การระบาดเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ งานเลี้ยงโต๊ะแชร์ที่จังหวัดมหาสารคาม นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ผู้ป่วยรายแรกจากกลุ่มนี้ มีประวัติเดินทางกลับจากกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 ม.ค.64 หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตตามปกติ ไปยังสถานที่ต่างๆ และเปิดร้านคอมพิวเตอร์อยู่ที่บ้าน ซึ่งเวลาอยู่ที่บ้าน หากไม่มีลูกค้าก็มักจะไม่สวมหน้ากากอนามัย
ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ ในวันที่ 10 ม.ค.64 และเริ่มปวดเมื่อยตามตัว ในวันที่ 18 ม.ค.64 แต่ระหว่างนั้นยังไม่ได้ไปพบแพทย์ และมีการไปร่วมงานเลี้ยงต่างๆ หลายงาน จนกระทั่งวันที่ 23 ม.ค.64 ยังมีอาการป่วย จึงไปพบแพทย์ที่ศูนย์แพทย์ แต่อาการยังไม่ดีขึ้น และในวันที่ 27 ม.ค.64 จึงส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลมหาสารคาม แพทย์ขอตรวจหาเชื้อโควิด-19 ซึ่งผลออกมาพบว่าติดเชื้อ
ในวันที่ 28 ม.ค.64 มีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมอีก 5 คน คือ ภรรยาของผู้ป่วยชายรายนี้ และผู้ที่นั่งกินเลี้ยงด้วยกันอีก 4 คน ผู้ติดเชื้อเหล่านี้ ยังนำเชื้อกลับไปแพร่ต่อยังคนในครอบครัว ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เช่น ในรายของเด็กหญิงอายุ 4 เดือน ที่จังหวัดราชบุรี ติดจากคนในครอบครัวที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยรายแรกจากงานเลี้ยงโต๊ะจีน จากนั้นในวันที่ 29 ม.ค.64 ก็พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และมีการตรวจเชิงรุกในวันที่ 30 ม.ค.64
เบื้องต้น จากคลัสเตอร์งานเลี้ยงโต๊ะแชร์ ทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้ว 16 คน ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 78 คน และสัมผัสเสี่ยงต่ำ 32 คน ซึ่งขณะนี้ยังรอผลตรวจหาเชื้ออีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งการสอบสวนโรคเพิ่มเติมจากผู้ติดเชื้อกลุ่มก้อนเดียวกันที่เดินทางไปจังหวัดขอนแก่น
นพ.เฉวตสรร ระบุว่า การจัดงานเลี้ยงต่างๆ เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เพราะในงานย่อมมีการรับประทานอาหาร มีการดื่มเครื่องดื่ม ซึ่งต้องถอดหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกัน มีการหัวเราะ และอาจจะมีการไอจามใส่กัน รวมทั้งบรรยากาศในงานเลี้ยง ก็อาจทำให้พฤติกรรมการดูแลตัวเองย่อหย่อนไป ดังนั้นในช่วงนี้ ขอให้งดเว้นการจัดงานเลี้ยงทุกประเภท เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด