ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30น.วันพุธที่ 27 มกราคม 2564

27 มกราคม 2564, 09:12น.



ตัวเลขความเชื่อมั่นท่องเที่ยว ไตรมาส 1 ร่วงลงแรง กทม.แย่สุด  



          สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แถลงผลการศึกษาดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ประจำไตรมาส 4/2563 ซึ่งผลการสำรวจพบว่าดัชนีอยู่ที่ 62 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3/2563 เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับอานิสงส์จากโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ และคาดการณ์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2564 อยู่ที่ 53 ถือว่าต่ำมากผิดปกติ เนื่องจาก การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และคาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวรายภาค กรุงเทพมหานคร แย่ที่สุด แต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือดีที่สุด รองลงมาคือ ภาคเหนือ พบว่า ธุรกิจนำเที่ยวปิดกิจการมากที่สุด ร้อยละ 23 รองลงมาคือ ธุรกิจบันเทิง ร้อยละ 22 ธุรกิจสปา นวดแผนไทย ร้อยละ 21 และธุรกิจโรงแรมที่พัก ร้อยละ 20




แรงงานท่องเที่ยว กระทบหนักพิษโควิด-19




          นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานภาคการท่องเที่ยวจำนวนกว่า 4,000,000 คน ได้รับผลกระทบจากการถูกพักงานชั่วคราว และถูกลดเงินเดือน ซึ่งระบาดระลอกใหม่ อาจจะทำให้ภาคแรงงานท่องเที่ยวตกงานมากกว่า 2,000,000 คน เนื่องจาก ผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่มีทุนพอที่จะจ้างงานต่อได้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเชื่อว่า เมื่อมีวัคซีน การท่องเที่ยวจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอาจจะปิดกิจการไปแล้วเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เสียโอกาสต่อภาคการท่องเที่ยวไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงเห็นว่าจำเป็นต้องเร่งสร้างธนาคารแรงงานภาคท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ถูกเลิกจ้าง ถูกพักงาน สามารถสมัครเข้ามาเพื่อหาโอกาสในการทำงาน และผู้ประกอบการสามารถเข้ามาเลือกจ้างงานผู้ที่มีทักษะตรงกับความต้องการ



ครม.เยียวยากิจการสปา-นวดเพื่อสุขภาพ ยกเว้นค่าธรรมเนียม 1 ปี




          น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียม การประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพรายปี ให้แก่ผู้ประกอบกิจการสปา และกิจการนวดเพื่อสุขภาพ หรือเพื่อเสริมความงาม เป็นระยะเวลา 1 ปี  กิจการสปาเสียค่าธรรมเนียมปีละ 1,000 บาท และกิจการนวดเพื่อสุขภาพ หรือเพื่อเสริมความงาม เสียค่าธรรมเนียมปีละ 500 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ต้องปิดกิจการ มีรายได้ลดลง



          นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า มีกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี ประเภทกิจการสปา จำนวน 896 ร้าน กิจการนวดเพื่อสุขภาพและเพื่อเสริมความงาม จำนวน 9,918 ร้าน จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรายปี รวมเป็นเงิน 5,828,000 บาท แต่การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะเป็นการช่วยเหลือลดภาระให้ผู้ประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ



คลัง เตรียมหาทางช่วยผู้มีรายได้น้อย ใช้เกณฑ์รายได้ต่ำกว่าปีละแสนบาท



          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ  สั่งการให้กระทรวงการคลังพิจารณาช่วยเหลือ ผู้อยู่นอกความช่วยเหลือของรัฐบาล โดยเกณฑ์การช่วยเหลือต้องเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะใช้เกณฑ์รายได้เท่าไหร่ เช่น อาจจะต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปี  เนื่องจาก รัฐบาลมีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 โดยช่วยเหลือคนกลุ่มประกอบอาชีพอิสระ หรือ อยู่นอกระบบแรงงานไปแล้วหลายกลุ่ม เช่น



-กลุ่มแรกได้รับความช่วยเหลือแบบไม่ต้องลงทะเบียน คือ กลุ่มคนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14,000,000 คน -กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มคนลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง 15,000,000 คน และกลุ่มคนที่ลงทะเบียนเราเที่ยวด้วยกัน




-กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่อยู่นอกเหนือจากจากกลุ่มที่ 1-2 ซึ่งหมายถึงการครอบคลุมคนทุกคนในประเทศ สำหรับการจะให้สิทธิประโยชน์แก่คนในกลุ่มที่ 3 ต้องมีระบบการคัดกรอง เช่น กรณีเป็นลูกจ้างของรัฐ จะต้องไม่เป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีของ ก.พ. (ซึ่งหมายถึงข้าราชการประจำ) หรือกรณีที่เป็นพนักงานในบริษัทเอกชน และมีประกันสังคมตามมาตรา 33 จะต้องเป็นบุคคลที่มีรายได้ต่ำ เช่น ลูกจ้างรายวัน วันละ 300-350 บาท เช่น ลูกจ้างรายวันหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะมีรายได้น้อยและมีความเสี่ยงกรณีงบประมาณไม่พอจัดจ้างในปีต่อไป เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้จะต้องดูแล



-รัฐบาลเน้นให้ความช่วยเหลือแรงงานนอกระบบและอาชีพอิสระ และได้ขยายไปถึงผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก วินจักรยานยนต์รับจ้าง ระบบรถไฟฟ้า และรถไฟระหว่างเมือง



ผู้ว่าฯ อุบลฯ เอาผิดคนที่เดินทางเข้ามาแล้วไม่แจ้ง ย้ำต้องโหลดแอปฯ ฮักอุบล




          นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เปิดเผยว่า พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัศโควิด-19 คนที่ 4 เป็นชายอายุ 30 ปี ทำงานอยู่ในร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ที่ศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ เดินทางกลับมาบวชหน้าไฟให้กับยายที่บ้านบัวแดง ต.หนองบัวฮี อ.พิบูลมังสาหาร โดยนั่งรถทัวร์เที่ยวค่ำถึงบ้านในตอนเช้าวันที่ 20 ม.ค.64  โดยพ่อขับรถยนต์ส่วนตัวไปรับจากตัวอำเภอกลับมาบ้าน และไม่ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ จึงไม่มีการกักตัว



          กรณีนี้ทำให้ ผู้ว่าฯอุบลราชธานี สั่งยกระดับมาตรการตรวจเข้มตามด่านตรวจ และเอาผิดกับคนที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงแล้วไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นที่ ซึ่งจากการตรวจวัดอุณหภูมิแล้วไม่เป็นไข้ แต่ก็ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ รวมทั้งต้องโหลดแอปพลิเคชันฮักอุบล หรือหมอชนะ ระหว่างเข้ามาอยู่ในจังหวัดด้วย โดยมีไทม์ไลน์ ดังนี้



-วันที่ 19 ม.ค. 64 เดินทางออกจากกรุงเทพฯ เที่ยวรถเวลา 18.30 น.ด้วยรถโดยสารประจำทาง บริษัท โลตัสพิบูลทัวร์ กทม.-อุบลฯ



-วันที่ 20 ม.ค. 64 เวลา 04.00 น. ถึง อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี พ่อและน้องเขยมารับกลับบ้านพักเลขที่ 253 หมู่ 16 บ้านหนองบัวแดง ต.หนองบัวฮี อ.พิบูลมังสาหาร ด้วยรถยนต์ส่วนตัวเพื่อมาทำบุญงานศพคุณยาย (ทุกคนสวม mask)

เวลา 12.00 น. ไปวัดบ้านบัวแดง ต.หนองบัวฮี อ.พิบูลมังสาหาร (บวชหน้าไฟ)

เวลา 14.00 น. พิธีฌาปนกิจศพ ที่วัดบ้านบัวแดง ต.หนองบัวฮี อ.พิบูลมังสาหาร

เวลา 18.00 น. พิธีสวดมนต์เย็น บ้านเลขที่ 253 ม.16 ต.หนองบัวฮี อ.พิบูลมังสาหาร

-วันที่ 21-22 ม.ค.64 อยู่บ้านพักบ้านเลขที่ 253 ม.16 ต.หนองบัวฮี อ.พิบูลมังสาหาร

-วันที่ 23 ม.ค. 64 เวลา 14.00 น. ไปโลตัส อ.พิบูลมังสาหาร แวะซื้อ KFC

-วันที่ 24 ม.ค. 64 ที่ทำงานที่เป็นร้านอาหารแบบบุฟเฟ่ต์นานาชาติ ซีพี ไห่หลาย ฮาร์เบอร์ (CP-Hilai Harbour) ชั้น 6 ห้าง ICON SIAM กรุงเทพฯ โทรมาแจ้งให้พนักงานทุกคนตรวจหาเชื้อโควิด-19 เนื่องจาก พบผู้ป่วยยืนยันในร้านอาหาร

-วันที่ 25 ม.ค. 64 เวลา 09.40 น. เดินทางไปที่โรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรี เพื่อขอใบรับรองแพทย์ก่อนกลับไปทำงาน

เวลา 10.30 น. โรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรี ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี Rapid Antigen Test พบผลบวก



เวลา 11.30 น. โรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรี ส่งตรวจยืนยันเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ที่ห้องปฏิบัติการ สคร. 10 อุบลราชธานี

เวลา 16.30 น. ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 โรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรี รับตัวไว้รักษา (ผู้ป่วยไม่มีอาการใดๆ)



          นายสฤษดิ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้ลงตรวจค้นหาเชิงรุกกับชาวบ้านที่เป็นคนกลุ่มเสี่ยงของบ้านบัวแดงทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มเพื่อนที่ร่วมดื่มสังสรรค์กัน รวมทั้งยังได้ตรวจไปถึงพื้นที่ตำบลคันไร่ ที่ลูกของผู้ติดเชื้อพักอาศัยอยู่ โดยผลการตรวจหาเชื้อในคนกลุ่มเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิด คาดจะรู้ผลในเร็วๆ นี้



         สำหรับผู้มีโอกาสสัมผัสคนอื่นๆ ที่ผู้ป่วยไปเดินห้างกับลูก ก็ขอให้มาพบกับเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับการตรวจเพิ่มเติม หรือให้กักตัวสังเกตดูอาการ 14 วัน เพราะผู้ติดเชื้อเป็นผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการ การแพร่เชื้อยังมีน้อย และตลอดเวลาที่อยู่นอกบ้านก็ได้สวมหน้ากากอนามัย




          สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี มีทั้งหมด 4 คน รักษาหายและกลับไปใช้ชีวิตตามปกติแล้ว 2 คน เหลือยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อ.เมืองอุบลราชธานี 1 คน เป็นพ่อค้าขายผักอายุ 62 ปี ชาว อ.สว่างวีระวงศ์ ปัจจุบันตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่ยังมีภาวะโรคไต รักษาตัวอยู่ ส่วนรายล่าสุดไม่แสดงอาการ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอุบลรักษ์ธนบุรี



CR:สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.อุบลราชธานี 




 

ข่าวทั้งหมด

X