นายเดสมอนด์ ตัน รัฐมนตรีความมั่นคงภายในสิงคโปร์ เปิดเผยต่อที่ประชุมรัฐสภาสิงคโปร์ ยอมรับว่าตำรวจสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้แอปพลิเคชันของโครงการเทรซ ทูเก็ทเธอร์(Trace Together)ของภาครัฐ ที่ใช้สำหรับติดตามเฝ้าระวังควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยตำรวจจะใช้ข้อมูลจากแอปฯนี้ในกรณีมีความจำเป็นต้องทำการสอบสวนความผิดอาญาต่างจากคำยืนยันเดิมที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสิงคโปร์ ระบุว่า ภาครัฐให้ความสำคัญกับการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้แอปฯจะไม่นำข้อมูลจากแอปฯนี้ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆนอกเหนือจากการติดตามเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในปัจจุบันร้อยละ 80 ของประชาชนในสิงคโปร์ ลงทะเบียนใช้แอปฯโครงการเทรซ ทูเก็ทเธอร์ ซึ่งระบุพิกัดของผู้ใช้แอปฯว่าอยู่ในสถานที่ใด ทั้งนี้ โครงการเทรซ ทูเก็ทเธอร์ ใช้งานทั้งในรูปของแอปฯที่ติดตั้งบนเครื่องสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์ขนาดพกพาขนาดเล็กที่ชื่อ เทรซ ทูเก็ทเธอร์ โทเคน ที่ติดบลูธูท (bluetooth token) เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต สามารถจะติดตามเฝ้าระวังเช่นกันว่า เราสัมผัสใกล้ชิดกับใครบ้าง หากพบว่ามีใครมีผลตรวจเป็นบวก ระบบข้อมูลจะติดต่อไปยังทุกคนที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยคนนั้นเพื่อจะได้เฝ้าระวังอย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมา หลายคนแสดงความเป็นกังวลเรื่องการปกป้องความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นความกังวลในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เนื่องจาก ภาครัฐของประเทศต่างๆทั่วโลกต่างใช้แอปฯติดตามเฝ้าระวังในลักษณะเดียวกันเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการควบคุมโรค สิงคโปร์เป็นประเทศแรกๆที่ใช้แอปฯในการติดตามเฝ้าระวังเมื่อเดือนมีนาคมปีก่อน เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคโควิด-19 แม้จะพบการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติบ้างในระยะแรกๆของการแพร่ระบาด แต่อัตราการติดเชื้อในท้องถิ่นลดลงมาอย่างต่อเนื่องจนในระยะหลังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ สิงคโปร์มีผู้ป่วยสะสม 58,721 คน เสียชีวิต 58 ราย
Cr: BBC