แม่ทัพภาค 3 สั่งตรึงกำลังแนวชายแดน ห่วงชาวเมียนมา ลอบเข้าเมือง
สถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา เช้าวันนี้ (1 ก.พ.64) ยังมีการขนส่งสินค้าระหว่าง อ.แม่สาย จ.เชียงรายกับจังหวัดท่าขี้เหล็ก ที่จุดผ่านแดนสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 ตามปกติ แต่ต่อมา เวลาประมาณ 9.30 น. มีคำสั่งจากกองทัพเมียนมา ให้ปิดด่านพรมแดนท่าขี้เหล็กทันที ขณะที่ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย /ตองยิน แห่งที่ 2 ระหว่างเมียนมากับ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ก็ปิดห้ามเดินทางเข้า-ออกแล้วเช่นกัน
พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 สั่งให้ทหารในพื้นที่จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับเมียนมา ส่งกำลังตรึงชายแดนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันแรงงานต่างด้าวที่อาจจะลักลอบเข้ามา และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่แล้ว ทางการไทยเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับกรณีมีผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบเข้ามา และเป็นการจัดพื้นที่เพื่อรอการผลักดันกลับไปเท่านั้น
ด้าน น.ส.ผกายมาส เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานหอการค้า อ.แม่สาย ระบุว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ฝั่งเมียนมาได้ปิดด่านแม่สายแห่งที่ 2 และด่านหมากยาง ซึ่งเป็นด่านนำเข้าส่งออกสินค้าของจังหวัดท่าขี้เหล็ก ทำให้ไม่สามารถนำสินค้าใดๆ ผ่านเข้าไปจังหวัดชั้นในของเขตรัฐฉานได้ หลังจากนี้ ภาคเอกชนชายแดนที่ทำการค้ากับทางเมียนมาต้องประเมินทิศทางของกองทัพเมียนมาว่าจะมีคำสั่งอย่างไร
เมียนมา ถ่ายโอนอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
สถานการณ์ที่เมียนมา กองทัพเมียนมามีคำสั่งให้ประเทศอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี พร้อมมีคำสั่งให้ถ่ายโอนอำนาจการปกครองให้พลเอกมิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
ประชาชนในนครย่างกุ้ง แห่ถอนเงินสดจากตู้ ATM ของธนาคารต่างๆ คาดว่า จะเกิดปัญหาเงินสดตึงตัว(cash crunch)ในอีก 2-3 วันข้างหน้า ขณะเดียวกันตู้ ATM บางแห่งเสีย เบิกเงินสดไม่ได้ มีข่าวลือว่าธนาคารจะไม่เปิดให้บริการในวันนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าธนาคารจะเปิดให้บริการตามปกติเมื่อใด
ระบบอินเตอร์เน็ตและระบบโทรศัพท์ ล่มในเมืองใหญ่ๆ เช่น กรุงเนปิดอว์และนครย่างกุ้ง
ขณะที่ สถานีโทรทัศน์ MRTV ของรัฐ มีปัญหาขัดข้องทางเทคนิค และยังไม่สามารถออกอากาศได้ตั้งแต่เช้าวันนี้ การที่ระบบโทรคมนาคมล่มในกรุงเนปิดอว์ ทำให้ยากที่จะประเมินสถานการณ์อย่างชัดเจน
ชาวเมียนมา พูดคุยเรื่องการยึดอำนาจของกองทัพ แต่ส่วนใหญ่ไม่รู้สึกตื่นตระหนก ใช้ชีวิตตามปกติ
คลัสเตอร์โต๊ะแชร์ ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง-ต่ำกว่า 100คน
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึง กรณีการติดเชื้อภายในงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ที่จังหวัดมหาสารคาม โดยเริ่มจากผู้ป่วยชายรายแรกของกลุ่มนี้ เดินทางไปกรุงเทพฯ และเชื่อว่ามีการติดเชื้อที่กรุงเทพฯ จากนั้นเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดมหาสารคามในวันที่ 3 ม.ค.64 แม้ว่าจะเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว แต่ระหว่างทางแวะเยี่ยมพี่สาวที่จังหวัดนครราชสีมา ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 8 คน
เมื่อผู้ป่วยชายรายนี้เดินทางกลับบ้านที่จังหวัดมหาสารคาม ก็ยังไปตลาด ไปร้านสะดวกซื้อ และสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมทั้งยังไปงานเลี้ยงโต๊ะแชร์อีก 5-6 งาน ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 78 คน เสี่ยงต่ำอีก 32 คน ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังสอบสวนโรคเพิ่มเติม เพื่อยืนยันในรายละเอียดเส้นทางการติดเชื้อ
พญ.อภิสมัย ระบุว่า สิ่งสำคัญจากคลัสเตอร์โต๊ะแชร์นี้ คือผู้ติดเชื้อจากงานเลี้ยง ยังนำเชื้อกลับไปติดคนที่บ้าน เช่น กรณีเด็กอายุ 4 เดือนที่จังหวัดราชบุรี ก็ติดเชื้อจากคนในบ้านที่ไปงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ รวมทั้งการจัดงานเลี้ยงในลักษณะนี้ จะมีการดื่มสุรา รับประทานอาหาร อยู่รวมกันในสถานที่ปิด มีการพูดคุยเสียงดังและอาจจะมีการไอจามใส่กัน นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ติดเชื้อเหล่านี้ ไม่มีการสแกนไทยชนะ ไม่มีแอปพลิเคชันหมอชนะ ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ทำไม ศบค.จึงยังไม่อนุญาตให้มีการดื่มสุราในร้านอาหาร
ตามที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ออกประกาศ เรื่องมาตรการและการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ฉบับที่ 16 แล้ว มีการสั่งทำงานที่บ้านและเรียนออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1-5 ก.พ.64
แฟ้มภาพ สำนักงานสาธารณสุข จ. มหาสารคาม
ตลาดกลางกุ้ง ปิดจนถึง 15 ก.พ. หากฝ่าฝืน คุกไม่เกิน 1 ปี-ปรับไม่เกิน 100,000 บาท
นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร รักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ออกคำสั่งจังหวัดสมุทรสาคร ลงวันที่ 31 ม.ค.64 ให้ปิดการซื้อขายในตลาดกลางกุ้งไปจนถึงวันที่ 15 ก.พ.64 นี้ เนื่องจากขณะนี้ สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร กำลังอยู่ระหว่างคัดแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกจากพื้นที่และสอบสวนโรคผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งที่ตลาดกลางกุ้ง อาคารหอพักศรีเมือง และอาคารที่พักอาศัยอื่นๆ ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จึงต้องมีการปรับปรุงสภาพพื้นที่และที่อยู่อาศัย โดยมีรายละเอียดคำสั่ง
1.ห้ามเปิดดำเนินกิจการใด ๆ โดยให้หยุดการซื้อ การขาย การค้า และการทำการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปกุ้งและสัตว์น้ำประเภทอื่น ในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง ต.มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการแก้ไขปรับปรุงการสุขาภิบาลให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
2.ให้ปรับปรุงอาคารหรืออาคารที่พักอาศัยในตลาดกลางกุ้ง โดยจะต้องตรวจสอบความแข็งแรงของอาคาร อุปกรณ์ส่วนควบ กำหนดจำนวนผู้พักอาศัยให้สอดคล้องกับขนาดพื้นที่และจำนวนห้องพัก ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคซ้ำอีก
3.เมื่อดำเนินการตามข้อ 1 หรือข้อ 2 แล้ว ให้เสนอแนวทางปรับปรุงตลาด ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครพิจารณา และเมื่อดำเนินการปรับปรุงตามที่เสนอเสร็จ จึงสามารถดำเนินการกิจการซื้อขาย คัดแยก แปรรูปกุ้งและสัตว์น้ำประเภทอื่นได้ หรือเปิดดำเนินการในอาคารหรืออาคารที่พักอาศัยได้ ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กทม.เพิ่มขั้นตอนตรวจสอบก่อนเผยแพร่ Timeline เน้นถูกต้อง-รวดเร็ว
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ชี้แจงขั้นตอนการจัดทำไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคจะใช้ข้อมูลจากสถานพยาบาล ประกอบจากการสัมภาษณ์ผู้ติดเชื้อและจากข้อมูลการสอบสวนโรค แล้วจัดทำเป็นชุดข้อมูล เพื่อเสนอคณะทำงานพิจารณา แล้วจึงจัดทำเป็นไทม์ไลน์ เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการจัดทำไทม์ไลน์ จำเป็นต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็วเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และป้องกันตนเองได้ทันเวลา ทำให้ต้องจัดทีมผู้สอบถามข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางและอาจไม่มีความชำนาญในพื้นที่ จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนของการรายงานสถานที่ เช่น กรณีการระบุไทม์ไลน์ถึงร้านไอศครีม iberry ผิดสาขา โดยจากข้อมูลที่ผู้ป่วยทั้ง 2 คนแจ้งว่า ไปร้านโรงสีโภชนา เขตสาทร รายงานเป็นร้านโรงสีโภชนา เขตปทุมวัน ในครั้งที่ 1 และร้านโรงสีโภชนา เขตปทุมวัน ในครั้งที่ 2
กรุงเทพมหานคร ขอรับข้อแนะนำเพื่อทบทวนกระบวนการจัดทำไทม์ไลน์ โดยจะตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและสถานที่จากผู้ป่วยและพื้นที่ ก่อนเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนในครั้งต่อไป
จากกรณีดังกล่าว กรุงเทพมหานคร ได้เข้าไปตรวจสอบร้านอาหารโรงสีโภชนา ทุกสาขา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่ามีความปลอดภัยและไม่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ