ทันสถานการณ์โลกเวลา 06.30น.วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2564

14 มกราคม 2564, 06:10น.


ผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลีย เรียกร้องให้ระงับการใช้วัคซีนจากแอสตราเซเนกา



          ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลีย เรียกร้องให้ระงับโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตราเซเนกา อ้างอิงข้อมูลจากผลการศึกษาที่เผยแพร่ใน "แลนเซ็ต" วารสารด้านการแพทย์ เมื่อเดือนที่แล้วที่พบว่าวัคซีนที่ร่วมมือพัฒนาระหว่างสหราชอาณาจักรกับสวีเดน ต้องฉีดเต็มจำนวน 2 โดส มีประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 62 ในการทดลองกลุ่มใหญ่ในบริษัทสหราชอาณาจักรและบราซิล ซึ่งน้อยพอสมควร หากเปรียบเทียบกับวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าร้อยละ 90 อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียได้จัดซื้อวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาเรียบร้อยแล้วจำนวน 53 ล้านโดส



          ศาสตราจารย์ สเตฟาน เทอร์เนอร์ ประธานประชาคมออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพื่อภูมิคุ้มกันวิทยา(ASI) เปิดเผยว่า วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกรา ไม่ใช่วัคซีนที่จะใช้ในวงกว้างเนื่องจากมีประสิทธิภาพในระดับต่ำ

          ต่อมา  ASI แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำแถลงของศาสตราจารย์เทอร์เนอร์ ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวในฐานะผู้เชี่ยวชาญ และไม่ได้เป็นตัวแทนขององค์กร พร้อมเน้นจุดยืนอย่างเป็นทางการของ ASI ที่ไม่สนับสนุนให้ระงับแจกจ่ายวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา



          ตัวแทนของบริษัทแอสตราเซเนกา ยืนยันมาตลอดว่าโลกจำเป็นต้องมีวัคซีนที่มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพหลายๆตัว รวมถึงยาอื่นๆสำหรับต่อสู้กับโรคโควิด-19 พร้อมทั้งอ้างผลการทบทวนผลการทดลองโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาที่พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพเกินเกณฑ์ขั้นต่ำร้อยละ 50 ตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้



          นอกจากวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกาแล้ว รัฐบาลออสเตรเลียยังได้สั่งซื้อวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์จำนวน 10 ล้านโดส แต่จนถึงตอนนี้คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบของประเทศ ยังไม่ได้อนุมัติใช้วัคซีนทั้ง 2 ตัว 



ซิโนแวกซ์ ยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีนว่ามีความปลอดภัย  



          นายหยิน เหว่ยตง ประธานบริษัทซิโนแวกซ์ ไบโอเทค ยืนยันว่า วัคซีน CoronaVac ของบริษัทมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 หลังจากมีรายงานว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสเพียงร้อยละ 50.4



          สื่อรายงานว่า ผลการทดลองทางคลินิกของวัคซีน CoronaVac ของซิโนแวกซ์ ในบราซิล ให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 เพียง ร้อยละ 50.4 กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่มากนัก แตกต่างจากข้อมูลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่มีรายงานว่า วัคซีนดังกล่าวให้ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ถึงร้อยละ78 ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงถึงขั้นรุนแรง



          รัฐบาลมาเลเซีย แถลงว่า รัฐบาลจะเดินหน้ากระบวนการจัดซื้อวัคซีนจากซิโนแวกซ์ก็ต่อเมื่อวัคซีนดังกล่าวมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานขององค์การอาหารและยาของมาเลเซีย หลังจาก บริษัท Pharmaniaga Bhd ของมาเลเซียได้ลงนามในข้อตกลงกับซิโนแวกซ์เพื่อซื้อวัคซีน CoronaVac จำนวน 14 ล้านโดส



          ส่วนทางการสิงคโปร์ ระบุว่า รัฐบาลจะพิจารณาจากข้อมูลอย่างเป็นทางการของบริษัทซิโนแวกซ์ที่จะมีการเผยแพร่ในอนาคต มากกว่าที่จะอ้างอิงจากตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีการรายงานในข่าว ก่อนที่จะทำการตัดสินใจว่าจะอนุมัติวัคซีนดังกล่าวหรือไม่



สาธารณสุขไทย ประสานขอข้อเท็จจริงจากซิโนแวกซ์



         นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กับ นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงเรื่องนี้ว่า ไทยได้ขอข้อมูลโดยตรงไปยังบริษัทซิโนแวกซ์แล้ว รอให้มีการตอบกลับมาอย่างเป็นทางการว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นอย่างไร



          นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนเพื่อใช้วัคซีนตัวนี้ กำลังดำเนินการทางเอกสารกับ อย.อยู่ ทางซิโนแวกซ์ จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นให้กับทางไทยทราบอยู่แล้ว ถือว่าข่าวที่ออกมาไม่มีผลกระทบต่อแผนการฉีดวัคซีนของไทย ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผน แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นข้างหน้าก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังไม่มีผลกระทบ คาดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน คือเดือนก.พ.2564 จะสตาร์ทได้



          อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ย้ำว่า การพิจารณาวัคซีนที่จะเอาเข้ามานั้นต้องดูประสิทธิภาพ คุณภาพ และคุณสมบัติการบริหารจัดการในไทย เรื่องราคา และจำนวนที่จะมีให้ แต่ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าวัคซีนที่จะเอามาใช้ประสิทธิภาพต้องยอมรับได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่าหากเกินร้อยละ 50 ขึ้นไป สามารถยอมรับให้นำมาใช้ได้ ขณะที่ผลข้างเคียงก็ต้องไม่มาก

          นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ข้อดีประการหนึ่งของวัคซีนจีนเมื่อเทียบกับอีก 2 บริษัท อยู่ที่ของจีนเป็นวัคซีนเชื้อตาย เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่คุ้นชิน และยังมีข้อมูลว่าประเทศจีนนำไปฉีดให้ทหาร และบุคลากรการแพทย์หลายแสนคน ยังไม่พบผลข้างเคียงอะไรที่น่ากังวล ในขณะที่เราพบว่า การพัฒนาวัคซีนของบางเจ้ามีผลข้างเคียงทำให้คนที่รับวัคซีนไม่สามารถไปปฏิบัติงานได้ หรือต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรการแพทย์จำนวนเปอร์เซ็นต์ไม่น้อย

          ด้าน นพ.สุรโชค กล่าวว่า การพิจารณาขึ้นทะเบียนวัคซีนต้องทำอย่างรอบคอบ โดยดูเรื่องคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย มีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศช่วยกันพิจารณาให้รวดเร็วและรอบคอบ ขณะนี้มี  2 บริษัท ที่ยื่นขอจดทะเบียนเข้ามา คือ แอสตราเซนเนกา และซิโนแวกซ์ ซึ่งข้อมูลบางอย่างยังไม่ครบ แต่ขอให้ยื่นมาให้ครบภายในเดือนนี้



          รองเลขาธิการอย. ระบุว่า เดิมการยื่นขอขึ้นทะเบียนต้องส่งข้อมูลให้ครบถ้วน แต่สำหรับวัคซีนโควิด-19 ต้องดำเนินการให้เร็ว จึงให้ทยอยส่งข้อมูลได้ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้ค่อยๆ ทยอยดูข้อมูล แต่การจะพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ต้องรอให้ข้อมูลครบทั้งหมดก่อน เช่นเดียวกับผู้ที่ต้องการนำเข้าก็ต้องมาขออนุญาตจาก อย.เช่นกัน โดยต้องมีเอกสารข้อมูลประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัยวัคซีนที่จะมีการนำเข้ามาถึงจะได้รับการอนุญาตนำเข้าได้



จีน สั่งระงับเที่ยวบินจากสองสายการบิน หลังพบผู้โดยสารติดโควิด



          สำนักงานการบินพลเรือนของจีน (CAAC) ประกาศระงับเที่ยวบินขาเข้าของสายการบินแอร์ไชน่า (Air China) และสายการบินปากีสถาน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ (PIA) หลังพบผู้โดยสารหลายรายติดเชื้อโควิด-19



-CAAC รายงานว่า พบผู้โดยสารติดเชื้อโควิด-19 จำนวนทั้งสิ้น 5 คน เที่ยวบินที่ CA868 ของสายการบินแอร์ไชน่า เส้นทางระหว่างโจฮันเนสเบิร์ก-เซินเจิ้น เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2563และจะมีการระงับเที่ยวบินเป็นเวลา 2 สัปดาห์เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.2564



-นอกจากนี้ ยังได้ระงับเที่ยวบินที่ PK854 ของสายการบินปากีสถาน อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ ระหว่างกรุงอิสลามาบัด-ซีอาน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.2564 เช่นกัน หลังพบผู้โดยสาร 10 คน มีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวกเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2564



          สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ตามนโยบายล่าสุดของ CAAC  กำหนดไว้ว่าการระงับเที่ยวบินจะกินเวลาตั้งแต่ 1 สัปดาห์ไปจนถึง 4 สัปดาห์ หากพบผู้โดยสารติดเชื้อ 5 คนขึ้นไป และจะระงับเที่ยวบินเป็นเวลา 4 สัปดาห์ หากจำนวนผู้โดยสารที่ติดเชื้อมีตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป



สภาฯผ่านมติถอดถอน 'ทรัมป์' 232-197 เสียง  



สถานการณ์ที่สหรัฐฯ ที่ต้องจับตามองในขณะนี้มีหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน



-สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรสหรัฐฯ ลงมติเห็นชอบถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ออกจากตำแหน่ง ด้วยคะแนนเสียง 232 ต่อ 197 เสียง ไม่ออกเสียง 5 เสียง การถอดถอนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่กลุ่มผู้สนับสนุนบุกอาคารรัฐสภาเมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนบางส่วนเฝ้ามองอย่างใกล้ชิดว่ากระบวนการนี้จะส่งผลกระทบทำให้แพ็คเกจเยียวยาโควิด-19 ล่าช้าหรือไม่ หรือจะกระทบต่อวาระของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มากน้อยเพียงใด เนื่องจากวาระการถอดถอนของนายทรัมป์ จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา



-ด้านนายไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เตรียมประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในวันนี้ เพื่อเยียวยาชาวอเมริกันและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มาตรการดังกล่าวจะมีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ



-นอกจากนี้ รัฐบาลชาติต่างๆทั่วยุโรป ยกระดับความเข้มข้นและขยายเวลามาตรการล็อกดาวน์สกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากกังวลการกลายพันธุ์โควิด-19 ที่พบในสหราชอาณาจักร ซึ่งแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายกว่าเดิมหลายเท่า ท่ามกลางความคาดหมายว่าวัคซีนคงช่วยอะไรไม่ได้มากในช่วง 2 หรือ 3 เดือนนี้



-จีน ชาติผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวัน สูงสุดในรอบกว่า 5 เดือน แม้มีการล็อกดาวน์ ยกระดับการตรวจเชื้อและมาตรการอื่นๆ ซึ่งมีเป้าหมายป้องกันการแพร่ระบาดระลอกใหม่

 



นักลงทุนในตลาดวอลล์สตรีท จับตาความตึงเครียดทางการเมืองในสหรัฐฯ



         จากปัจจัยทางการเมืองและความกังวลเรื่องความรุนแรงในวันที่นายไบเดน สาบานตนรับตำแหน่ง จะมีความวุ่นวายเกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อการลงทุน



-ดาวโจนส์ ลดลง 8.22 จุด หรือร้อยละ 0.03 ปิดที่ 31,060.47 จุด



-เอสแอนด์พี เพิ่มขึ้น 8.65 จุด หรือร้อยละ 0.23 ปิดที่ 3,809.84 จุด



-แนสแดค เพิ่มขึ้น 56.52 จุด หรือร้อยละ 0.43 ปิดที่ 13,128.95 จุด

         ความกังวลดังกล่าวทำให้นักลงทุนถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ ทำให้ราคาทองคำ ปิดตลาดขยับขึ้นอย่างแข็งแกร่ง



-ราคาทองคำตลาดโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนก.พ.2564 เพิ่มขึ้น 10.70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดที่ 1,854.90 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์



-สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส อินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนก.พ.2564 ลดลง 30 เซ็นต์ ปิดที่ 52.91 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล



-เบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนมี.ค.2564 ลดลง 52 เซ็นต์ ปิดที่ 56.06 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X