พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อภายในงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ที่จังหวัดมหาสารคาม โดยผู้ป่วยชายรายแรกของกลุ่มนี้ เดินทางไปกรุงเทพมหานคร และเชื่อว่ามีการติดเชื้อที่กรุงเทพฯ จากนั้นเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดมหาสารคามในวันที่ 3 ม.ค.64 แม้ว่าจะเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว แต่ระหว่างทางแวะเยี่ยมพี่สาวที่จังหวัดนครราชสีมา ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 8 คน
เมื่อผู้ป่วยชายรายนี้เดินทางกลับบ้านที่จังหวัดมหาสารคาม ก็ยังไปตลาด ไปร้านสะดวกซื้อ และสถานที่สาธารณะต่างๆ รวมทั้งยังไปงานเลี้ยงโต๊ะแชร์อีก 5-6 งาน ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 78 คน เสี่ยงต่ำอีก 32 คน ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังสอบสวนโรคเพิ่มเติม เพื่อยืนยันในรายละเอียดเส้นทางการติดเชื้อ เบื้องต้นมีผู้ติดเชื้อแล้ว 16 คน
พญ.อภิสมัย ระบุว่า สิ่งสำคัญจากคลัสเตอร์โต๊ะแชร์นี้ คือผู้ติดเชื้อจากงานเลี้ยง ยังนำเชื้อกลับไปติดคนที่บ้าน เช่น กรณีเด็กอายุ 4 เดือนที่จังหวัดราชบุรี ก็ติดเชื้อจากคนในบ้านที่ไปงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ รวมทั้งการจัดงานเลี้ยงในลักษณะนี้ จะมีการดื่มสุรา รับประทานอาหาร อยู่รวมกันในสถานที่ปิด มีการพูดคุยเสียงดังและอาจจะมีการไอจามใส่กัน นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ติดเชื้อเหล่านี้ ไม่มีการสแกนไทยชนะ ไม่มีแอปพลิเคชันหมอชนะ ทำให้การสอบสวนโรคเป็นไปอย่างยากลำบาก ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ทำไม ศบค.จึงยังไม่อนุญาตให้มีการดื่มสุราในร้านอาหาร
พญ.อภิสมัย ระบุว่า ทาง ศบค.ขอให้ร้านอาหาร สถานประกอบการ ช่วยเสนอมาตรการกำกับดูแลป้องกันการแพร่ระบาดในร้านของตัวเองอย่างไร ซึ่ง ศบค.จะช่วยพิจารณาว่า เป็นไปได้หรือไม่ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้และการควบคุมโรคก็ยังมีประสิทธิภาพด้วย โดยขณะนี้ ศบค.ได้ผ่อนคลายให้ทำกิจกรรม กิจการต่างได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่สามารถทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น 0 แต่ต้องการการคัดกรองที่ให้พบผู้ติดเชื้อโดยเร็ว เพื่อให้สอบสวนโรคได้เร็วและไม่มีการปกปิดไทม์ไลน์ จะทำให้เกิดการคัดกรองผู้สัมผัสใกล้ชิดได้เร็ว นำไปสู่การรักษาที่รวดเร็วและจำกัดวงการแพร่กระจายได้ ซึ่งการพบผู้ติดเชื้อบ้างในจำนวนน้อย ระบบสาธารณสุขของไทยยังสามารถรับมือได้