ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30 น.วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม 2564

07 มกราคม 2564, 10:41น.



ผบ.ตร. สั่ง จตร. ลุยสอบเอาผิดบ่อนพนันในภาคตะวันออก




          ผลจากการปล่อยให้มีการเปิดบ่อนการพนันในพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี ทำให้มีการแพร่เชื้อโควิด-19 ใน จ.ระยองและกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ ล่าสุด พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงสืบสวนเรื่องที่เจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย



-พล.ต.ท.มโนช ตันตระเธียร จเรตำรวจ (สบ8) เป็นประธานกรรมการ



-พล.ต.ต.ภูริวัจน์ พูลสวัสดิ์ ผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 6 เป็นกรรมการ



-พ.ต.อ.ฉัตรชัย ศักดาวิศิษฏ์ รองผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 6 เป็นกรรมการ



-พ.ต.อ.เจนกมล คำนวล รองผู้บังคับการ กองตรวจราชการ 8 เป็นกรรมการ



-พ.ต.อ.ปิยะ ด้วงพิบูลย์ ผู้กำกับการ ฝ่ายสืบสวนและตรวจราชการ 2 กองตรวจราชการ 8 เป็นกรรมการ



-พ.ต.ท.ไพโรจน์ เรืองทิพย์ รองผู้กำกับการ ฝ่ายสืบสวนและตรวจราชการ 2 กองตรวจราชการ 8 เป็นกรรมการ



-พ.ต.ท.พงษ์ปกรณ์ พิพัฒนสมพร รองผู้กำกับการ ฝ่ายสืบสวนและตรวจราชการ กองตรวจราชการ 8 เป็นกรรมการและเลขานุการ



ผู้ว่าฯลพบุรี สั่งตรวจสอบใบอนุญาตซุ้มบ่อนไก่ชน



          จังหวัดลพบุรี มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 7 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และเดินทางไปติดเชื้อมาจากบ่อนไก่ นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี สั่งการให้ตรวจสอบเรื่องใบอนุญาตเปิดบ่อนไก่ ซุ้มไก่ โดยเฉพาะซุ้มไก่เสี่ยโอลูกชิ้น หลังวัดสิงห์ทอง ต.บางขันหมาก อ.เมืองลพบุรี และซุ้มไก่ที่ อ.โคกสำโรง ทั้ง 2 แห่ง ที่เป็นต้นเหตุแพร่เชื้อโควิด-19  ถ้าไม่มีใบอนุญาต ให้จับกุมดำเนินคดีทันที นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆเพิ่มเติม เช่น



-กำชับให้ร้านอาหาร จัดร้านเว้นระยะห่าง



-ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปิดบริการ 22.00 น.



-ตลาดนัด เปิดได้ตามปกติแต่ต้องมีมาตรการในการป้องกันอย่างถูกต้อง ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่างในการซื้อสินค้า

-สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปสำรวจหาสถานที่สร้างโรงพยาบาลสนาม เพื่อเตรียมการไว้ล่วงหน้า



-สำรวจราคาหน้ากากอนามัย เนื่องจาก ได้รับร้องเรียนว่า มีการนำหน้ากากอนามัยแบบที่ใช้ในการแพทย์ซึ่งมีราคาควบคุมไปบรรจุกล่องหรือถุงใหม่ ตีตราเป็นของมียี่ห้อแล้วขายในราคาแพง ขอให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและเร่งรายงานกลับมา



สงขลา ปิดสนามชนโค-ชนไก่ ให้คนที่มาจากพื้นที่สีแดงกักตัว



          นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการ จ. สงขลา เปิดเผยว่า  คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา วางมาตรการเข้มหลายแนวทางเพื่อสกัดโควิด-19  เช่น



-ให้คนที่เดินทางมาจาก  28 จังหวัด ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด กักตัวเองที่บ้านหรือที่พัก 14 วัน และต้องรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อตรวจคัดกรองโรค 



-สั่งปิดสถานที่ที่มีคนเข้าไปรวมตัวหนาแน่น เช่น สนามชนโค ชนไก่ สนามมวย กัดปลา หากมีการฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที



-ไม่ให้จัดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมาก ยกเว้นกิจกรรมที่มีความจำเป็นหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เช่น งานศพ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันรัดกุม



เตรียมออกหมายจับเพิ่ม คนไทย ขับรถพาชาวโรฮิงญา มาพักที่บ้านเช่าย่านดอนเมือง



          เรื่องการนำลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาผิดกฎหมาย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยความคืบหน้าการจับกุมชาวโรฮิงญา ที่บ้านเช่า ย่านดอนเมือง จำนวน 19 คนว่า ผลการตรวจโควิด-19 พบว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 7 คน ส่วนอีก 12 คน ยังไม่พบเชื้อ ได้แยกห้องกักกันและอยู่ในการดูแลของชุดควบคุมโรคเรียบร้อยแล้ว



          ศาล ได้อนุมัติหมายจับ 2 คน คือนางระมัย ไชยมา ชาวไทย และนายบาบู ชาวต่างชาติ ทำหน้าที่เป็นผู้เช่าบ้านพักย่านดอนเมืองไว้พักคอยก่อนเดินทางไปทางใต้ ส่วนอีกคนเป็นชาวไทยคนขับรถเก๋งขนชาวโรฮิงญาจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ไปส่งบ้านเช่าย่านดอนเมือง อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน เพื่อขออนุมัติหมายจับ เนื่องจากทำกันเป็นขบวนการ



          จากการสอบสวนขยายผล กลุ่มชาวโรฮิงญา เดินทางมาตามช่องทางธรรมชาติ ไม่ได้ผ่านจุดตรวจ มีการพักหลบที่ อ.แม่สอด 1 คืน บางคนก็หลายคืน เมื่อสบโอกาส จึงลอบเข้ามาพักที่ย่านดอนเมือง กทม. โดยเป้าหมายต้องการข้ามแดนทางใต้ไปที่ประเทศมาเลเซีย โดยเสียค่าใช้จ่ายให้นายหน้าเป็นค่าเดินทางคนละ 6,000 บาท ย้ำว่า การลักลอบเดินทางเข้ามา ส่วนมากมาก่อนช่วงปีใหม่ ถึงแม้เจ้าหน้าที่จะมีการกวดขันเข้มงวดแต่ก็มีหลุดลอดมาได้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยสกัดจับได้ที่ จ.หนองคาย และจ.สระแก้ว สำหรับกลุ่มนี้ เมื่อเดินทางมาถึงแล้ว นางระมัย และนายบาบู ผู้ต้องหาทั้ง 2 คน ได้เช่าบ้านไว้ 2 เดือน เดือนละ 3,000 บาท ส่วนคนขับรถเก๋งขนส่งชาวโรฮิงญาอยู่ระหว่างสืบสวน



กลุ่มที่ลอบนำเข้าโรฮิงญา เป็นคนละกลุ่มกับกลุ่มขนแรงงานต่างด้าวมาทำงานที่สมุทรสาคร



          จากการสืบสวนในเชิงลึกพบว่า ขบวนการลักลอบขนชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ เป็นคนละกลุ่มกับที่ลักลอบขนแรงงานต่างด้าวมาที่ อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร  จากข้อมูลทางการสืบสวนพบว่าปัจจุบันขบวนการลักลอบคนแรงงานต่างด้าว สามารถจำแนกได้ 2 รูปแบบ



1.แบบแรก คือการลักลอบขนแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยในลักษณะเข้ามาผิดกฎหมาย ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ขบวนการนี้จะมีกลุ่มคนสามสัญชาติทั้ง ลาว เมียนมา และกัมพูชา จะลักลอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ จากนั้นจะมีนายหน้าชาวไทย จัดหารถ ก่อนที่จะนำไปจังหวัดต่างๆ ซึ่งมีค่าดำเนินการอยู่ที่รายละ 5,000-10,000 บาท  



2.แบบที่สอง คือลักลอบขนแรงงานต่างด้าว ส่วนมากจะเป็น เมียนมาพุทธ หรือเมียนมาขาว รวมทั้งกลุ่มโรฮิงญา ซึ่งกลุ่มนี้ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน โดยมีปลายทางเป็นประเทศที่สาม



-ขบวนการนี้จะมีการลักลอบโดยมีการขนย้ายชาวโรฮิงญามาทางเรือ มาที่ จ.ระนอง เพื่อไปยังประเทศที่สาม หรือบางครั้งก็จะลักลอบเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ ทาง จ.กาญจนบุรี หรือ จ.ตาก ก่อนจะขึ้นรถที่กลุ่มนายหน้าจัดเตรียมไว้มาพักตามจุดต่างๆ จากนั้นจะมีการรับช่วงต่อ พานั่งรถต่อมาลงใต้ไปที่ จ.ชุมพร พัทลุง หาดใหญ่ และนราธิวาส  บริเวณแม่น้ำสุไหงโก-ลก  ต.มูโน๊ะ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส จะเป็นจุดที่ขบวนการค้ามนุษย์นำชาวโรฮิงญาลำเลียงข้ามแม่น้ำเพื่อข้ามไปมาเลเซีย โดยพื้นที่ดังกล่าวช่องทางธรรมชาติที่ง่ายและสะดวก เนื่องจากครอบคลุม 4 อำเภอในจ.นราธิวาส ได้แก่ อ.ตากใบ อ.สุไหงโกลก อ.แว้ง และ อ.สุคิริน ซึ่งฝั่งตรงข้ามเป็นรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเชีย อีกทั้งบริเวณหน้าแล้งหรือน้ำลงก็สามารถเดินเท้าข้ามไปได้โดยไม่ต้องใช้เรือ






สระแก้ว ห้ามแรงงานกัมพูชากว่าหมื่นคนเข้าตั้งแต่ 10 ม.ค.



          นายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการ จ.สระแก้ว เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือด่วนส่งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ระบุว่า เนื่องจากพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และเริ่มแพร่ขยายเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ จึงพิจารณาทบทวนการดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มงวด และมีมติให้ยกเลิกมาตรการอนุญาตให้ชาวกัมพูชาเข้ามาเพื่อขนสินค้าตามความจำเป็นในตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.2564 เป็นต้นไป สำหรับเรื่องจะนำแรงงานกัมพูชาเข้ามาตัดอ้อยในฝั่งไทยก็สั่งชะลอไว้เช่นกัน



          ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียเมียนเจย สั่งชะลอการส่งแรงงานกัมพูชากว่า 10,000 คน เข้ามาตัดอ้อยในจ.สระแก้ว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19



 




 

ข่าวทั้งหมด

X