ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 12.30 น.วันพุธที่ 30 ธันวาคม 2563

30 ธันวาคม 2563, 13:18น.


ศบค.เตือนการเคาท์ดาวน์ต้องมีสติ อย่าให้เป็นการเค้าท์อัพ




          นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.เปิดเผยสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในวันนี้ระบาดเพิ่มขึ้นเป็น 48 จังหวัด จังหวัดที่น่าห่วง คือ จ.ชลบุรี มีจำนวน 108 คน จากผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ 250 คน  ซึ่ง 3 จังหวัดที่เพิ่มขึ้นมา คือ จ. ระนอง จ.อำนาจเจริญ และ จ.ตราด  พบว่าผู้ป่วยหญิงมากกว่าชาย อายุเฉลี่ย 40 ปี ขึ้นไป   




          ส่วนการเดินทางข้ามจังหวัดของประชาชน กรณีที่จังหวัดนั้นๆมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จะต้องกักตัว 14 วันหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับจังหวัดต้นทาง และต้องติดตามประกาศของจังหวัดนั้นๆ ทางที่ดีที่สุด ควรลดการเดินทาง หากเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องดูแลตัวเอง ในส่วนของการเคาท์ดาวน์ ขอให้ทุกคนมีสติและระมัดระวัง อย่าให้เป็นการเคาท์อัพ



          กรณีที่ประชาชนจองตั๋วในโครงการเราเที่ยวด้วยกันไปแล้ว และได้เลื่อนหรือยกเลิกการเดินทาง แต่ไม่สามารถเลื่อนได้ มีการประสานกับ 6 เที่ยวบินแล้ว คือ ไทยสมายล์ ไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ ไทยไลอ้อนแอร์ บางกอกแอร์เวยส์ เวียดเจ็ทแอร์ สรุป 3 แนวทาง คือ



-เปลี่ยนเที่ยวบินโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม



-เปลี่ยนเส้นทางบินได้



-เก็บวงเงินไว้สำหรับซื้อตั๋วครั้งหน้า



ชาวต่างชาติที่ได้รับฉีดวัคซีนแล้ว เมื่อเดินทางเข้าไทยต้องกักตัวเหมือนเดิม



          หลายคนสงสัยว่ามีชาวต่างชาติหลายคนได้เริ่มฉีดวัคซีน คนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้วเมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจะต้องกักตัวหรือไม่ เพจกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ยังคงต้องดำเนินการกักตัวเหมือนเดิม เนื่องจากวัคซีนเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดใหม่ องค์การด้านสุขภาพทั่วโลก โดยเฉพาะองค์การอนามัยโลก ยังไม่มีข้อตกลงกันว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด การฉีดวัคซีนเป็นการอนุญาตของแต่ละประเทศเป็นหลัก ในระดับสากลคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ยังไม่สามารถเอามาเป็นข้อกำหนดว่าจะต้องกักตัวหรือไม่ หรือจะเดินทางไปมาได้อย่างอิสระหรือไม่ คำถามนี้ในอนาคตจะมีคำตอบที่ชัดเจน แต่เนื่องจากวัคซีนนี้เพิ่งเริ่มฉีดไปไม่มาก ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน โดยทั่วไปคนที่เดินทางเข้าประเทศไทยโดยเฉพาะมาจากต่างประเทศยังคงต้องดำเนินการกักตัวเหมือนเดิม 



'อู่ฮั่น' เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงแล้ว



          รัฐบาลนครอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของจีน เปิดเผยว่า อู่ฮั่น เริ่มใช้งานวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ในกรณีฉุกเฉินกับประชากรกลุ่มเสี่ยงแล้ว นายเหอ เจิ้นอวี่ รองผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคประจำอู่ฮั่น กล่าวว่า ท้องถิ่นเริ่มฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 18-59 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.2563 ที่คลินิกพิเศษ 48 แห่ง ใน 15 เขตทั่วเมือง ประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 2 โดส แต่ละโดสมีระยะห่างนาน 4 สัปดาห์



          ด้านรองหัวหน้าคณะกรรมการสุขภาพอู่ฮั่น ระบุว่า อู่ฮั่น ตรวจพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 จากต่างประเทศสะสม 43 คน ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.-27 ธ.ค.2563 แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันผล 10 คน และผู้ป่วยไม่แสดงอาการ 33 คน โดยผู้ป่วยทั้งหมด ยกเว้นผู้ป่วยไม่แสดงอาการ 4 คน ได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาลแล้ว



อว.เผยประมาณ 9 ประเทศใช้วัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 4.4 ล้านโดส



         ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ความคืบหน้าของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ว่าขณะนี้มีวัคซีนโควิด-19 หลายชนิดที่ผ่านขั้นตอนการทดสอบในคนจนแน่ใจว่ามีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพียงพอ และได้รับอนุมัติในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว โดยได้นำมาใช้ประมาณ 9 ประเทศแล้ว รวมจำนวนมากกว่า 4,400,000 โดส



-สหรัฐฯ ได้เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2563 ซึ่งใช้แล้วจำนวนกว่า 1.94 ล้านโดส จากที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนของ Pfizer/BioNtech จำนวน 5.1 ล้านโดส และวัคซีนของ Moderna จำนวน 6,000,000 โดส ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 ชนิด จะต้องให้ในปริมาณคนละ 2 โดส ผลการทดสอบมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 มากกว่าร้อยละ 95



         ส่วนการจัดหาและเตรียมใช้วัคซีน ประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ทำความตกลงจองวัคซีนล่วงหน้าจากผู้ผลิตแต่ละรายไปแล้ว จำนวนรวม 8,150 ล้านโดส ซึ่งครอบคลุมประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรโลก โดยส่วนใหญ่ต้องให้วัคซีนคนละ 2 โดส จึงเท่ากับมีการจองวัคซีนแล้วสำหรับ 4,075 ล้านคน และเริ่มทยอยส่งมอบตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงปี พ.ศ.2565 ซึ่ง AstraZeneca เป็นบริษัทลำดับแรกๆ ที่บรรลุข้อตกลงการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้าสำหรับประชากรโลก ซึ่งขณะนี้มียอดจองแล้วมากที่สุด เท่ากับประมาณ 1,460 ล้านคน มากกว่าวัคซีนของบริษัทอื่นๆ กว่าสองเท่า ขณะที่ วัคซีนบางชนิดก็ไม่ผ่านการทดสอบ





          ศ.นพ.สิริฤกษ์ ระบุว่า กลยุทธ์การเข้าถึงวัคซีนของแต่ละประเทศมีหลากหลายวิธี เช่น ใช้วิธีทำข้อตกลงแบบทวิภาคีกับผู้ผลิตแต่ละราย หรือในขณะที่หลายสิบประเทศทำข้อตกลงในรูปแบบพหุภาคีผ่านกลไก COVAX หรือผ่านองค์การอนามัยโลก เพื่อให้แน่ใจว่ามีการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียม



ยอดการสั่งจองวัคซีนล่วงหน้าของแต่ละประเทศแตกต่างกัน เช่น



-แคนาดา ซึ่งมีประชากร 38 ล้านคน มีสัญญาสั่งจองวัคซีนกับบริษัทอย่างน้อย 7 แห่งเพื่อจัดหาวัคซีนให้เพียงพอสำหรับฉีดได้ 112 ล้านคน ซึ่งเป็น 3 เท่าของประชากรประเทศหลายเท่า



-สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก สั่งจองวัคซีนแล้วมากกว่าจำนวนประชากร



-ขณะที่ประเทศอื่นๆ มียอดจองวัคซีนประมาณร้อยละ 0-20 ของประชากร



-ประเทศไทยได้จองวัคซีนแล้ว จำนวน 26 ล้านโดส และรัฐบาลกำลังดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับวัคซีนจำนวนเพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอกับทุกคน ทั้งโดยการผลิตในประเทศ จัดหาจากผู้ผลิตแต่ละราย และวิจัยพัฒนาวัคซีนในประเทศด้วย



         อว.ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องวัคซีนอย่างใกล้ชิดทุกวันโดยประสานงานกับ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข ดูแลสนับสนุนทางด้านวิชาการ การวิจัย และเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน และความสำเร็จของพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 ของทั่วโลก



CR:เฟซบุ๊ก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 



ประเดิม 7 วันอันตราย ยุคนิวนอร์มอล เสียชีวิตแล้ว 43 ราย



          ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 สรุปอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29 ธ.ค. 2563 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 414 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 43 ราย ผู้บาดเจ็บ 438 คน



          พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 เปิดเผยว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่



-ขับรถเร็ว ร้อยละ 32.85



-ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 24.88



ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่



-รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.11



-ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 66.43



-ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 38.89



-ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.13



-ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01– 20.00 น. ร้อยละ 29.47



-ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 29.94



-เจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจหลัก 1,933 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 61,575 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 288,881 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 44,657 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 12,648 ราย ไม่มีใบขับขี่ 12,154 ราย



-จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ มหาสารคาม (15 ครั้ง)



-จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี บุรีรัมย์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และอุดรธานี (จังหวัดละ 3 ราย)



-จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (17 คน)



CR:ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน



 

ข่าวทั้งหมด

X