ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 12.30น.วันพฤหัสบดีที่ 28 ม.ค.2564

28 มกราคม 2564, 13:41น.


ศบค. เผยคลัสเตอร์ ดีเจมะตูม ติดเชื้อเพิ่มอีกเป็น 26 คน  



         พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ขอให้ติดตามสถานการณ์เพิ่มขึ้น กรณีที่มีผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เชื่อมโยงกับงานฉลองวันเกิดของดีเจมะตูม ซึ่งมีบางรายปกปิดข้อมูลในไทม์ไลน์ว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่ นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เรื่องขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากพบว่ามีบุคคลอื่นซึ่งมีประวัติใกล้ชิดกับดีเจมะตูม ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก โดยจากข้อมูลการเดินทางของบุคคลดังกล่าวและบุคคลที่เกี่ยวข้องมีการให้ข้อมูลบางประการที่ไม่สอดคล้องกัน รวมถึงมีการปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูลบางส่วนต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้โรคโควิด-19 แพร่ระบาดไปในวงกว้างและทำให้การป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ล่าช้าและไม่ทันการณ์ได้ จากกรณีดังกล่าว กรมควบคุมโรค ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีความผิดอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้



1.กรณีที่บุคคลให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกัน หรือมีการปฏิเสธหรือปกปิดข้อมูลซึ่งควรต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท รวมถึงอาจมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ตามมาตรา 137 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



2.กรณีสถานที่ซึ่งใช้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคและไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด รวมถึงกรณีบุคคลที่ร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนการห้ามทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด ซึ่งเป็นมาตรการตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548



          กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 1/2564 ลงวันที่ 3 ม.ค. พ.ศ. 2564 โดยพื้นที่ควบคุมสูงสุดจำเป็นต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันและควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548



          พญ.อภิสมัย รายงานว่า จากข้อมูลรายงานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 64 มีผู้ติดเชื้อในกลุ่มนี้  24 คน แต่การรายงานอย่างไม่เป็นทางการพบติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกรวมเป็น 26 คน ยังไม่นับรวมคนที่มีความเสี่ยงสูง อีก 113 คน คนที่มีความเสี่ยงต่ำ 53 คน ในสัปดาห์นี้จะมีการทยอยรายงานอย่างต่อเนื่อง



          ประเด็นที่ กรมควบคุมโรค กังวล คือ กรณีคนที่มีความเสี่ยงต่ำ สอบสวนโรค เจอว่า ได้ไปในสถานที่หลายแห่ง โรงแรม ร้านอาหาร แต่ละคน ให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้อง บางคนปกปิดข้อมูล อาจทำให้มีการแพร่ระบาดออกไป



กทม.จ่อสอบเพิ่มไทม์ไลน์นักร้อง-ประสาน ตร.ตรวจกล้องวงจรปิดงานเลี้ยง



          ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงชี้แจงเกี่ยวกับไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มงานเลี้ยงวันเกิด  ซึ่งมีปัญหาว่าไทม์ไลน์คลาดเคลื่อนต่างจากที่เปิดเผยในตอนแรก หรือบางรายอ้างว่าให้ไทม์ไลน์แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่นำไปเผยแพร่ โดยโฆษกกรุงเทพมหานคร อธิบายขั้นตอนการสอบสวนโรค ก่อนจะเผยแพร่ไทม์ไลน์ ดังนี้



1. แพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วย ซักประวัติและไทม์ไลน์จากผู้ป่วย ว่าเดินทางไปไหนมาบ้าง  จากนั้นแพทย์หรือพยาบาลที่ซักประวัติ จะเป็นผู้บันทึกลงในเอกสารตามที่ผู้ป่วยแจ้ง เรียกว่าใบโนเวล จากนั้นส่งให้กรมควบคุมโรค หรือ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร



2. เมื่อทางกรุงเทพมหานคร ได้รับใบโนเวลแจ้งประวัติและไทม์ไลน์ของผู้ป่วยแล้ว จะโทรศัพท์ไปสอบถามผู้ป่วยซ้ำ เพื่อลงลึกในรายละเอียด เพื่อให้ทราบว่า ผู้ป่วยไปพบใครบ้าง มีกลุ่มเสี่ยงต่ำและกลุ่มเสี่ยงสูงกี่คน  มีการพบปะกับผู้ป่วยรายก่อนหน้าหรือไม่ และติดเชื้อวันไหนกันแน่  ซึ่งในขั้นตอนนี้ หากผู้ป่วยไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องลงไทม์ไลน์ไปตามจริงว่า ไม่ให้ข้อมูล



3. คณะกรรมการพิจารณาการเผยแพร่ไทม์ไลน์ต่อสาธารณชน ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้ง มีทั้งแพทย์ นักกฎหมาย นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันพิจารณาว่า ไทม์ไลน์ดังกล่าว มีจุดใดที่จะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ป่วยหรือไม่ เช่น สิ่งที่อาจทำให้ทราบตัวตนของผู้ป่วย



4. เมื่อไทม์ไลน์ได้รับการพิจารณาแล้วว่าไม่มีจุดใดที่เปิดเผยแล้วจะมีผลในทางผิดกฎหมายหรือละเมิดผู้ป่วย ก็จะเผยแพร่ต่อสาธารณชน



          โฆษกกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กรณีที่เป็นปัญหา  คือ ผู้ป่วยรายที่ 647 เป็นชาย อาชีพนักร้อง ในการซักประวัติเพื่อลงใบโนเวลครั้งแรก ผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูล และเมื่อกรุงเทพมหานคร จะติดต่อเพื่อสอบถามเพิ่มเติม ก็ไม่สามารถติดต่อได้  จึงต้องเผยแพร่ไทม์ไลน์เท่าที่สามารถสืบค้นได้  จนกระทั่งช่วงบ่าย เมื่อวานนี้ (27 ม.ค.64) ผู้ป่วยเพิ่งติดต่อกลับมาเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนที่ผู้ป่วยจะไปแถลงไทม์ไลน์ของตัวเองออกรายการโทรทัศน์ ซึ่งรายนี้ เจ้าหน้าที่ต้องสอบสวนเพิ่มเติมว่า ที่ผู้ป่วยให้ไทม์ไลน์ภายหลังว่า ระหว่างวันที่ 10-21 ม.ค.64 ไม่ได้ไปไหน อยู่แต่ในที่พักนั้น จริงหรือไม่



          ส่วนผู้ป่วยรายที่ 658 ผู้ป่วยชาย อาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ในตอนแรกให้ข้อมูลแค่ว่า ไปร่วมงานวันเกิดเพื่อนที่โรงแรมบันยันทรี เขต สาทร ส่วนระหว่างวันที่ 10-12 ม.ค.64 และวันที่ 14-21 ม.ค.64 ไม่ยอมให้ข้อมูล แต่มาเปิดเผยทีหลัง  ก็จะต้องไปสอบสวนโรคเพิ่มว่าข้อมูลที่ให้มา เป็นจริงหรือไม่



          ผู้ป่วยรายที่ 657 ที่ผู้ป่วยแถลงไทม์ไลน์เองว่า อยู่บ้าน ก็ต้องไปพิสูจน์เพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่



          โฆษกกรุงเทพมหานคร ระบุว่า การสอบสวนไทม์ไลน์ไม่ได้สอบสวนแค่ครั้งเดียวจะเสร็จสิ้น เช่น กรณีผู้ป่วยกลุ่มก้อนงานเลี้ยงวันเกิด ต้องสอบสวนโรคเพิ่มเติมหลายครั้งมาก เพราะในครั้งแรกผู้ป่วยบางรายไม่ยอมให้ข้อมูล แต่มาให้ข้อมูลภายหลัง   เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ก็ต้องตรวจสอบอีกว่า ข้อมูลนั้นเป็นจริงหรือไม่ หากให้ข้อมูลเท็จ เจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย  ส่วนทีมสอบสวนโรคของกรุงเทพมหานคร มีหลายทีม แต่จะให้เจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อการรับผิดชอบซักถามผู้ป่วย 1 คนเท่านั้น เพื่อป้องกันความสับสน ดังนั้นยืนยันได้ว่า การสอบสวนโรคของกรุงเทพมหานคร เป็นไปตามขั้นตอน  มีเอกสารการสอบสวนโรคที่ชัดเจน ซึ่งทางกรุงเทพมหานครจัดเก็บไว้ทั้งหมด หากผู้ป่วยรายใดสงสัย สามารถขอดูไทม์ไลน์ตัวเองได้ 



          ส่วนกรณีผู้ป่วยให้ข้อมูลแล้ว แต่ขอเจ้าหน้าที่สงวนความเป็นส่วนตัวไว้  สามารถทำได้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในที่ส่วนตัว เช่น มีเพื่อนมาหาที่คอนโดมิเนียม และไม่อยากเปิดเผยความสัมพันธ์ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังต้องไปสอบสวนโรคเพื่อนคนนั้น แต่ไทม์ไลน์ที่อยู่ในที่สาธารณะจะไม่สามารถปกปิดหรือสงวนไว้ส่วนตัวได้



          โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการตรวจสอบโรงแรมที่เปิดให้จัดงานเลี้ยง ทางกรุงเทพมหานคร จะแยกตรวจสอบเป็น 2 กรณี คือ การจัดเลี้ยงผิดข้อบังคับหรือไม่ จำนวนคนร่วมงานเลี้ยงเกินกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรการป้องกันโรคระบาดหรือไม่  และกรณีเปิดร้านเกินเวลาหรือไม่  ซึ่งกรุงเทพมหานคร จะประสานตำรวจเพื่อตรวจสอบกล้องวงจรปิด และสอบสวนต่อไป หากพบว่ามีความผิดก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย



CR:ศบค.



ข่าวลือและความกลัวเป็นอุปสรรคโครงการวัคซีนของฟิลิปปินส์



          สาธารณสุขฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการวัคซีนโควิด-19 ในประเทศกำลังมีอุปสรรคสำคัญจากข่าวลือที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ และในวงสังคมหลายเรื่อง โดยหนึ่งในเรื่องที่แพร่สะพัดมากก็คือ ข่าวที่ว่าในวัคซีนมีไมโครชิพที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต สามารถควบคุมได้จากระยะไกลเพื่อใช้สังหารผู้คน และข่าวที่ว่าเด็ก ๆจะมีอาการเจ็บป่วยหลังได้รับวัคซีน ซึ่งเป็นข่าวที่อ้างอิงจากเมื่อครั้งที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเมื่อปี 2559 ทำให้ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากปฏิเสธที่จะเข้ารับวัคซีนแม้จะยอมรับว่ากลัวโควิด-19



          ฟิลิปปินส์มีกำหนดเริ่มโครงการวัคซีนโควิด-19 ในเดือนหน้า เพื่อยุติสถานการณ์โรคระบาดที่มีความรุนแรงมากเป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 500,000 คนและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10,000 ราย แต่นายโรซาริโอ เวอร์ไกร์ รัฐมนตรีสาธารณสุข ยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการชักชวนให้ประชาชนมารับวัคซีน และขอให้ความมั่นใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ขณะที่นายเอสเปรันซา คาบรัล อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า โครงการนี้จะกลายเป็นความสูญเปล่าหากผู้คนปฏิเสธที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน 



แรงงาน หารือ สศช. จัดสรรงบฯ ช่วยเหลือผู้ประกันตน ม.33



          นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อน ให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เบื้องต้น อาจจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับแรงงานในระบบทั้ง 11,000,000 คนได้ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เป็นแรงงานต่างด้าวและมีเงินฝากไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือความเป็นไปได้ว่าจะจ่ายเงินให้คนละ 3,500 บาท หรือ 4,000 บาท เป็นเวลา 1 เดือน คาดว่า จะต้องใช้เงินทั้งหมดประมาณ 40,000 ล้านบาท และในวันนี้ 28 ม.ค.64 จะหารือกับเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่าจะใช้งบประมาณส่วนใด คาดว่าจะเป็นเงินกู้ที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่ ก่อนที่จะนำแนวทางที่ได้ สรุปเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป



 

ข่าวทั้งหมด

X