาหารในสำนักงานหรือสถานประกอบการ เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อโควิด-19
ก่อนหน้านี้ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผย ผลวิเคราะห์เกี่ยวกับการติดเชื้อในชุมชนเมือง โดยเฉพาะการจัดเลี้ยงส่วนตัว สถานที่ทำงานยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง โดยมีตัวอย่างจากการสอบสวนโรคใน กทม.ที่พบการติดเชื้อในสำนักงานแห่งแรก เป็นคลินิกเสริมความงาม มีพนักงาน 7 คน ปรากฏว่าติดเชื้อ 5 คน ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการรับประทานอาหารร่วมกันทุกวัน มีการพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร ไม่ได้ใช้ช้อนกลาง แห่งที่สอง เป็นแผนกหนึ่งในบริษัทแห่งหนึ่งที่ กทม. มีพนักงาน 10 คน ติดเชื้อ 9 คน เนื่องจากผู้ติดเชื้อทุกคนไม่สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติงาน พูดคุยใกล้ชิดเป็นเวลานาน ดังนั้น จากนี้ไปสถานประกอบการต่างๆ ต้องยกการ์ดสูงให้เป็นพิเศษ แม้อยู่ห้องเดียวกันแต่อย่าวางใจ ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
กทม.ย้ำว่า การแจ้งข้อมูลการสอบสวนโรค จะรายงานข้อมูลที่ไม่พาดพิงถึงบุคคลก่อนที่จะได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาตรา 10