หลังการเลือกตั้งสว.สหรัฐฯในรอบแรกเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนปีที่แล้ว ไม่มีผู้สมัครคนใดได้คะแนนเกินร้อยละ 50 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในรัฐจอร์เจีย ทำให้รัฐจอร์เจียต้องจัดการเลือกตั้งรอบที่ 2 หรือรอบตัดสินในวันนี้ เป็นการแข่งขันระหว่างสองแชมป์เก่าจากพรรครีพับลิกันคือ นายเดวิด เพอร์ดิวและนายเคลลี ลอฟเฟลอร์ กับ นายโจน ออสซอฟฟ์ กับนายราฟาเอล วอร์นอค สองผู้ท้าชิงจากพรรคเดโมแครต
โดยเปิดให้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งตั้งแต่เวลา 07.00น.-19.00 น.ตามเวลาท้องถิ่นของวันนี้ แต่ประชาชนกว่า 3 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 40 ใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าก่อนแล้ว ปัจจุบันพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯคือ 52 เสียงจากจำนวนสว.ทั้งหมด 100 เสียง ขณะที่พรรคเดโมแครต มี 48 เสียง หากพรรคเดโมแครตชนะ จะทำให้พรรคเดโมแครตมีคะแนนเสียงเท่ากับพรรครีพับลิกันคือ 50 ต่อ 50 เสียง แต่นางกมลา แฮร์ริส ว่าที่รองประธานาธิบดีซึ่งจะทำหน้าที่ประธานวุฒิสภามีอำนาจลงมติในกรณีมีคะแนนเสียงเท่ากัน หมายความว่า พรรคเดโมแครตจะครองเสียงข้างมากทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จะช่วยให้การผลักดันนโยบายของนายไบเดนผ่านสภาคองเกรสดำเนินการได้สะดวกยิ่งขึ้น
นายไบเดน กล่าวว่า คนทั่วประเทศจับตามองการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนในรัฐจอร์เจียจะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศไม่ใช่แค่ 4 ปี แต่จะมีผลต่อทิศทางการเมืองไปอีกหนึ่งชั่วอายุคน กล่าวหานายทรัมป์ว่าแพ้การเลือกตั้งแล้วโวยวาย ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ กล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้ง
ขณะที่นายทรัมป์ ซึ่งจะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมนี้ กล่าวปราศรัยช่วงโค้งสุดท้ายว่าพรรคเดโมแครตจะไม่มีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศอย่างแน่นอน พรรครีพับลิกันจะต่อสู้จนถึงที่สุด พร้อมทั้งพูดเป็นนัยว่ารองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ซึ่งจะทำหน้าที่ประธานการประชุมของวุฒิสภาสหรัฐฯ ซึ่งจะประชุมกันวันพุธนี้ ซึ่งโดยปกติจัดประชุมรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว แต่นายเพนซ์จะประกาศไม่ยอมรับชัยชนะของนายไบเดน ซึ่งนายทรัมป์ แสดงความหวังว่านายเพนซ์จะทำงานสำเร็จตามแผนที่ตั้งไว้ แต่ในประเด็นนี้ นักการเมืองจากพรรครีพับลิกัน แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของนายทรัมป์
Cr: BBC, ZNBC