นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ประจำวันนี้ (4 ม.ค.64)
พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 745 คน แบ่งเป็น
- ผู้ติดเชื้อในประเทศ 152 คน
- แรงงานต่างด้าวจากการตรวจเชิงรุก 577 คน
- ผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศและอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ 16 คน
ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 8,439 คน
หายป่วยเพิ่มเติมวันนี้ 15 คน ทำให้ยอดผู้ที่หายป่วยรวม 4,352 คน
ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมรวม 65 คน
โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิตรายล่าสุด(รายที่ 65) เป็นชายไทยอายุ 56 ปี มีอาชีพรับจ้าง มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว คือ ความดันสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และมีประวัติไปในพื้นที่เสี่ยง คือ จังหวัดสมุทรปราการและย่านคลองเตย ผู้ป่วยเริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.63 เป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ กินข้าวไม่ได้ จึงไปตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง จนวันที่ 30 ธ.ค.63 มีอาการเหนื่อยมาก จึงเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีอาการไข้ 38.5 องศา ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดตกลง เหลือ 85% ปอดอักเสบ และหัวใจล้มเหลว แพทย์ส่งตัวอย่างตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทราบผลว่าติดเชื้อวันที่ 1 ม.ค.64 จากนั้นในวันที่ 2 ม.ค.64 ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยมากขึ้น ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ในวันที่ 3 ม.ค.64 อาการแย่ลง ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในเวลา 17.40 น.
สำหรับจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.63 - 4 ม.ค.64 ขณะนี้ มี 54 จังหวัดแล้ว โดยจังหวัดล่าสุดที่เพิ่งพบผู้ติดเชื้อ คือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบผู้ติดเชื้อแล้ว 1 คน เป็นเพศหญิง อายุ 61 ปี รักษาตัวที่โรงพยาบาลหัวหิน โดยจังหวัดที่ประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มี 28 จังหวัด ซึ่งมีข้อกำหนดในการปฎิบัติ ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (4 ม.ค.64) เวลา 06.00 น. คือ
1.ห้ามใช้อาคารสถานศึกษาในพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยให้จัดการเรียนออนไลน์แทน
2.ห้ามจัดกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด โดยเฉพาะกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก
3.ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ในการปิดสถานบริการและสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด
4.เงื่อนไขในการเปิดดำเนินการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด จะต่างกันตามพื้นที่
5.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณามาตรการให้เหมาะกับพื้นที่
6.หลีกเลี่ยง / งดการเดินทางข้ามจังหวัด และจะมีด่านตรวจบุคคลที่เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด
7.ขอให้ทำงานที่บ้าน หรือลดจำนวนผู้ปฎิบัติงาน
8.คณะกรรมการเฉพาะกิจ จะเสนอนายกรัฐมนตรีผ่อนผัน ผ่อนคลายได้ตามสถานการณ์
สำหรับการจัดงานวันเด็ก ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด ห้ามจัดกิจกรรมอย่างเด็ดขาด ส่วนจังหวัดอื่นก็ขอให้งดกิจกรรมไปก่อนเพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน ขณะที่จะมีการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะครบกำหนดในวันที่ 15 ม.ค.นี้หรือไม่ ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่จะมีการหารือในประเด็นนี้
นพ.ทวีศิลป์ ยอมรับว่า กังวลกับการเดินทางกลับจากภูมิลำเนาของประชาชน ซึ่งอีก 14 วันข้างหน้า จะเห็นผลชัดเจนว่า จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งการที่เพิ่งมาประกาศมาตรการเข้มข้นหลังปีใหม่ ก็เพราะการจะประกาศมาตรการใดต้องพิจารณาให้รอบคอบ จากสถานการณ์และชุดข้อมูลที่มีอยู่ นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ยังกังวลกับ "สะเก็ดไฟ" คือผู้ติดเชื้อที่กระจายไปยังพื้นที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง หรือการเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง อย่างบ่อนพนัน ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้เร่งค้นหาผู้ที่เป็นสะเก็ดไฟให้เร็วที่สุด ซึ่งก็ต้องขอความร่วมมือของคนในจังหวัดช่วยกันสอดส่องและคนที่รู้ว่าไปในพื้นที่เสี่ยง ให้มารายงานตัวด้วย แต่เชื่อว่ายังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการลงโทษรุนแรงในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เพราะเชื่อว่าประชาชนใน 28 จังหวัดจะร่วมมือกันอย่างดี ส่วนจังหวัดอื่นแม้ว่าจะไม่ใช่พื้นที่ควบคุมสูงสุด ก็เชื่อว่าจะให้ความร่วมมือเพื่อป้องกันการระบาดของโรค
โฆษก ศบค.ยังเป็นห่วงผลกระทบทางจิตใจของประชาชน เช่น ตกใจกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ตื่นตระหนก และอาจถึงขั้นมีอารมณ์โกรธแค้น เนื่องจากภัยพิบัติที่มีฝีมือมนุษย์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง จะทำให้เกิดความโกรธแค้นในสังคม การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ก็มีส่วนหนึ่งเกิดจากบุคคลที่มั่วสุม ไม่ปฎิบัติตามข้อกำหนดหรือกติกาที่สังคมวางไว้ร่วมกัน จึงอาจเกิดความโกรธ ความโกลาหล ไม่ร่วมมือหรือละเมิดข้อกำหนดต่างๆ จนเกิดการติดเชื้อมากขึ้น เหมือนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่เชื่อว่าหากทุกคนมีสติ ก็จะประคับประคองให้ผ่านไปได้ เช่นเดียวกับ 1 ปีที่ผ่านมา