คนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ‘เราชนะ’ ขอทบทวนสิทธิ 8 ก.พ.-8 มี.ค.
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการ
เสนอ 'ม.33 เรารักกัน'เข้าครม.15 ก.พ.
หลังชี้แจงทำความเข้าใจ 39 องค์กรแรงงาน “โครงการ ม.33 เรารักกัน” นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เตรียมเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือ ครม.ในวันที่ 15 ก.พ.64 โดยเป็นจ่ายเงินเยียวยาผู้ประกันตนจำนวน 9,300,000 คน คนละ 4,000 บาท แบ่งจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท มีรายละเอียดดังนี้
-เปิดลงทะเบียนออนไลน์วันที่ 16-28 ก.พ. 64 ผ่าน www.ม.33 เรารักกัน.com
-1-7 มี.ค.64 จะมีการตรวจสอบข้อมูลกับฐานข้อมูล
-8-14 มี.ค.64 คัดกรองผู้ได้รับสิทธิ
หลังจากนั้นผู้ลงทะเบียนที่ผ่านคัดกรองกดยืนยันรับสิทธิผ่านแอปพลิเคชัน เป๋าตัง เริ่มจ่ายเงินผู้ประกันตนทุกวันจันทร์ ที่ 15 ,22, 29, มี.ค.64 และ 5 เม.ย. 64 แต่มีเงื่อนไขผู้ที่มีเงินฝากเกิน 500,000 บาท จะไม่ได้รับสิทธิ และสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. 64 เช่นเดียวกับโครงการเราชนะ
ส่วนคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือไม่สามารถโหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังได้ อาจให้ใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด ยืนยันตัวตนแทน พร้อมยืนยันได้เตรียมแผนสำรองในการลงทะเบียนออนไลน์หากพบปัญหาในการลงทะเบียน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มองค์กรแรงงานได้สอบถามถึงประเด็นโครงการ ม.33 เรารักกัน จำนวนเงินที่ได้น้อยเกินไปเพียง 4,000 บาท หากเทียบกับชัยชนะ 7,000 บาท รวมถึงข้อจำกัดเงื่อนไขผู้ที่มีเงินฝากเกิน 500,000 บาท จะไม่ได้รับสิทธิ และลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ –รัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เข้าประกันสังคมจะไม่ได้สิทธิ
ศบค.ยก 4 เคส เตือนติดเชื้อกลุ่มก้อนในกทม. แค่ 1 ดริงค์ ก็อันตรายแล้ว
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชี้แจงถึงปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 จากการจัดงานเลี้ยงส่วนตัว เนื่องจากร้านอาหารไม่สามารถเปิดให้บริการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน ยกตัวอย่างการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในกรุงเทพมหานคร ที่เกิดจากการจัดงานเลี้ยงส่วนตัว 4 เหตุการณ์ คือ
1. การจัดงานเลี้ยงที่มีผู้ร่วมงาน 30 คน ทำให้เกิดผู้ติดเชื้อ 9 คน
2. การจัดงานเลี้ยงที่มีผู้ร่วมงาน 13 คน มีผู้ติดเชื้อ 10 คน
3. การจัดงานเลี้ยงที่มีผู้เข้าร่วมงาน 7 คน มีผู้ติดเชื้อทั้ง 7 คน
4. การจัดงานเลี้ยงที่มีผู้เข้าร่วมงาน 16 คน ติดเชื้อทั้งหมด 16 คน
พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อของผู้ร่วมงานเลี้ยงส่วนตัว คือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก้วเดียวกัน อยู่ในสถานที่แออัดร่วมงานเป็นเวลานาน ใช้มือหยิบจับอาการและน้ำแข็ง โดยเฉพาะหลังจากมึนเมา มีการเต้นรำใกล้ชิดกัน ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สะท้อนได้ว่า แม้ว่าจะพยายามจัดงานเลี้ยงอย่างรัดกุม มีการเว้นระยะห่าง แต่เมื่อมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป 1-2 ดริงค์ จะเริ่มมีอาการเฉื่อยชา การตอบสนองช้าลง และขาดความยับยั้งชั่งใจ เสียการควบคุมตัวเอง เริ่มไม่ระมัดระวังตัวเอง จึงเป็นเหตุผลว่า แม้จะมีมาตรการคุมเข้มอย่างไร ก็จะเกิดการหละหลวม
ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า เบียร์จำนวน 1 ดริงค์ เท่ากับเบียร์ขนาด 330 CC แอลกอฮอล์ 4% จำนวน 1 กระป๋อง, ไวน์ 1 ดริงค์ เท่ากับ 1 แก้ว ขนาด 100 CC แอลกอฮอล์ 12.5%, วิสกี้ แอลกอฮอล์ 40% 1 ดริงค์ เท่ากับ 30 CC หรือ 1 ช้อนโต๊ะ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ร่วมงานเลี้ยง มักจะดื่มเกินกว่านี้ ดังนั้นหากสถานบันเทิง ร้านอาหารที่ต้องการขายแอลกอฮอล์ จะต้องเสนอมาตรการว่าจะควบคุมดูแลอย่างไร ไม่ให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ
ส่วนการติดเชื้อในสถานที่ทำงานในกรุงเทพฯ ยกตัวอย่าง 2 กรณี คือ
1. สำนักงานคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง มีพนักงาน 7 คน ติดเชื้อ 5 คน
2. แผนกหนึ่งในบริษัทแห่งหนึ่ง มีพนักงาน 10 คน ติดเชื้อ 9 คน
พฤติกรรมเสี่ยงส่วนใหญ่ คือ การรับประทานอาหารร่วมกัน มีการพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร ไม่ใช้ช้อนกลาง หรือไม่สวมหน้ากากอนามัยขณะทำงานอยู่ในห้องเดียวกันหรือนั่งรถรับ-ส่งพนักงานคันเดียวกัน ดังนั้น หลังจากนี้ องค์กรหรือสถานที่ทำงานต่างๆ ต้องยกระดับเข้มข้นให้สวมหน้ากากอนามัยขณะทำงานในห้องเดียวกันด้วย ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมคนไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับองค์การอนามัยโลกสำนักงานเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก พบว่า เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการ ก็เริ่มมีพฤติกรรมการ์ดตกลงไปด้วย รวมทั้งการเดินทางออกต่างจังหวัดก็มีเพิ่มมากขึ้นในช่วงผ่อนคลายมาตรการด้วย
นอกจากนี้ ศบค.ยังหารือกันเกี่ยวกับกรณีผู้มีความเสี่ยงสูง หรือผู้ที่สัมผัสผู้ติดเชื้อ ไอจามรดกัน พูดคุยกันเกิน 5 นาที อยู่ในสถานที่ปิดเกิน 15 นาทีโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งคนกลุ่มนี้จะต้องกักตัวเองที่บ้านเพื่อสังเกตอาการ แต่บางคนไม่กักตัว โดยให้เหตุผลว่า ที่บ้านมีคนอยู่เยอะ หรือสถานที่คับแคบ กักตัวลำบาก ซึ่ง ศบค.จะทบทวนมาตรการเกี่ยวกับสถานที่กักตัวทั้งของรัฐและของเอกชน ว่าจะให้ผู้มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ เข้ากักตัวในสถานที่กักตัวแบบสมัครใจได้หรือไม่ ซึ่ง ศบค.จะนำไปหารือกันเกี่ยวกับรูปแบบและค่าใช้จ่าย ในสัปดาห์หน้า
จ.สระแก้ว พบผู้ติดเชื้อ 1 คน เป็นหญิงชาวกัมพูชา
ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำวันที่ 5 ก.พ.64
1. ผู้ป่วยรายใหม่ 586 คน แบ่งเป็น
- ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 47 คน
- ผู้ป่วยจากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 526 คน
- ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกัน 13 คน
2. ผู้ป่วยยืนยันสะสม 22,644 คน
3. หายป่วยแล้ว 15,331 คน
4. ผู้เสียชีวิตสะสม 79 ราย
-ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ เฉพาะกรุงเทพมหานคร มีการติดเชื้อเพิ่มวันนี้ 18 คน แบ่งเป็นคนไทย 14 คน และเมียนมา 4 คน ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง
-ผู้ติดเชื้อที่จังหวัดสมุทรสาคร ยังคงมีจำนวนมาก เนื่องจากยังมีการค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง
-จังหวัดตาก แม้ว่าจะมีการลาดตระเวนตามแนวชายแดนอย่างเข้มงวด แต่ก็ยังพบผู้ติดเชื้อวันนี้ เพิ่มขึ้น 3 คน
-จังหวัดสระแก้ว พบผู้ติดเชื้อ 1 คน เป็นหญิงชาวกัมพูชา จากการค้นหาเชิงรุกในผู้ต้องหาแรกรับ ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ ตรวจไม่พบเชื้อทั้ง 2 ครั้ง แต่พบเชื้อในการตรวจครั้งที่ 3
-ในเอเชีย มีประเทศที่ต้องจับตา คือ เมียนมา ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูง ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศ เวียดนามที่เพิ่งพบการระบาดรอบใหม่ และมาเลเซียที่ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงอยู่
-ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนทั่วโลก ขณะนี้ฉีดไปแล้วมากกว่า 90 ล้านโดส ในคนจำนวน 45 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา จีน อังกฤษ และอิสราเอล มีการคาดการณ์ว่าการฉีดวัคซีนจะช่วยให้การติดเชื้อลดลง ลดความรุนแรงของโรค และลดการระบาด แต่ยังต้องจับตาเรื่องผลกระทบของการฉีดวัคซีน
‘นพ.ยง’ หนุนไทยเจรจาวัคซีนกับจีน-รัสเซีย
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ในหลายประเทศที่ได้ฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากให้กับประชากร เริ่มเห็นผลกระทบในวงกว้างบ้างแล้ว เช่น ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา หลังมีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศจำนวนมาก จำนวนผู้ป่วยต่อวัน ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับยอดผู้ป่วยสูงสุดในช่วงปีใหม่ ส่วนในอิสราเอล ผู้ที่ฉีดวัคซีนกับผู้ที่ไม่ได้ฉีด ก็มีอัตราการเป็นโรคที่แตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่า วัคซีนไม่ใช่เพียงแค่ลดความรุนแรงของโรค หรือลดอัตราการเสียชีวิต แต่ยังลดการแพร่ระบาดของโรค หรือลดการติดต่อของโรคได้ แสดงให้เห็นว่าวัคซีนเป็นอาวุธที่สำคัญ ในการต่อสู้กับโควิด-19 ตลาดวัคซีนจึงมีการแย่งชิงกันอย่างมาก
ศ.นพ.ยง ระบุว่า ประเทศไทย ไม่ควรรอวัคซีนจากประเทศตะวันตกเพียงอย่างเดียว แต่ควรใช้ความสัมพันธ์ระดับประเทศ เชิงนโยบาย หรือระดับรัฐบาลที่มีความสนิทสนม เจรจา ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนของจีนหรือรัสเซีย ซึ่งผ่านการศึกษาระยะที่ 3 มาแล้วทั้งนั้น มีการใช้เป็นล้านโดส และขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉินแล้วในหลายหลายประเทศ ซึ่งหากไทยได้วัคซีนมาเร็วเท่าไหร่ ก็จะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้เร็วเท่านั้น การเดินทาง การท่องเที่ยว จะได้มีการฟื้นฟู เพื่อเศรษฐกิจของประเทศ