ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30 น.วันพุธที่ 13 มกราคม 2564

13 มกราคม 2564, 10:12น.



กรมชลฯ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 จังหวัดภาคใต้ เร่งระบายน้ำลงทะเล




          การให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่เดือดร้อนหนักจากน้ำท่วม กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ยังคงมีกำลังแรง ทำให้คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรงอย่างต่อเนื่อง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระวังอันตราย



         นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งสำรวจพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตร ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยให้วางมาตรการเยียวยาเกษตรกรในพื้นที่อย่างทั่วถึง พร้อมทั้งสั่งการให้กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว



          ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า มี 4 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ได้แก่ สงขลา นราธิวาส ปัตตานี และยะลา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้นำเครื่องจักร เครื่องมือ ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำรวม 24 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำรวม 16 เครื่อง เครื่องสูบน้ำ Hydro Flow 7 เครื่อง และ เครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้า รวม 20 เครื่อง นำไปติดตั้งในจุดเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้ลงทะเลอย่างต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ






CR:กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์



นายกฯ เปิด 5 ช่องทาง ให้ประชาชน แจ้งเรื่องทำผิดกฎหมายโดยตรง



         พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เปิดช่องทางแจ้งเบาะแสถึง นายกฯ โดยตรง หากประชาชนพบการกระทำผิด ปล่อยปละละเลย กระทำผิดกฎหมาย บ่อนการพนัน ค้าประเวณี การลักลอบนำแรงงานต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย เป็นสาเหตุที่ทำให้โรคโควิด-19 แพร่ระบาด สามารถแจ้งโดยตรงได้ ผ่าน 5 ช่องทาง




1. สายด่วนรัฐบาล โทร. 1111



2. ส่งจดหมายมาที่ ตู้ ปณ.1111 ทำเนียบฯ



3. ผ่าน website www.1111.go.th ทุกวันตลอด 24 ชม.



4. ผ่าน Mobile Application : PSC 1111 Application



5. จุดบริการประชาชนที่ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. อาคารสำนักงาน ก.พ. เดิม ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต



ครม. มีมติช่วยประชาชนลดผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่



• จ่ายเงินเยียวยาโควิด-19 คนละ 3,500 บาท/คน/เดือน นาน 2 เดือน กระทรวงการคลัง จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบวันที่ 19 ม.ค.2564 จากนั้นจึงเปิดให้ลงทะเบียนในชื่อโครงการเราชนะ เริ่มจ่ายเงินเร็วที่สุดในปลายเดือน ม.ค.2564 หรืออย่างช้าต้นเดือน ก.พ.2564 เบื้องต้นจะครอบคลุมประมาณ 30 ล้านคน รวมแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม



• ลดค่าน้ำประปา 10% นาน 2 เดือน ตั้งแต่ ก.พ. - มี.ค. 2564



• ขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและค่าธรรมเนียมการโอน



• เปิดลงทะเบียนโครงการคนละครึ่งรอบเก็บตกจำนวน 1 ล้านสิทธิ วันที่ 20 ม.ค. 2564



• ลดค่าไฟฟ้า สำหรับบ้านที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วย/เดือน ใช้ไฟฟรี 90 หน่วยแรก และกิจการขนาดเล็กงดเก็บค่าไฟ 50 หน่วยแรก นาน 2 เดือน ตั้งแต่ ก.พ. - มี.ค. 2564



วันนี้ กกพ. ประชุม 3 การไฟฟ้า หารือลดค่าไฟ 2 เดือน



          นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การลดค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 2 เดือน เพื่อลดภาระประชาชนและผู้ประกอบการ จากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ หลังจาก ครม.เห็นชอบ วันนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะประชุมร่วมกับ 3 การไฟฟ้า เพื่อกำหนดรายละเอียดและออกประกาศต่อไป  ซึ่งการลดค่าไฟฟ้าในรอบนี้ คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 8,000 ล้านบาท โดย 3,000 ล้านบาทมาจากเงิน ที่ กกพ.ดูแล  ซึ่งมาจากเงินลงทุนของ 3การไฟฟ้าที่ ล่าช้ากว่าแผน ส่วนอีก 5,000 ล้านบาท มาจากเงินเยียวยาที่กระทรวงการคลังดูแล 



          สำหรับการช่วยเหลือ ลดค่าไฟฟ้ารอบนี้ ครอบคลุมทั้งประชาชน ผู้ประกอบการรายเล็ก-กลาง-ใหญ่ โดย ขนาดกลาง-ใหญ่ เป็นมติเดิมที่มีอยู่แล้ว คือ ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) จนถึงเดือนมี.ค. 2564 จากที่ปกติ หากไม่มีการใช้ไฟฟ้าก็ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในสัดส่วนร้อยละ 70 ของการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 เดือน โดยในกรณีคือ จ่ายค่าไฟฟ้าเท่าที่ใช้จริงเท่านั้น ซึ่งกรณีปิดโรงแรมหรือที่พักเป็นการชั่วคราว ไม่มีการใช้ไฟฟ้าเลยก็ไม่ต้องจ่าย




อนุมัติงบฯ กว่า 470 ล้าน ให้ ก.กลาโหม บริหารจัดการ SQ  



          มติ ครม. อนุมัติจากงบประมาณเพิ่มเติม 473,150,000 บาท ให้กระทรวงกลาโหมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ (State Quarantine) งบประมาณส่วนนี้เป็นระยะที่ 5 ที่ครอบคลุมระยะเวลา ในวันที่ 1 ต.ค.-30 พ.ย. 2563 โดยเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการภายในพื้นที่กักกันโรคแห่งรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายบุคลากร 24,000 กว่าคน ค่าตอบแทนบุคลากร ค่าเช่าที่พัก ค่าวัสดุการแพทย์ ค่าใช้จ่ายยานพาหนะในภารกิจต่าง ๆ ให้แก่ กระทรวงกลาโหม



จ.นนทบุรี เริ่มคลายล็อก เปิดบางตลาด หลังครบกำหนดเวลาสกัดโควิด-19



          หลังจากที่ จ.นนทบุรี ปิดสถานที่หลายแห่งสกัดโควิด-19  โดยเฉพาะการสั่งปิดตลาดกลางบางใหญ่ คอนโดสีชมพู ตลาดบางบัวทอง วัดละหาร วัดเล่งเน่ยยี่ 2 และตลาดพิชัยปากเกร็ด จนถึงวันที่ 12 ม.ค. 2563 จนครบกำหนดและในวันนี้ปลดล็อกแล้ว เมื่อวานนี้ จังหวัดได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ทำความสะอาด และตรวจคัดกรองซ้ำ ทั้งผู้ค้าและแรงงานที่จะกลับมาทำงานตามปกติในพื้นที่ต่างๆ อย่างเข้มงวด



          นายชุ้น ณัฐเดช กังสุกุล นายอำเภอบางใหญ่ กล่าวว่า คนที่ถูกกักตัวในคอนโดสีชมพูจำนวน 845 คนจะครบกำหนดคลายล็อกในวันนี้ อำเภอได้จัดทำทะเบียนประวัติผู้ที่พักอาศัยในคอนโดสีชมพูทั้งหมดแล้ว เมื่อปล่อยตัวผู้ถูกกักตัวทั้งหมดแล้ว จะระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งหมดเข้าทำการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดภายในตัวอาคารทั้งหมดต่อไป



          นางพรเพ็ญ อยู่สุข ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางเทศบาลเมืองบางบัวทอง ทำความสะอาดบิ๊กคลีนนิ่งเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดตลาดสดทั้ง 2 แห่งของเทศบาลคือ ตลาดเพียรเจริญและตลาดสดเทศบาลเมืองบางบัวทองในวันนี้ เทศบาลเพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนด้วยการตรวจคัดกรองเชื้อให้กับผู้ค้าและแรงงานในตลาดทั้งสองแห่ง ด้วยการตรวจคัดกรอง 2 ครั้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนที่มาซื้อของ




ระนอง สกัดโควิด-19 ล็อก 3 ชั้น ควบคุมการลอบเข้าเมือง



          นายสมเกียรติ  ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า จังหวัดระนองสามารถควบคุมไม่ให้เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดในพื้นที่ได้ จากความสำเร็จในการสกัดกั้นผู้อพยพหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา หรือผู้อพยพหลบหนีทางทะเลชาวโรฮิงญา ไม่ให้เข้ามาถึงพื้นที่ชายแดนระนองและลักลอบขึ้นฝั่งได้ ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญในการสกัดกั้นการระบาดเชื้อโควิด-19 จากประเทศเพื่อนบ้าน แม้ล่าสุดในพื้นที่จังหวัดระนองจะมีผู้ติดเชื้อ 1 คน แต่เป็นกรณีชาวไทยที่ขับรถรับส่งสินค้าจากระนองไปสมุทรสาคร ไม่ใช่เกิดจากเชื้อนำเข้า



รายละเอียดแผน 3 ชั้น ประกอบด้วย



1.ทางเรือ มีการบูรณาการร่วมระหว่างทัพเรือภาคที่ 3 ที่นำเรือรบเข้ามาประจำการในการช่วยลดตระเวนตลอดแนวน่านน้ำทะเลอันดามันชายฝั่งด้านจ.ระนอง-เกาะสอง ลาดตระเวนร่วมกับเรือตรวจการณ์ตำรวจน้ำระนอง โดยในช่วงกลางวันจะใช้วิธีการตรวจการณ์ด้วยสายตา กลางคืนจะใช้เรดาห์ในการตรวจการณ์



-ทัพเรือภาค 3 ได้แบ่งการลาดตระเวนเฝ้าระวังสกัดกั้นออกเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นที่ 1 ใช้เรือเร็ว เรือยางตรวจการณ์ตลอดลำน้ำกระบุรี พร้อมจัดกำลังพลชุดลาดตระเวนตลอดแนวชายแดน ชั้นที่ 2 ใช้เรือตรวจการณ์ขนาดกลาง จอดลอยลำอยู่บริเวณกึ่งกลาง ระหว่างปากแม่น้ำกระบุรีกับทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นจุดที่มีความเสี่ยงในการลักลอบนำพาชาวเมียนมาเข้าพื้นที่ ส่วนชั้นที่ 3 ใช้เรือรบขนาดใหญ่ออกลาดตระเวนกลางทะเลอันดามัน บริเวณใกล้กับน่านน้ำประเทศเมียนมา



2.การตรวจการณ์ทางอากาศ  ได้รับการสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์จากทัพเรือภาคที่ 3 เข้ามาบินสนับสนุนการตรวจการณ์ในแต่ละช่วง โดยจะเน้นการบินวนตรวจการณ์ในจุดเสี่ยงที่เป็นช่องทางธรรมชาติ จำนวน 14 จุดที่ต้องเฝ้าระวังพิเศษ ตลอดแนวชายแดนด้าน จ.ระนอง 168 กม. พร้อมกันนี้ทางจังหวัดได้รับการสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ภาค 3 ได้นำอากาศยานไร้คนขับ (UAV) แบบ Orbiter 3B มาใช้ในภารกิจสนับสนุน ทำการบินลาดตระเวนตรวจการณ์ทางทะเลตามแผนตลอดแนวชายแดน เพื่อตรวจสอบช่องทางธรรมชาติตามจุดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ หรือเรือประมงที่ต้องสงสัย        



3.การตรวจการณ์ในช่องทางทางบก มีทหารจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 25 กองกำลังเทพสตรี ตำรวจภูธรจังหวัดระนอง ตชด.ที่ 415  ร่วมจัดกำลังพลลาดตระเวนทางอากาศตรวจเข้มตลอดแนวชายแดน (ระนอง-เกาะสอง) พื้นที่ อ.กระบุรี อ.เมืองระนอง เพื่อป้องกันแรงงานชาวเมียนมา หรือขบวนการขนแรงงานชาวเมียนมาหลบหนีเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติโดยผิดกฎหมาย



          ส่วนชั้นสุดท้ายในการเฝ้าระวัง และสำคัญที่สุด คือ ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน ที่ชาวบ้านคือกำลังสำคัญ ที่คอยสอดส่องดูแลความเคลื่อนไหวของบุคคลแปลกหน้า ที่เข้ามาหรือผ่านเข้ามาในพื้นที่



แฟ้มภาพ ทัพเรือภาคที่ 3




จ.พังงา เพิ่มการคุมเข้มตรวจคัดกรอง-เช็คเอกสาร-ตั้งทีมสอบสวนโรค   



          เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ สาธารณสุข จ.พังงา ตั้งจุดสกัด จุดคัดกรองบริเวณด่านตรวจบ้านท่านุ่น ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง พร้อมตรวจวัดอุณหภูมิ เอกสารการเดินทางข้ามจังหวัด ประวัติการเข้าพื้นที่เสี่ยงสำหรับประชาชนที่เดินทางสัญจรเข้า-ออกจาก จ.พังงา ขณะที่แต่ละอำเภอทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดพังงา มีการตั้งจุดอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องการ เดินทางสัญจรข้ามจังหวัด โดยผู้ที่ต้องการเดินทางเข้า-ออกข้ามจังหวัดต้องมีหนังสือจากทางอำเภอต้นทาง พร้อมโหลดแอปพลิเคชัน หมอชนะ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย กรอกประวัติข้อมูลแต่ละบุคคล พร้อมสถานที่และเบอร์โทรติดต่อ



          จ.พังงา ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อรายที่ 247 พบว่ามีประวัติเดินทางเข้าพักและท่องเที่ยวใน จ.พังงา เมื่อวันที่ 30-31 ธ.ค. 2563 ทำให้จังหวัด ตั้งทีมสอบสวน โดยมีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย พบผู้เสี่ยงต่ำจำนวน 42 คน ทำการส่งตรวจเชื้อแล้วจำนวน 6 คน ผลเป็นลบ รอผลตรวจอีกจำนวน 36 คน แยกเป็น คนขับเรือ 16 คน พนักงานร้านอาหาร 16 คน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ 4 คน



          นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกภาคเข้ามาเที่ยวภายในจังหวัด เมื่อตรวจสอบพบว่ามี ชายไทย ซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยันรายที่ 247 มีประวัติเดินทางเข้าพื้นที่ จ.พังงา ทีมสอบสวนโรคของกระทรวงสาธารณสุขแจ้งข้อมูลว่า ขณะที่ผู้ป่วยคนนี้เดินทางเข้าพื้นที่พังงามีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง เป็นวิธีการป้องกันตนเองไม่ให้แพร่เชื้อรุนแรง




 

ข่าวทั้งหมด

X