กระทรวงสาธารณสุขให้ทุกจังหวัดเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย โดยให้มีแนวทางการจัดการมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลหลัก
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เนื่องจากต้องใช้เตียงในโรงพยาบาลเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคอื่นๆ จึงให้จัดเตรียมโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย หากมีอาการเปลี่ยนแปลงจะส่งไปรักษาในโรงพยาบาลหลัก นอกจากนี้ โรงพยาบาลจะรองรับผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลหลักซึ่งมีอาการดีขึ้นแล้ว จนครบระยะเวลากักกันโรค โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้ง ประสาน และทำความเข้าใจกับประชาชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดรับผิดชอบด้านการแพทย์ตามมาตรฐาน เน้นเป็นสถานที่ที่ประชาชนยอมรับ อากาศถ่ายเทได้ดี การสนับสนุนทรัพยากรด้านสาธารณสุขสะดวก เช่น วัด ค่ายทหาร โรงเรียน โรงยิม หอประชุม หรือสร้างขึ้นใหม่ในสถานที่โล่งกว้าง
ในโรงพยาบาลสนาม ได้จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์สื่อสาร รวมทั้งระบบต่าง ๆ ภายใต้มาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข ทั้งระบบการดูแลรักษาผู้ป่วย การขนส่งผู้ป่วยระหว่างบ้าน คลินิกมาโรงพยาบาลสนาม, การบริหารจัดการผู้ป่วย เชื่อมโยงข้อมูล สื่อสารระบบเดียวกับโรงพยาบาลหลัก, การป้องกันควบคุมการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อ, ระบบสุขาภิบาล การบำบัดน้ำเสีย การระบายอากาศ การกำจัดสิ่งปฏิกูล ผ่านการตรวจสอบของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, ระบบรักษาความปลอดภัย ห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าในสถานที่ นอกจากนี้ ยังมีการอบรมแพทย์ พยาบาล ติดตามตรวจสอบก่อนออกจากพื้นที่ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ, ระบบป้องกันอัคคีภัย, ระบบสื่อสารความเสี่ยง, งานสังคมสงเคราะห์และจิตวิทยา
ขณะนี้ มีโรงพยาบาลสนามแล้วใน 4 จังหวัด ประมาณ 1,900 เตียง อยู่ที่สมุทรสาคร 2 แห่ง, ระยอง 3 แห่ง, จันทบุรีและชลบุรี จังหวัดละ 1 แห่ง และมีนโยบายให้เตรียมพร้อมจัดตั้งตามสถานการณ์ของแต่ละจังหวัด มีทีมบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน ที่เป็นจิตอาสา และทีมบุคลากรจิตอาสาจาก รร.แพทย์ ทั้งศิริราช รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ ธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลในสังกัด รวมกว่า 20 ทีม โดยผลัดเปลี่ยนทีมทุก 5-7 วัน
...