นางอัวร์ซูลา ฟ็อนแดร์ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยว่า การถอนตัวออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)ของสหราชอาณาจักร จะเป็นความจริง เมื่อหอนาฬิกาบิ๊กเบนในกรุงลอนดอนส่งสัญญาณบอกเวลา 23.00น.ของวันนี้ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปเริ่มเข้าสู่ช่วงเที่ยงคืนวันนี้ (ราว 08.00น.ของเช้าวันศุกร์ตามเวลาในประเทศไทย) สหราชอาณาจักรจะเริ่มออกจากระบบศุลกากรและตลาดร่วมของกลุ่มอียูอย่างเป็นทางการ พร้อมสิ้นสุดความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในกลุ่มอียู 27 ประเทศซึ่งหลายๆครั้งไม่ราบรื่นเท่าที่ควรตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา เรื่องเบร็กซิต เป็นประเด็นสำคัญของการเมืองสหราชอาณาจักรเรื่อยมาหลังสหราชอาณาจักรจัดให้มีการลงประชามติเบร็กซิตเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ปรากฎว่า ฝ่ายที่สนับสนุนเบร็กซิต ชนะฝ่ายที่คัดค้าน ด้วยคะแนนฉิวเฉียด ร้อยละ 51.9 ก่อให้เกิดปัญหาแตกแยกทางการเมืองและสังคมมาจนถึงปัจจุบัน ในทางนิตินัย สหราชอาณาจักรเริ่มถอนตัวออกจากกลุ่มอียูเมื่อวันที่ 31 มกราคม แต่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้มีระยะเวลาปรับตัว 1 ปีก่อนข้อตกลงเริ่มมีผลบังคับอย่างเป็นทางการ อีกทั้งเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอียู-สหราชอาณาจักร ซึ่งทั้งสองฝ่าย สามารถสรุปข้อตกลงการค้าได้สำเร็จในช่วงวันคริสต์มาสอีฟ
หลังพ้นระยะเวลาปรับตัวในวันที่ 31 ธันวาคมนี้ กฎระเบียบต่างๆของกลุ่มอียูจะไม่ใช้กับสหราชอาณาจักรอีกต่อไป ผลที่เกิดขึ้นทันทีคือ ประชากรกว่า 500 ล้านคนไม่สามารถเดินทางได้อย่างเสรี ระหว่างสหราชอาณาจักรกับ 27 รัฐสมาชิกของกลุ่มอียู เหมือนเดิมอีกต่อไป ขณะเดียวกัน จะมีการตั้งด่านตรวจสินค้าเข้าออกตามแนวชายแดนของอียู-สหราชอาณาจักร เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี แต่จะมีข้อตกลงการค้าเสรี แต่ในระยะแรกๆหลายฝ่ายคาดว่าอาจจะเกิดปัญหาขลุกขลักอยู่บ้าง เช่น เรื่องคิวรถบรรทุกสินค้ายาวเหยียด รอให้เจ้าหน้าที่ตรวจสินค้า รวมทั้งปัญหาเรื่องเอกสารต่างๆที่จะแสดงต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
สำหรับสหราชอาณาจักร เป็นศูนย์กลางการเงิน เป็นสถานที่ประชุมใหญ่ของบรรดานักการทูตและเป็นหนึ่งในสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เป็นสมาชิกอียูประเทศแรกที่ถอนตัวออกจากกลุ่มอียู หลังก่อตั้งขึ้นในปี 2536
Cr: AFP, Rappler