ใกล้จะถึงหน้าแล้งแล้ว หลายจังหวัดที่เคยมีปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ก็ต้องเริ่มหาแนวทางในการแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับการเพาะปลูกในพื้นที่ กรมชลประทาน ก็เป็นหน่วยงานหลัก ที่จะมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน ประเมินว่า สถานการณ์น้ำอุปโภคบริโภคในปีนี้ ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะกรมชลประทานสำรองน้ำไว้เพียงพอ แต่ที่น่าเป็นห่วง คือน้ำสำหรับทำการเกษตร เนื่องจากปี 2563 ฤดูฝนมาช้า ทำให้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกช้าตามไปด้วย เมื่อเข้าสู่ต้นปีนี้ ฝนเริ่มหมดไปตามฤดูกาล แต่ผลผลิตยังไม่เก็บเกี่ยว และมีพื้นที่เสี่ยงจะประสบภัยแล้ง 40 จังหวัด ส่วนมากเป็นพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และภาคอีสานบางจังหวัด กรมชลประทานจึงต้องเข้าไปช่วยเหลือด้วยการส่งเครื่องจักร เครื่องมือ ลงไปบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน เช่น เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแบ็กโฮ กว่า 5,000 หน่วย ที่จะกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมให้คำแนะนำเกษตรกร ให้เปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยไปก่อน เนื่องจากไม่ต้องใช้น้ำเพาะปลูกมาก ระยะเวลาเก็บเกี่ยวรวดเร็วด้วย



.jpg)
ซึ่งในวันนี้ (4 ก.พ.64) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาตรวจเยี่ยมความพร้อมของเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ และเป็นประธานในพิธีปล่อยคาราวานเครื่องจักร เครื่องมือ สำหรับช่วยเหลือและบรรเทาภัยแล้ง พร้อมกับประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ เพื่อมอบนโยบายให้ทุกพื้นที่ จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำของตัวเอง เพราะแต่ละพื้นที่ มีความพร้อมไม่เท่ากัน สภาพแวดล้อมไม่เหมือนกัน จึงไม่อยากใช้วิธีตัดเสื้อตัวเดียวใส่กันทั้งประเทศ จึงอยากให้แต่ละพื้นที่วางแผนของตัวเอง แล้วประสานมายังส่วนกลาง เพื่อขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณและเครื่องมือ รวมทั้งให้ทำงานประสานกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาได้รวดเร็วและตรงจุด