ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2564

28 มกราคม 2564, 19:42น.


ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 19.30 น.วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2564



มท.1 แนะใช้วิธีเจรจา ปัญหาเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หลังรับซ้ำซ้อน



          กรณีท้องถิ่นเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่รับซ้ำซ้อนพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมบัญชีกลางเป็นผู้แจ้งมายังกระทรวงมหาดไทย พบข้อมูลช่วงปลายปี  2562 มีการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำกับคนที่เขารับเงินอื่นๆไปแล้ว ซึ่งผิดระเบียบกว่า 15,000 คน  และมีหลายกรณี โดยเป็นเรื่องทางกฎหมายที่ต้องดำเนินการ โดยนายกรัฐมนตรี ได้รับทราบถึงความ เดือดร้อนของผู้สูงอายุเหล่านั้นแล้ว และสั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือเพื่อหาทางออกเบื้องต้นให้ท้องถิ่น ใช้วิธีการเจรจารอมชอม เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่ในทางกฎหมายได้มีคำสั่งให้หาวิธีที่เหมาะสม เพราะต้องดูรายละเอียดกฎหมายว่าจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งในขั้นต้นให้ท้องถิ่นใช้วิธีเจรจาไปก่อน



ติดปัญหาขนส่ง! วัคซีนแอสตราเซเนกาถึงไทยไม่ทัน 14 ก.พ.



          ผลการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการอำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด -19 และ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงว่า ที่ประชุมได้มีการหารือ ถึงการจัดการวัคซีนโควิด-19 จากแอสตราเซเนกา จำนวน 50,000 โดส ที่มีการสั่งซื้อมาจากอิตาลี โดยขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าวัคซีนจะมาถึงไทยเมื่อไหร่ แต่อาจไม่สามารถเริ่มดำเนินการฉีดได้ตามเป้า 14 ก.พ. แต่คาดว่าวัคซีนคงถึงไทย ภายในเดือน ก.พ.แน่ เนื่องจากติดปัญหาการขนส่ง และทางอียูจำกัดการส่งออกวัคซีน ซึ่งเมื่อมาถึงต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อน จึงจะสามารถเริ่มดำเนินการฉีดได้ ควบคู่กับการสำรวจความสมัครการรับวัคซีนผ่านไลน์บัญชีทางการ หมอพร้อม



          สำหรับวัคซีนล็อตที่จะถึงนี้ เป็นการเจรจาสั่งซื้อแบบ Partnership ซึ่งมาล็อตแรกก่อน 50,000 โดส จากนั้นทยอยมาอีก 100,000 โดส จนครบ 150,000 โดส พร้อมกันนี้ได้มีการปรับเพิ่มหลักเกณฑ์ผู้รับวัคซีนอีกหนึ่งกลุ่ม ได้แก่ คนอ้วน ที่มีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม หรือ คนที่มี BMI. 35 นอกจากเหนือจากบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้ป่วยโรคประจำตัว ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะ 5 โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีรักษา โรคเบาหวาน และผู้สูงอายุ 60 ปี รวมถึงบุคลากรที่ทำหน้าที่ควบคุมโรคโควิด-19 เช่น อสม.



มาอีกคน! สารวัตรกองทะเบียนประวัติอาชญากรรม ปัดปกปิดข้อมูลหลังติดเชื้อโควิด-19



          กรณีกทม.เปิดไทม์ไลน์ในกลุ่มที่เชื่อมโยงกับปาร์ตี้วันเกิด ดีเจมะตูม และพบมี 3 คนพบไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ล่าสุดสารวัตรกองทะเบียนประวัติอาชญากรรม ยืนยันว่า หลังจากทราบผลจากการติดโควิด-19 ในวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลทันที โดยมีเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานโทร.มาสอบถามประวัติและข้อมูลรายละเอียดไทม์ไลน์ ซึ่งยืนยันได้แจ้งไปตั้งแต่วันดังกล่าวทั้งหมดแล้ว ขณะที่ไทม์ไลน์ของกทม.ออกมาระบุว่า ไม่ได้เปิดเผยข้อมูล ทำให้รู้สึกงงมาก และเกิดข้อสงสัยในการทำงานที่อาจล่าช้า จึงอยากให้กทม.เคลียร์ปัญหานี้ที่เกิดขึ้น เพราะไม่ได้ปกปิดข้อมูลหรือไทม์ไลน์ เนื่องจากให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายไปตั้งแต่วันแรกที่ทราบว่าติดโควิด-19 ส่วนอาการตอนนี้ก็ยังปกติ และไม่มีอาการใดๆ



          ก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการออกไทม์ไลน์ข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของกรุงเทพมหานคร ว่าการออกไทม์ไลน์เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของการสอบสวนโรคและเป็นไปตามกฎหมายก่อนเปิดเผยต่อสาธารณะ ขั้นตอนเริ่มตั้งแต่เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์จะทำการสอบถามประวัติ และข้อมูลพื้นที่เสี่ยงที่ผู้ป่วยเคยไป จากนั้นทีมแพทย์หรือพยาบาลจะออกใบสอบสวนโรค หรือโนเวล (NOVEL) เพื่อส่งต่อให้กรมควบคุมโรคติดต่อและกรุงเทพมหานครได้รับทราบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อ  ภายหลังจากที่ กทม. ได้รับใบ NOVEL และทราบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อ เจ้าหน้าที่สำนักอนามัย กทม.จะทำการสอบสวนโรคเพิ่มเติม เพื่อสอบถามรายละเอียดการใช้ชีวิตประจำวันและการเดินทางในแต่ละวันของผู้ป่วย และเสนอคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย คณะแพทย์ พยาบาล และนักกฎหมาย ร่วมกันพิจารณาเพื่อเผยแพร่ไทม์ไลน์ต่อสาธารณะต่อไป โดยยืนยันว่าใช้ข้อมูลเพื่อควบคุมโรคเท่านั้นและจะต้องมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริง กรณีมีข้อสงสัยในข้อมูลที่ได้รับจากผู้ติดเชื้อรายนั้นๆ  



ครู-นักเรียนบ้านอยู่สมุทรสาคร เรียนออนไลน์ไปก่อน



          นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเปิดเรียนของโรงเรียนใน 28 จังหวัด ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ ยกเว้นโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาคร โดย ศธ.และโรงเรียน ได้ยึดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข และทุกโรงเรียนมีความเข้าใจมาตรการเพียงพอในการเตรียมความพร้อมเปิดเรียน ซึ่งอาจจะมีบางโรงเรียน ถึงแม้อาจจะไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่สมุทรสาคร แต่มีครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยโรงเรียนได้รับทราบแนวทางแล้วว่า คนที่อยู่จังหวัดสมุทรสาครจะต้องเรียนอยู่ที่บ้านผ่านทางออนไลน์ ผ่านใบงาน ผ่านแบบฝึกหัด

          นับเป็นการปรับตัวหรือความยืดหยุ่นของโรงเรียนกับผู้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งในอนาคตก็อาจจะมีโรงเรียนในหลายๆพื้นที่ ถ้ามีข่าวว่ามีการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ต้องมีการบริหารจัดการอย่างที่เคยทำมาแล้ว ทั้งการปิดชั้นเรียน การให้นักเรียนหยุดเรียนเป็นโซน ๆ หรือการสลับเวลากันมาเรียน เพื่อไม่ประมาททั้งนักเรียน คุณครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องระมัดระวังในการเดินทางไปในสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ซึ่งคิดว่า คนไทยทุกคนทำอยู่แล้ว โดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษาและคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาต้องยิ่งมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะโอกาสที่จะเจอคนเป็นจำนวนมาก โอกาสที่จะเป็นคนแพร่เชื้อก็มีมาก



สพฐ.เลื่อนปิดเทอมออกไปอีก 1 สัปดาห์ จากสิ้นเดือน มี.ค.เป็นต้น เม.ย.



          นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า การเปิด-ปิดภาคเรียนในปีการศึกษานี้จะขยับการปิดภาคเรียนออกไปประมาณ 1 สัปดาห์จากเดิมจะปิดภาคเรียนในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม โดยขยับปิดภาคเรียนใหม่ในวันที่ 9 เมษายนและเปิดภาคเรียน 1 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 15 พฤษภาคม 



          ส่วนการเตรียมความพร้อมในการเปิดเรียนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ



1.กลุ่มโรงเรียนเปิดการเรียนการสอนตามประกาศแจ้งปิดสถานศึกษาในสังกัด 28 จังหวัด ที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงหรือไม่มีแล้วก็สามารถเปิดได้ตามปกติ แต่ต้องให้มีการใส่หน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิ ตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)



2.ในส่วนของ 4 จังหวัดเฝ้าระวังพิเศษ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ นั้น โรงเรียนจะต้องดำเนินการตามมาตรการเว้นระยะห่างของ สธ. เช่น หากห้องใดมีนักเรียนเกิน 25 คน ก็ให้สลับวันเรียนและจำกัดนักเรียนต่อห้อง หรือ ให้เด็กสลับชั้นมาเรียน เป็นต้น และ



3.โรงเรียนในจังหวัดสมุทรสาคร ยังต้องปิดเรียนไม่มีกำหนด

          แม้ ศธ. จะประกาศเปิดให้มีการเรียนการสอนที่โรงเรียนแล้ว แต่หากผู้ปกครองรายใด ยังมีความเป็นห่วงบุตรหลานของตัวเอง และไม่ต้องการให้ไปโรงเรียน เนื่องจาก สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้นก็ไม่ต้องกังวล กพฐ.ได้มีคำสั่งให้โรงเรียนต้องให้ความอนุเคราะห์แก่เด็กให้เรียนผ่านระบบออนไลน์ที่บ้านได้ เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของผู้ปกครอง



          นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส  ได้ออกมาตรการดูแลผู้โดยสารด้วยการขยายเวลาและคืนเที่ยวเดินทางบัตรที่หมดอายุในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 มกราคม 2564  ผู้โดยสารสามารถทยอยนำบัตรโดยสาร มาติดต่อขอรับสิทธิ์ขยายเวลาและคืนเที่ยวเดินทางได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารทุกสถานี ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564  ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564



เปิดเงื่อนไขรัฐบาลจะพิจารณาจ่อเยียวยาผู้ประกันตน ม.33



          เงื่อนไขเบื้องต้น ที่รัฐบาลจะพิจารณาจ่อเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 มีความคล้ายคลึง กับ เงื่อนไข “เราชนะ” เช่น



1.ต้องมีสัญชาติไทย ไม่ใช่แรงงานต่างด้าว 



2.เงินฝากในบัญชีไม่เกิน 500,000บาท



3.รายได้ไม่เกิน 300,000บาทต่อปี หรือ เฉลี่ยรายได้ 25,000 บาทต่อเดือน  



4.ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะไม่ได้รับสิทธินี้



โควิด-19 ฉุด GDP ไทยปี 64 คลังลดขยายตัวศก.เหลือร้อยละ2.8



          นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ไทยในปี 64 จะขยายตัวที่ร้อยละ2.8 ปรับลดจากคาดการณ์เดิมร้อยละ4.5 จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศ รวมถึงไทย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเดินทางระหว่างประเทศ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทำให้คาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในปี 2564 จะลดลง  แต่ยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าของวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ



          นอกจากนี้ ยังคาดว่า จะมีการเบิกจ่ายเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ ในส่วนที่เหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการจ้างงานให้เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน จะขยายตัวที่ร้อยละ2.5  ต่อปี และ ร้อยละ3.4 ต่อปี ขณะที่การบริโภคภาครัฐ และการลงทุนภาครัฐ จะขยายตัวที่ร้อยละ6.1 ต่อปี และร้อยละ 12.1 ต่อปี

          สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดว่า จะขยายตัวที่ร้อยละ 6.2 ต่อปี สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางสูงขึ้น และการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ



ไร้เรื่องเซอร์ไพร์ส หุ้นไทย-เอเชีย ปรับตัวลดลง



          ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปิดวันนี้ที่ระดับ 1,468.51 จุด ลดลง 29.62 จุด มูลค่าการซื้อขาย 92,614.64 ล้านบาท ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่มีเรื่องเซอร์ไพรส์ และยังกังวลการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประกอบกับมีกระแสข่าวว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลและขายสินทรัพย์ต่าง ๆ ออกมา ยกเว้นพันธบัตร ส่วนแนวโน้มวันพรุ่งนี้ มีโอกาสรีบาวด์ได้หลังจากปรับตัวลงไปมากวันนี้ โดยให้จับตาทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯจะรีบาวด์หรือไม่



          ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นโตเกียวปิดร่วงปิดตลาดที่ระดับ 28,197.42 จุด ลดลง 437.79 จุด



          ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงปิดร่วงในวันนี้ตามทิศทางดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กที่ปิดร่วงลงกว่า 600 จุดเมื่อคืนนี้ เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่ได้ประกาศมาตรการใหม่ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปิดวันนี้ที่ 28,550.77 จุด ลดลง 746.76 จุด



‘แอสตราเซเนกา’ เตรียมผลิตวัคซีนโควิด-19 กว่า 90 ล้านโดสในญี่ปุ่น



          คัตสึโนบุ โคตะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า บริษัทแอสตราเซเนกา ผู้ผลิตยาสัญชาติสหราชอาณาจักร ยืนยันกับกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นว่าจะผลิตวัคซีน 90 ล้านโดสในญี่ปุ่น จาก 120 ล้านโดสที่ญี่ปุ่นเตรียมซื้อจากแอสตราเซเนกา และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีแผนเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ในช่วงหลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยเป็นวัคซีนของไฟเซอร์ อิงก์ ที่จะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์



          กำหนดการของญี่ปุ่นถือว่า ล้าหลังบรรดาชาติเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ของโลกค่อนข้างมากในการเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 สืบเนื่องจากพวกเขาต้องพึ่งพิงผู้ผลิตยาจากต่างแดน และมีข้อบังคับกำหนดไว้ว่า วัคซีนต้องผ่านการทดลองภายในประเทศเสียก่อน



          แอสตราเซเนกา เริ่มทำการทดลองวัคซีน AZD1222 ในญี่ปุ่นเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว และจับมือกับ ไดอิจิ ซังเคียว (Daiichi Sankyo Co), เจซีอาร์ ฟาร์มาซูติคอลส์ และพันธมิตรท้องถิ่นอื่นๆ สำหรับผลิตและแจกจ่ายวัคซีน แต่จนถึงขณะนี้ แอสตราเซเนกายังไม่ได้ยื่นขออนุมัติวัคซีนในญี่ปุ่น แม้การทดลองภายในประเทศของพวกเขานั้นเริ่มต้นก่อนวัคซีนของไฟเซอร์ด้วยซ้ำ



          ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับอุปสรรคทางโลจิสติกส์ใหญ่หลวง ที่พวกผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าจะทำให้การฉีดวัคซีนแก่ประชาชนส่วนใหญ่ทำได้ยาก ในขณะที่พวกเขามีแผนเปิดฉากกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ในกรุงโตเกียว ในเดือนกรกฎาคมนี้



          นายโธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ย้ำคำมั่นว่า IOC ยังคงสนับสนุนให้ญี่ปุ่นจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน กรุงโตเกียว 2020 ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม ถึง 8 สิงหาคม 2564 ให้ประสบความสำเร็จและจัดการแข่งขันโดยปลอดภัย หลังเลื่อนการแข่งขันมาจากปีที่แล้วสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระบุว่าภารกิจของ IOC คือ การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและ IOC ยังคงให้ความสนใจกับพิธีเปิดแข่งขันโอลิมปิกของญี่ปุ่นในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้



          ทั้งนี้ IOC ได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เมื่อวาน  นับเป็นการประชุมครั้งแรกของ IOC แม้จะมีกระแสข่าวต่างๆนานาเรื่องการยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิก กรุงโตเกียว ในปีนี้ หรือมีการเสนอให้ IOC สั่งเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิกกรุงโตเกียวในปีนี้ หรือเลื่อนการแข่งขันไปในปี 2575 หรือเปลี่ยนสถานที่แข่งขันจากญี่ปุ่นไปจัดในประเทศอื่นแทน



เนื่องจากโรคโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาดทั่วโลก         



          IOC จะเผยแพร่หลักเกณฑ์การป้องกันโรคโควิด-19 สำหรับคณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ในต้นเดือนหน้า เช่น หลักเกณฑ์การเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นและรายละเอียดของมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันโรคโควิด-19  



          ส่วนโครงการฉีดวัคซีนให้กับคณะนักกีฬา นายบาค กล่าวว่า โดยหลักการ IOC ไม่อยากให้นักกีฬาเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยแซงคิวกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งจะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนกลุ่มอื่นๆ แต่ IOC จะขอให้คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งชาติของทุกประเทศประสานกับรัฐบาลของตนให้พิจารณาจัดโครงการฉีดวัคซีนให้กับคณะนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกด้วย



 

ข่าวทั้งหมด

X