เริ่ม 1 ก.พ.! ศบค.ผ่อนคลายขยายเวลาให้นั่งกินอาหารที่ร้านได้มากขึ้น
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เปิดเผยผลการประชุมศบค.ชุดใหญ่ เรื่องมาตรการผ่อนคลายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีการกำหนดเขตพื้นที่สถานการณ์ เป็น 5 ระดับ คือ
1.เฝ้าระวัง (สีเขียว ) 35 จังหวัด
2.เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 17 จังหวัด
3.ควบคุม (สีส้ม) 20 จังหวัด
4.ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ
5.ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร
สำหรับหลักปฎิบัติในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จังหวัดสมุทรสาคร
-ปิดสถานที่ งดกิจกรรม กิจการต่างๆ เหมือนเดิม เช่น ปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สนามมวย สนามกีฬา ฟิตเนส สนามชนไก่ สนามชนวัว สนามกัดปลา บ่อน สนามพระเครื่อง กิจการอาบน้ำ อาบอบนวด สปา นวดแผนไทย ห้างสรรพสินค้า โรงเรียนสถานศึกษา สนามเด็กเล่น ร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต การประชุมงานเลี้ยง หรือกิจกรรมงานประเพณีที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก การจัดแสดงสินค้าและสถานีขนส่งสาธารณะ
-ส่วนที่เปิดบริการได้ในจังหวัดสมุทรสาคร เช่น ตลาดนัด ตลาด แต่ต้องจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ มีมาตรการเว้นระยะห่าง ส่วนร้านอาหาร เปิดให้นั่งรับประทานในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. และงดดื่มสุราในร้าน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เปิดได้ถึง 21.00 น. โรงแรมที่พัก เปิดบริการได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันโรคและจัดระบบติดตามตัวผู้เดินทางเข้าออกทุกคน ศูนย์เด็กเล็กและสถานที่พักผู้สูงวัยแบบพักประจำ
พื้นที่ควบคุมสูงสุด 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีมาตรการ ดังนี้
1.ปิด สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยปิดสถานที่ แต่ให้ซื้ออาหารไปรับประทานที่อื่นได้
2.เปิดร้านอาหาร จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ให้นั่งรับประทานที่ร้านได้ถึง 23.00 น. แต่ต้องจำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ มีมาตรการเว้นระยะห่าง และห้ามจำหน่ายสุราในร้าน แต่ซื้อกลับได้
3.เปิดการเรียนการสอน การสอบและการฝึกอบรม โดยแต่ละโรงเรียนสามารถพิจารณาลักษณะการเรียนการสอนผสมผสาน ระหว่างเรียนออนไลน์ หรือเรียนที่โรงเรียนได้ แต่ต้องงดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก กรณีโรงเรียนที่มีนักเรียนทั้งหมดไม่เกิน 120 คน หรือโรงเรียน ตชด.ทุกพื้นที่ เปิดเรียนตามปกติ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด
3.เปิดการประชุมสัมมนา จัดเลี้ยง แจกอาหาร แต่จำกัดผู้ร่วมงานไม่เกิน 100 คน งดดื่มสุรา งดแสดงดนตรีที่มีการเต้นรำ เน้นใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ
4.เปิดห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต คอมมูนิวตี้มอลล์ ร้านสะดวกซื้อ เปิดได้ตามเวลาปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันโรค และงดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก
5.เปิดศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม นิทรรศการ เปิดได้ตามปกติ ภายใต้มาตรการป้องกันโรค และจำกัดจำนวนคนตามขนาดพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 1 ตร.ม./คน
6.จำกัดการเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างด้าว เน้นใช้แอปฯ หมอชนะ แต่หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายแรงงาน จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
7.ปิดบ่อนพนัน สนามไก่ชน ชนวัว
8.ปิดสถานบริการอาบน้ำ อาบอบนวด งดบริการนอกสถานที่ด้วย
9.เปิดสปา นวดแผนไทย โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการตามขนาดพื้นที่ของร้าน ในทุกพื้นที่จังหวัด
10.เปิดสถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ในอาคาร ยิม ฟิตเนส สนามมวย โดยแข่งขันได้แบบไม่มีผู้ชม และฝึกซ้อมได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล
พื้นที่ควบคุม
-มีมาตรการผ่อนคลาย เช่น เปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยรับประทานอาหารและดื่มสุราในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. มีการแสดงดนตรีได้ แต่งดเต้นรำ ร้านอาหารเปิดให้นั่งทานในร้านได้ถึง 23.00 น. แต่จำกัดจำนวนคนต่อโต๊ะ และอนุญาตให้จำหน่ายหรือดื่มสุราในร้านได้ ไม่เกิน 23.00 น. จัดการเรียนการสอน ประชุมสัมมนา จัดเลี้ยงได้ตามปกติ แต่ต้องใช้แอปฯ หมอชนะ จำกัดผู้ร่วมกิจกรรม งดการเต้นรำ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตลาด สามารถเปิดบริการตามปกติ แต่งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวจำนวนมาก อาบอบนวด สปา ฟิตเนส สถานที่ออกกำลังกาย เปิดได้ แต่ปิดบ่อน สนามชนไก่ ชนวัวทุกพื้นที่
พื้นที่เฝ้าระวังสูง
-เปิดสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอกะ ร้านอาหาร โดยอนุญาตให้นั่งทานอาหารและดื่มสุราที่ร้านได้ถึง 24.00 น. ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต เปิดได้ตามเวลาปกติ สถานบริการอาบน้ำ อาบอบนวด สปา นวดแผนไทย ฟิตเนส สนามกีฬา ร้านอินเตอร์เน็ต เปิดได้ปกติ ภายใต้มาตรการ ปิดบ่อนพนัน สนามชนไก่ ชนวัว
พื้นที่เฝ้าระวัง
-เปิดสถานประกอบการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ร้านอาหาร สปา ร้านนวด สถานที่ออกกำลังกายได้ตามเวลาปกติทุกแห่ง ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ปิดบ่อนพนัน สนามชนไก่ ชนวัว
นพ.ทวีศิลป์ ย้ำว่า มาตรการดังกล่าวนี้ จะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.พ.64 เป็นต้นไป และหากประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายไปแล้ว แต่มีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น มาตรการผ่อนคลายนั้นก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นขอให้ทุกคนรักษาวินัยและรักษามาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
คณะทำงาน WHO ลงพื้นที่ หาต้นตอการเกิดโควิด-19
คณะทำงานเฉพาะกิจ 10 คน ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ครบกำหนดระยะเวลากักตัว 14 วัน เริ่มประชุมแบบพบหน้ากับเจ้าหน้าที่ของทางการปักกิ่ง ที่โรงแรมในเมืองอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย ของจีน แม้ยังไม่มีการให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการมากนัก แต่มีรายงานว่า คณะผู้เชี่ยวชาญของ WHO มีแผนลงพื้นที่ตลาดสดหลายแห่ง โรงพยาบาล และสถาบันไวรัสวิทยาแห่งเมืองอู่ฮั่น ซึ่งสหรัฐฯและพันธมิตรหลายประเทศในโลกตะวันตก ตั้งข้อสันนิษฐานว่าสถานที่แห่งนี้ คือ แหล่งกำเนิดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดบนโลกตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีน ยืนกรานปฏิเสธมาตลอด
ขณะเดียวกัน ยังไม่เป็นที่ชัดเจนด้วยว่า ทีมงานของ WHO จะได้รับอนุญาต ให้พูดคุยเป็นการส่วนตัวอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่และชาวเมืองอู่ฮั่นคนใดหรือไม่ ทั้งนี้ WHO และ รัฐบาลจีน เจรจาร่วมกันตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ในการขอลงพื้นที่เมืองอู่ฮั่น เพื่อสอบสวนโรค เนื่องจาก เป็นจุดแรกของโลกที่มีการยืนยันผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากโรคโควิด-19 แต่การเตรียมการเป็นไปอย่างล่าช้า
นพ.ฟาเบียน เลเอนเดิร์ตซ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาเกี่ยวกับจุลินทรีย์ ซึ่งก่อให้เกิดโรคติดต่อร้ายแรง แห่งสถาบันโรแบร์ต ค็อก ของเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทีมงานพิเศษของ WHO สำหรับภารกิจครั้งนี้ กล่าวว่า ภารกิจครั้งนี้ ไม่ใช่การหาคนผิด แต่เป็นการพยายามทำความเข้าใจให้มากขึ้น กับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วและส่งผลถึงปัจจุบัน เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต
EU ห้ามเที่ยวบินจากญี่ปุ่นเข้าเขตแดน หวั่นโควิดยังแพร่ระบาด
สหภาพยุโรป (EU) ตัดสินใจสั่งระงับเที่ยวบินจากญี่ปุ่น หลังยังควบคุมการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ไม่สำเร็จ โดยขณะนี้ญี่ปุ่นยังคงประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวและพื้นที่อื่นๆ อย่างไรก็ดี EU ยังคงรายชื่อประเทศที่ได้รับการยกเว้นให้สามารถเดินทางเข้ามาได้แม้ในกรณีที่ไม่จำเป็นไว้ ซึ่งมีประเทศที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมด 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ แต่จากสถานการณ์ล่าสุดในญี่ปุ่น ส่งผลให้ EU ถอดญี่ปุ่น ออกจากกลุ่มประเทศที่ได้รับยกเว้นดังกล่าว
การตัดสินใจล่าสุดของ EU อาจส่งผลให้บริษัทสายการบินที่มีเที่ยวบินจากญี่ปุ่นเข้าไปยังยุโรปต้องปรับแผนการบินใหม่ แม้การตัดสินใจระงับเที่ยวบินจากญี่ปุ่นและการบังคับใช้กฎจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของประเทศสมาชิก EU แต่ละประเทศก็ตาม
แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในญี่ปุ่น จะรุนแรงน้อยกว่าบางประเทศ อย่างสหรัฐฯและหลายประเทศในยุโรป แต่ญี่ปุ่นยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีผู้ติดเชื้อกว่า 380,000 ราย และเสียชีวิต 5,500 รายตามข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์
สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า นายโยชิฮิเดะ สึกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงเมื่อวันที่ 27 ม.ค.64 ว่าเขาจะตัดสินใจอีกครั้งว่าจะขยายการประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงโตเกียวและจังหวัดอื่นๆ ในประเทศต่อไปหรือไม่ ก่อนที่มาตรการดังกล่าวจะหมดอายุลงในวันที่ 7 ก.พ.64
เมื่อช่วงต้นเดือนม.ค. 64 รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินครอบคลุมถึง 11 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัด ซึ่งได้แก่ โตเกียว คานากาวะ ชิบะ ไซตามะ โตชิกิ อิชิ กิฟุ โอซาก้า เกียวโต เฮียวโงะ และฟูกุโอกะ ภายใต้มาตรการดังกล่าว รัฐบาลได้ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่เหล่านี้ไม่ให้เดินทางออกจากบ้านหากไม่จำเป็น ขณะที่ร้านอาหารและผับบาร์ถูกขอให้ปิดบริการภายในเวลา 20.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น