ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 12.30 น.วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564

04 มกราคม 2564, 13:05น.


กทม.ให้นั่งทานอาหารที่ร้านจนถึง 19.00 น. เริ่ม 5 ม.ค.-31 ม.ค.64



          ผลประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กรุงเทพมหานคร(กทม.) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกทม. เปิดเผยว่า กทม.มีมติให้ซื้ออาหารกลับไปทานที่บ้านเริ่มตั้งแต่เวลา 19.00-06.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.-31 ม.ค.2564 ครอบคลุมร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และ ทุกเขตต้องปฎิบัติตาม เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่คนจะนั่งในร้านมากกว่าช่วงอื่น เพื่อลดการรวมกลุ่มกัน ลดโอกาสในการแพร่ระบาด กทม.จะเร่งตรวจเชิงรุก หากมีการระบาดเพิ่มขึ้นก็ต้องมีมาตรการเพิ่มมากขึ้น มาตรการนี้ควบคุมร้านอาหารทุกประเภท หากฝ่าฝืนก็ต้องมีความผิด พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ กทม.ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการด้วย



-ส่วนงานแต่ง งานบวช หากจัดที่บ้านก็ต้องควบคุมคนด้วย แต่อยากให้เลื่อนออกไปก่อน



-การเดินทางข้ามจังหวัด กทม.มีความเสี่ยงระดับสูง มีการตั้งด่านคัดกรอง กทม.ขอความร่วมมือว่าคนที่มาจากจังหวัดเสี่ยงให้กักตัวและดูแลอาการตัวเอง14 วัน  



-กทม.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 28 คน 27 คนเป็นคนในกทม.และอีก 1 คน อยู่ระหว่างสอบสวนโรค



         ในช่วงบ่ายการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.จะมีการหารือกันเรื่องมาตรการเยียวและช่วยเหลือทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ



‘หมอทวีศิลป์’ ฝากช่วยกันดูแลจิตใจ ป่วยกาย อย่าป่วยใจ




          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า ในที่ประชุม ศบค.จะมีการหารือเรื่องการต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉินรวมอยู่ด้วย ขอความร่วมมือทุกส่วนภาครัฐ เอกชน และประชาชน มากขึ้น พร้อมทั้งแสดงความเป็นห่วงเรื่องจิตใจด้วย เรื่องจิตใจสำคัญมาก ทำให้มีการตื่นตระหนกและตกใจกับสถานการณ์มากขึ้นและแปรเปลี่ยนเป็นความโกรธ เนื่องจาก ยังมีกลุ่มคนที่รวมกลุ่ม มั่วสุมกัน สถานการณ์นี้เห็นได้ชัดในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยไม่เกิดขึ้นแล้ว และในสถานการณ์เช่นนี้ เชื่อว่า จะประคับประคองสถานการณ์ไปได้ ป่วยกายแล้วอย่าป่วยใจ  



สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในวันนี้



1.ผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 745 คน ยอดผู้ป่วยสะสม 8,439 คน



-แบ่งเป็นการติดเชื้อภายในประเทศ 152 คน



-ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 คน อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้



-การติดเชื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ 277 คน



-ผู้เสียชีวิตเพิ่มจำนวน 1 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 65 ราย สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่เป็นชายไทย อายุ 56 ปี อาชีพรับจ้าง ภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.กรุงเทพฯ มีโรคประจำตัวความดัน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงใน จ.สมุทรปราการ และ เขตคลองเตย



-หายป่วย 15 คน ทำให้มีผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,352 คน



CR:กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข




ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร ปอดดีขึ้น-มีไข้ต่ำ หมอขอดูอาการ 2-3 วัน



           ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึง ความคืบหน้าอาการของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ว่าอาการผู้ว่าในช่วง 24 ชั่วโมง สามารถนอนหงายได้ ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจได้ และอาการเมื่อวาน 3 ม.ค.2564 ก็ดีตลอด ตรวจเลือดผลเลือดดี การทำงานของตับลดลงเล็กน้อย ล่าสุดเคลียร์ขึ้น ส่วนการทำงานของปอดดีขึ้น การอักเสบดีขึ้น



          อย่างไรก็ตาม เมื่อเช้านี้ ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร เริ่มเหนื่อยอีก เลยตัดสินใจให้เครื่องช่วยหายใจอีกครั้ง เพราะอายุมากจึงไม่อยากให้เหนื่อยมาก จากนี้ต้องดูว่าสามารถนอนหงายได้หรือไม่ รอดู 2-3 วัน ว่าจะถอดเครื่องช่วยหายใจได้หรือไม่ นอกจากนี้ วันนี้ ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร มีไข้ต่ำ แต่ก็ไม่มีปัญหา ไม่ใช่การติดเชื้อเพิ่ม หรืออาจจะเป็นการติดเชื้อที่ไม่น่ารุนแรงอะไร หรืออาจจะเป็นเชื้ออย่างอื่น ก็ต้องหาสาเหตุต่อไป โดยรวมการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ดี เอ็กซเรย์ปอดเคลียร์ขึ้นชัดเจน ดังนั้นให้เวลาการฟื้นตัวกับระบบต่างๆ ก่อนดีกว่า ส่วน นางชุติพร วิจิตร์แสงศรี ภรรยานายวีระศักดิ์ อาการไม่ได้มีปัญหา



‘นพ.ยง’ เผย 6 ข้อคุมโควิด-19 ลดโรค-ไม่มีผู้ป่วย 28 วัน    



          สิ่งสำคัญในการควบคุมการระบาด โควิด-19 ในประเทศไทย นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ผ่านเฟซบุ๊ก  Yong poovorawanความว่า โควิด-19 เมื่อมีการระบาดรอบใหม่ สิ่งที่สำคัญในการควบคุมการระบาด จะต้องเป็นไปตามลำดับ ดังนี้



1.การป้องกัน- ทุกคนจะต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการระบาด กระจายออกไป ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เมื่อออกนอกบ้าน ล้างมือและใช้ alcohol กำหนดระยะห่างบุคคลไม่น้อยกว่า 2 เมตร หรืออยู่บ้านดีที่สุด หลีกเลี่ยงแหล่งอโคจร



2.การควบคุม- เป็นหน้าที่ของทุกคน รวมทั้งทางกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคอยู่ในขอบเขต ที่ควบคุมได้ มีมาตรการต่างๆเบาไปหาหนัก สร้างกฎเกณฑ์ต่างๆขึ้นมา จนกระทั่งถึงปิดเมืองเด็ดขาด แบบอู่ฮั่น



3.การลดปริมาณโรคให้น้อยลง- จัดการตรวจวินิจฉัยแยก คัดกรอง ให้ความรู้ โดยเฉพาะในแหล่งระบาดให้เกิดโรค หรือติดต่อแพร่กระจายให้น้อยที่สุด ไม่ให้เกิดการแพร่กระจายไปจุดอื่นๆ



4.การกวาดล้าง- เมื่อโรคเหลือจำนวนน้อยลง จะต้องยังคงมาตรการ เพื่อให้เหลือน้อยที่สุดหรือหมดไป



5.การทำให้โรคหมด- ด้วยกฎเกณฑ์จะต้องไม่พบผู้ป่วยในบริเวณนั้นอย่างน้อย 2 เท่าของระยะฟักตัว หรือ 28 วัน จึงจะสามารถกล่าวได้ว่า โรคนั้นหมดไป



6.การทำให้สูญพันธุ์- คงเป็นการยากมากแล้วที่จะทำให้โรค covid-19 สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้

จากสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นการยากมากที่จะทำให้โรคหมดภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว และยังมีความเชื่อว่า เราจะต้องอยู่กลับโควิด-19 ไปอีกนาน



          ขณะนี้สิ่งที่ต้องการที่สุดอยู่ในมาตรการการป้องกันและการควบคุมไม่ให้จำนวนโรคหรือผู้ป่วยมากไปกว่านี้ ถ้าเราไม่สามารถทำได้ในอนาคตอันใกล้เราอยากเห็นจำนวนผู้ป่วยเป็นหลักเลข 4 ตัวต่อวัน ยอดผู้ป่วยที่เราเห็นอยู่ทุกวันขณะนี้ จะสะท้อนความเป็นจริงเมื่อ 1 อาทิตย์ที่แล้ว การติดโรคกว่าจะมีอาการและได้รับการตรวจวินิจฉัยยืนยันจะใช้เวลากว่า 1 อาทิตย์ การติดโรคในวันนี้ อาจจะมากกว่านี้อีกหลายเท่า ถ้าเราไม่ช่วยกัน



ประชุมครม.พรุ่งนี้ ใช้วิธีคอนเฟอร์เรนซ์



          รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 5 ม.ค.2564 จะเปลี่ยนแปลงสถานที่ประชุมโดยจะกลับมาใช้ที่ห้องประชุมชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 และเป็นการประชุมในลักษณะคอนเฟอร์เรนซ์ ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข



 

ข่าวทั้งหมด

X