กทม.จ่อสอบเพิ่มไทม์ไลน์นักร้อง-ประสาน ตร.ตรวจกล้องวงจรปิดงานเลี้ยง

28 มกราคม 2564, 12:26น.


          ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงชี้แจงเกี่ยวกับไทม์ไลน์ผู้ป่วยโควิด-19 ในกลุ่มงานเลี้ยงวันเกิด  ซึ่งมีปัญหาว่าไทม์ไลน์คลาดเคลื่อนต่างจากที่เปิดเผยในตอนแรก หรือบางรายอ้างว่าให้ไทม์ไลน์แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่นำไปเผยแพร่ โดยโฆษกกรุงเทพมหานคร อธิบายขั้นตอนการสอบสวนโรค ก่อนจะเผยแพร่ไทม์ไลน์ ดังนี้ 


1. แพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วย ซักประวัติและไทม์ไลน์จากผู้ป่วยว่าเดินทางไปไหนมาบ้าง จากนั้นแพทย์หรือพยาบาลที่ซักประวัติ จะเป็นผู้บันทึกลงในเอกสารตามที่ผู้ป่วยแจ้ง เรียกว่า ใบโนเวล จากนั้นส่งให้กรมควบคุมโรค หรือ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร


2. เมื่อกรุงเทพมหานคร ได้รับใบโนเวลแจ้งประวัติและไทม์ไลน์ของผู้ป่วยแล้ว จะโทรศัพท์ไปสอบถามผู้ป่วยซ้ำ ลงลึกในรายละเอียด เพื่อให้ทราบว่า ผู้ป่วยไปพบใครบ้าง มีกลุ่มเสี่ยงต่ำและกลุ่มเสี่ยงสูงกี่คน มีการพบปะกับผู้ป่วยรายก่อนหน้าหรือไม่ และติดเชื้อวันไหนกันแน่ ซึ่งในขั้นตอนนี้ หากผู้ป่วยไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องลงไทม์ไลน์ไปตามจริงว่า ไม่ให้ข้อมูล 


3. คณะกรรมการพิจารณาการเผยแพร่ไทม์ไลน์ต่อสาธารณชน ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่งตั้ง มีทั้งแพทย์ นักกฎหมาย นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันพิจารณาว่า ไทม์ไลน์ดังกล่าว มีจุดใดที่จะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ป่วยหรือไม่ เช่น สิ่งที่อาจทำให้ทราบตัวตนของผู้ป่วย 


4. เมื่อไทม์ไลน์ได้รับการพิจารณาแล้วว่าไม่มีจุดใดที่เปิดเผยแล้วจะมีผลในทางผิดกฎหมายหรือละเมิดผู้ป่วย ก็จะเผยแพร่ต่อสาธารณชน


          โฆษกกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กรณีที่เป็นปัญหา  คือ ผู้ป่วยรายที่ 647 เป็นชาย อาชีพนักร้อง ในการซักประวัติเพื่อลงใบโนเวลครั้งแรก ผู้ป่วยไม่ให้ข้อมูล และเมื่อกรุงเทพมหานคร จะติดต่อเพื่อสอบถามเพิ่มเติม ก็ไม่สามารถติดต่อได้  จึงต้องเผยแพร่ไทม์ไลน์เท่าที่สามารถสืบค้นได้  จนกระทั่งช่วงบ่าย เมื่อวานนี้ (27 ม.ค.64) ผู้ป่วยเพิ่งติดต่อกลับมาเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนที่ผู้ป่วยจะไปแถลงไทม์ไลน์ของตัวเองออกรายการโทรทัศน์ ซึ่งรายนี้ เจ้าหน้าที่ต้องสอบสวนเพิ่มเติมว่า ที่ผู้ป่วยให้ไทม์ไลน์ภายหลังว่า ระหว่างวันที่ 10-21 ม.ค.64 ไม่ได้ไปไหน อยู่แต่ในที่พักนั้น จริงหรือไม่ 


          เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายที่ 657 อาชีพ ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ ที่ผู้ป่วยแถลงไทม์ไลน์ผ่านเฟซบุ๊กตัวเองว่า อยู่บ้าน ก็ต้องไปพิสูจน์เพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่  


         ผู้ป่วยรายที่ 658 ผู้ป่วยชาย อาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ข้อมูลลงในใบโนเวลว่าไปร่วมงานวันเกิดเพื่อนที่โรงแรมบันยันทรี เขตสาทร แต่มาเปลี่ยนข้อมูลภายหลังว่าไม่ได้ไป เพียงเเค่เพื่อนมาหา ส่วนระหว่างวันที่ 10-12 ม.ค.64 และวันที่ 14-21 ม.ค.64 ไม่ยอมให้ข้อมูล  แต่มาเปิดเผยทีหลัง ก็จะต้องไปสอบสวนโรคเพิ่มว่าข้อมูลที่ให้มา เป็นจริงหรือไม่   


          โฆษกกรุงเทพมหานคร ระบุว่า การสอบสวนไทม์ไลน์ไม่ได้สอบสวนแค่ครั้งเดียวจะเสร็จสิ้น เช่น กรณีผู้ป่วยกลุ่มก้อนงานเลี้ยงวันเกิด ต้องสอบสวนโรคเพิ่มเติมหลายครั้งมาก เพราะในครั้งแรกผู้ป่วยบางรายไม่ยอมให้ข้อมูล แต่มาให้ข้อมูลภายหลัง เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ก็ต้องตรวจสอบอีกว่า ข้อมูลนั้นเป็นจริงหรือไม่ หากให้ข้อมูลเท็จ เจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย  ส่วนทีมสอบสวนโรคของกรุงเทพมหานคร มีหลายทีม แต่จะให้เจ้าหน้าที่ 1 คน ต่อการรับผิดชอบซักถามผู้ป่วย 1 คนเท่านั้น เพื่อป้องกันความสับสน ดังนั้นยืนยันได้ว่า การสอบสวนโรคของกรุงเทพมหานคร เป็นไปตามขั้นตอน  มีเอกสารการสอบสวนโรคที่ชัดเจน ซึ่งทางกรุงเทพมหานครจัดเก็บไว้ทั้งหมด หากผู้ป่วยรายใดสงสัย สามารถขอดูไทม์ไลน์ตัวเองได้  


          ส่วนกรณีผู้ป่วยให้ข้อมูลแล้ว แต่ขอเจ้าหน้าที่สงวนความเป็นส่วนตัวไว้  สามารถทำได้เฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในที่ส่วนตัว เช่น มีเพื่อนมาหาที่คอนโดมิเนียม และไม่อยากเปิดเผยความสัมพันธ์ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังต้องไปสอบสวนโรคเพื่อนคนนั้น แต่ไทม์ไลน์ที่อยู่ในที่สาธารณะจะไม่สามารถปกปิดหรือสงวนไว้ส่วนตัวได้ 


          โฆษกกรุงเทพมหานคร ยังกล่าวถึงการตรวจสอบโรงแรมที่เปิดให้จัดงานเลี้ยง ทางกรุงเทพมหานคร จะแยกตรวจสอบเป็น 2 กรณี คือ การจัดเลี้ยงผิดข้อบังคับหรือไม่ จำนวนคนร่วมงานเลี้ยงเกินกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรการป้องกันโรคระบาดหรือไม่  และกรณีเปิดร้านเกินเวลาหรือไม่  ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร จะประสานตำรวจเพื่อตรวจสอบกล้องวงจรปิด และสอบสวนต่อไป หากพบว่ามีความผิดก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย 


 


 
ข่าวทั้งหมด

X