ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 08.30 น.วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2564

04 มกราคม 2564, 08:26น.


สำนักงบประมาณ ยืนยัน รัฐบาลมีงบฯพอสู้โควิด-19 รอบใหม่



          นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมงบประมาณรองรับการแก้ปัญหาไวรัสโควิด-19 ไว้อย่างเพียงพอ อยากให้ประชาชนมีความมั่นใจในการรับมือการแพร่ระบาดในครั้งนี้ เนื่องจากจัดเตรียมงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 วงเงิน 40,000 ล้านบาท และยังกันสำรองสำหรับงบประมาณฉุกเฉิน รองรับภัยพิบัติประเภทต่างๆ ในยามจำเป็นอีก 99,000 ล้านบาท รวมแล้วหากมีปัญหาการแพร่ระบาดของ โควิด-19 รุนแรง มีเงินใช้แก้ปัญหา 130,000-140,000 ล้านบาท



          นอกจากนี้ ยังมีพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) การบริหารราชการเงินกู้ 1,000,000 ล้านบาท ได้จัดแบ่งในการจัดซื้อครุภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ตรวจสอบรักษาโควิด-19 วงเงิน 45,000 ล้านบาท การใช้เยียวยา ดูแลปัญหาและบุคลากรทางการแพทย์ วงเงิน 555,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออยู่ 400,000 ล้านบาท แบ่งสำหรับการฟื้นฟูดูแลด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะนี้ทยอยใช้วงเงินดังกล่าวไปบ้างแล้ว



          นอกจากนี้ หลายหน่วยงานเตรียมประกาศมาตรการช่วยดูแลเพิ่มเติม เช่น กระทรวงแรงงาน ดูแลผ่านกองทุนประกันสังคม สำหรับการดูแลรักษาพยาบาล การดูแลผู้ป่วยผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง เพื่อเปิดทางให้ประชาชนในโซนพื้นที่เสี่ยง ตามที่ประกาศสามารถเบิกค่ารักษาโควิด-19 และรัฐบาลยังเตรียมจัดซื้อวัคซีนช่วงเดือนมี.ค.-พ.ค.2564 หลังจากวางมัดจำผ่านช่วยเหลือด้านการวิจัยไปแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท คาดว่า การจัดซื้อวัคซีนจะได้นำมาใช้ช่วงต้นปี 2564 นี้



กระทรวงคลัง รอนโยบายรัฐบาล -หารือเกณฑ์ใหม่การถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ



          นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึง เรื่องมาตรการรับมือการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ว่า ในวันนี้รัฐบาลจะประกาศมาตรการเพิ่มเติม



          ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึง เรื่องที่จะเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ว่า ขณะนี้มี 13.8 ล้านคน ที่ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถ้าหากจะปรับเกณฑ์ของผู้ได้สิทธิใหม่ ทุกคนที่ถือบัตรอยู่ก็ต้องลงทะเบียนใหม่ เพราะบางคนอาจมีรายได้เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยเกณฑ์ที่ออกมาจะใช้กับทุกคนทั้งคนที่ได้สิทธิอยู่แล้วและคนที่ลงทะเบียนใหม่ด้วย คล้ายกับรอบแรกที่เคยเปิดลงทะเบียน 14 ล้านคน ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเรื่องของเกณฑ์ที่เหมาะสม ซึ่งจะสรุปเกณฑ์ที่จะใช้ช่วงต้นปี 2564



เอกชน เสนอเพิ่มวงเงินโครงการคนละครึ่ง-ประชุมทบทวนศก.6 ม.ค.



          นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กังวลเรื่องคนตกงานเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากจากธุรกิจที่ต้องปิดกิจการ เสนอให้รัฐบาลเร่งพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพื่อประคองสถานการณ์ เช่น อาจเพิ่มวงเงินให้กับโครงการคนละครึ่งเฟส 2 หรือออกโครงการคนละครึ่งเฟส 3 ขึ้นมาใหม่ โดยขยายวงเงินจาก 3,500 บาท เป็น 5,000 บาทในช่วง 3 เดือน หรือเพิ่มระยะเวลาโครงการที่กำหนดสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค.2564 เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อได้



           คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เคยคาดการณ์ช่วงเดือนธันวาคม 2563 ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะเติบโตที่ระดับร้อยละ 2-4 แต่ล่าสุดจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาด กกร.จะประชุมวันที่ 6 ม.ค.2564 คาดว่าจะทบทวนและคงปรับตัวเลขลดลงกว่าเดิม ส่วนที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ระดับร้อยละ 4-4.5 มองว่าไม่น่าถึง ถ้าดูจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่



ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร พ้นวิกฤ



          ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความ คืบหน้าอาการนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครว่า อาการในรอบ 24 ชม.มีแนวโน้มดีขึ้น ชีพจรเหมือนเดิม คงระดับออกซิเจนในเลือดดี สามารถปรับมาอยู่ท่านอนหงายตามปกติได้แล้วแม้ว่าระดับออกซิเจนในเลือดจะตกลงเล็กน้อยแต่ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี รับได้ ไม่ต้องกลับไปนอนคว่ำ และจากนี้จะค่อย ๆ เข้าสู่ขั้นตอนการถอดเครื่องช่วยหายใจเพื่อให้ฝึกหายใจเอง แต่อาจจะต้องรับออกซิเจนบ้างเป็นระยะเพื่อให้ร่างกาย ค่อยๆปรับตัวและไม่อยากให้รีบร้อนจนเกินไป



          แพทย์ ยังต้องให้ยาฟาวิพิราเวียร์อยู่แต่จะค่อยๆลดปริมาณลง เนื่องจาก ขณะนี้ยังไม่มีการตรวจปริมาณไวรัสในร่างกาย คาดว่าภาพรวมอาการดีขึ้น



          ส่วนนางชุติพร วิจิตร์แสงศรี ภรรยาของนายวีระศักดิ์ ย้ายมารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่คืนวันที่ 2 ม.ค.2564 อาการปกติดี ไม่ได้รุนแรงแต่ย้ายมาเพื่อให้ได้มาอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว เพื่อความสะดวก แต่ตัวภรรยายังต้องอยู่ในห้องแยกโรค และไม่ได้อยู่ในห้องไอซียู



สมุทรสาคร คัดกรองเชิงรุก พบผู้ป่วยมากขึ้น



สำนักงานประชาสัมพันธ์ จ.สมุทรสาคร เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ว่า



-จากการคัดกรองเชิงรุก 505 คน พบผู้ป่วยรายใหม่ 541 คน เป็นคนไทย 57 คน ต่างด้าว 448 คน



-ผู้ป่วยมาโรงพยาบาล 36 คน คนไทย 29 คน ต่างด้าว 7 คน ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมของจังหวัดอยู่ที่ 2,401 คน หายป่วย 131 คน



เชียงราย ป่วยโควิด-19 เป็นศูนย์

ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย แจ้งสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า



-ผู้ติดเชื้อ 3 คนล่าสุด ที่นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้รับการรักษาจนมีอาการหายดีแล้ว และไม่พบเชื้อติดต่อกันเป็นเวลา 10 วันตามมาตรฐาน ดังนั้นแพทย์จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้ทั้งหมด



-ตัวเลขผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 2563 -2 ธ.ค. 2563 รวม 64 คน เกือบทั้งหมดเป็นคนที่เดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้านและตรวจพบเชื้อในสถานกักกันโรคของรัฐ ปัจจุบันไม่เหลือผู้ติดเชื้อที่อยู่รักษาที่โรงพยาบาล



-มีคนที่ได้รับการกักตัวอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ 101 คน ล่าสุดได้พ้นกำหนดการกักเป็นเวลา 14 วัน อีก 8 คน และเมื่อตรวจแล้วไม่พบการติดเชื้อก็ได้ให้ออกไปได้ เหลือคนที่อยู่ระหว่างการกักตัว 93 คน



-ในรอบหลายวันนี้ยังไม่มีคนที่เดินทางมาจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เข้ามาทางด่านพรมแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ทำให้สถานกักกันโรคของรัฐที่มี 11 แห่งทั่วจังหวัด ไม่มีความแออัดเหมือนเดิมอีก



ไม่พบคนบนเครื่องบินเที่ยวเดียวกับอังกฤษติดเชื้อ

          นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง กรณีมีการเปิดเผยข้อมูลพบผู้ติดเชื้อชาวอังกฤษ 4 คน ที่อยู่ในครอบครัวเดียวกันพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์จากอังกฤษว่าครอบครัวนี้เดินทางเข้ามาไทยเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2563 ขณะนี้อยู่ระหว่างการกักตัวยังไม่ครบ 14 วัน เบื้องต้นในการกลายพันธุ์มีความสามารถในการแพร่กระจายได้เร็ว ก็เหมือนกับสายพันธุ์จี ที่เรารู้กัน แต่ไม่มีผลกระทบกับวัคซีน จากนี้จะมีนำเสนอต่อ ศบค. เพื่อให้ชะลอการรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศอังกฤษเข้ามาในประเทศไทยออกไปก่อน สำหรับผู้โดยสารที่ร่วมเที่ยวบินกับครอบครัวดังกล่าวยังไม่พบว่ามีใครติดเชื้อ



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X