สธ. เผยไทยเริ่มผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว

03 มกราคม 2564, 20:12น.


          ความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย สยามไบโอไซเอนซ์เริ่มการผลิตวัคซีนของแอสตราเซเนการอบแรกแล้ว ขณะที่จีนเตรียมทยอยส่งมองวัคซีน 2 ล้านโดสให้ไทยตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ และยังมีการเจรจากับหลายบริษัทเพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอ



          นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีความร่วมมือกับหลายฝ่าย เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจว่าจะได้รับวัคซีนในเวลาใกล้เคียงกับประเทศส่วนใหญ่ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทยได้เตรียมการทำงานมาตั้งแต่กลางปี 2563 โดยมีเป้าหมายคือการฉีดวัคซีนให้คนไทยฟรี มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 70 ล้านโดส โดยได้ทำสัญญาจองซื้อวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดสกับบริษัทแอสตราเซเนกา ซึ่งใช้เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ขณะนี้ อยู่ระหว่างถ่ายทอดกระบวนการผลิตให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ คาดว่าจะเริ่มทยอยส่งมอบได้ภายในปลายเดือนพฤษภาคม อีกร้อยละ 30 อยู่ระหว่างการเจรจากับ COVAX Facility ทำข้อตกลงกับบริษัทผลิตวัคซีนที่คาดว่ามีโอกาสนำมาใช้ได้ รวมทั้งได้เจรจากับบริษัทอื่นๆ เช่น ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, บริษัทจากประเทศจีน หรืออาจขอซื้อเพิ่มจากแอสตราเซเนกา เพื่อให้ได้วัคซีนตามเป้าหมาย โดยในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะได้รับวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค ประเทศจีนประมาณ 200,000 โดส ปลายเดือนมีนาคม 800,000 โดส และปลายเดือนเมษายนอีก 1 ล้านโดส รวม 2 ล้านโดส 





          ด้านนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUA) แล้วจากผู้ผลิต 9 ราย 4 ชนิดวัคซีน เช่น mRNA, Viral Vector, Inactivated และ Sub unit protein ในประเทศไทยจะยอมรับการขึ้นทะเบียนที่มีผลของเฟส 3 มีประสิทธิผลที่ชัดเจน โดยวัคซีนที่มีการขึ้นทะเบียนและได้รับการยอมรับมีเพียง 3 ชนิดคือ ของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) โมเดอร์นา (Moderna) และแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่เหลือเป็นการขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉินโดยใช้ผลการทดลองเฟส 2 เท่านั้น แม้วัคซีนของจีนและรัสเซียที่ขึ้นทะเบียนไปก่อนหน้าตั้งแต่ ก.ค.-ส.ค. 2563 ก็ยังไม่มีผลเฟส 3 อย่างเป็นทางการออกมา และวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันทุกชนิดยังไม่สิ้นสุดการทดลอง ซึ่งทั้งของไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ก็ยังต้องมีการเก็บข้อมูลต่อเนื่องเพื่อดูประสิทธิผลของวัคซีนหลัง 3 เดือน ในขณะที่ของแอสตราเซเนกาที่ไทยจองซื้อได้รับอนุมัติทะเบียนให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉินจากหน่วยงานควบคุมกำกับของสหราชอาณาจักรแล้ว เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563



          สำหรับประเทศไทยได้จองวัคซีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563





          ด้าน ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี จากบริษัท แอสตราเซเนกา ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ได้เตรียมความพร้อมทั้งด้านสถานที่ โรงงาน วัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ เครื่องจักร ปัจจุบันอยู่ในขั้นการทดสอบการผลิตเพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐานเทียบเท่ากับมาตรฐานกลาง ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตทั่วโลก ภายใต้บริษัท แอสตราเซเนกา มีกำลังผลิตประมาณ 200 ล้านโดสต่อปีหรือเดือนละ 15 ถึง 20 ล้านโดส โดยจะมีการทดสอบใน 5 รอบการผลิต แต่ละรอบผลิตห่างกัน 14 วัน ใช้เวลารอบละ 120 วัน (4 เดือน) เป็นการผลิต 60 วัน และอีก 60 วันสำหรับการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพ โดยผลิตรอบแรกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม กำลังดำเนินการผลิตรอบที่ 2 เมื่อผลิตครบ 5 รอบจะนำผลยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อพิจารณาอนุมัติ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการผลิตวัคซีนคือคุณภาพและความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่งเป็นไปตามแผนที่วางไว้และจะมีการรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ



...

ข่าวทั้งหมด

X