'หมอยง' เร่งรัดกระบวนการขึ้นทะเบียน ฉีดวัคซีนของไทย
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่บทความผ่านทางเฟซบุ๊กในหัวข้อ “โควิด-19 วัคซีน”
1. ขณะนี้ ทั่วโลกมีวัคซีนโควิด-19 ที่ได้ขึ้นทะเบียนให้ฉีดในภาวะฉุกเฉิน มีแล้วถึง 6 ชนิด ของจีน 3 ชนิด รัสเซีย 1 ชนิด สหรัฐอเมริกา 1 ชนิด และสหรัฐฯอเมริกันร่วมกับเยอรมนี 1 ชนิด
2. วัคซีนเป็นเชื้อตาย 2 ชนิดของจีน ไวรัสเวกเตอร์ 2 ชนิดเป็นของจีนและรัสเซีย และ mRNA 2 ชนิดเป็นของสหรัฐฯ และสหรัฐอเมริการ่วมกับเยอรมนี
3. วัคซีน AstraZeneca ที่ไทยรอคอยอยู่ ยังไม่สิ้นสุดการทดลอง
4. มี 10 ประเทศได้เริ่มฉีดวัคซีนไปแล้ว มากกว่า 5,000,000 โดส และภายในเดือนม.ค.2564 จะมีการฉีดอีกหลายสิบเท่า ซึ่งคาดว่าจะเป็นร้อยล้านโดส
5. ประเทศต่างๆได้ขึ้นทะเบียน หรือทะเบียนในภาวะฉุกเฉินในวัคซีนบางตัว มากกว่า 30 ประเทศ และรวม EU ทั้งหมด แสดงว่าจะมีการฉีดเป็นจำนวนมากในเดือนม.ค.2564
ทำไมประเทศไทยจึงช้าในเรื่องวัคซีนโควิด-19
1. เพราะเรามุ่งอยู่กับวัคซีนไวรัส เวกเตอร์ของ AstraZeneca อย่างเดียวหรือ? (ไม่ทราบ) ยังทดลองไม่เสร็จ และยังไม่มีประเทศไหนขึ้นทะเบียน แม้กระทั่งในภาวะฉุกเฉิน (รออังกฤษ) ความจำเป็นที่ต้องใช้ มีจำนวนมากกว่าที่ทำสัญญาไว้มาก
2. เราไม่ควรยึดติดอยู่กับวัคซีน บริษัทใดบริษัทหนึ่ง มีวัคซีนให้เลือกในขณะนี้ หลายบริษัท แม้กระทั่งของจีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา
3. ขบวนการติดต่อจัดซื้อ ไม่ควรอยู่ที่วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่ง เพราะมีความจำเป็นใช้ถึง 80 ล้านโดส ควรจะมีตัวเลือก และ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน
4. ภาคเอกชน ควรมีส่วนช่วยภาครัฐ เชื่อว่าถ้าให้เอกชนนำเข้า จะแบ่งเบาภาครัฐได้มาก ถึงแม้ว่าวัคซีนที่จะต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำ ก็ไม่เป็นปัญหา ในสิงคโปร์สามารถจัดการได้ ประเทศไทยก็ควรจะจัดการได้ เพื่อจะได้แบ่งเบาวัคซีนของภาครัฐ ให้ได้เพียงพอกับประชาชนทั่วไปโดยเร็ว
5. กระบวนการขึ้นทะเบียนของไทย จะต้องมีขั้นตอนที่รวดเร็ว
ดูแผนที่และข้อมูลจาก Wikipedia การวางแผนการให้วัคซีนของประเทศต่างๆทั่วโลกแล้ว แม้กระทั่งแผนการขึ้นทะเบียนการใช้อย่างฉุกเฉิน รออยู่ ก็ไม่มีประเทศไทย
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มี สิงคโปร์ มาเลเซีย และ ฟิลิปปินส์ ซึ่งนำหน้าไปแล้ว
เราจะทำอย่างไร ให้ประเทศไทยขยับตัวได้เร็วกว่านี้ ไม่รอถึงเดือน เม.ย.2564 อย่างที่เป็นข่าว การระบาดครั้งนี้ หนักกว่าที่คิด ผู้รับวัคซีน ควรมีสิทธิ์เลือกที่จะฉีดหรือไม่ฉีด และควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมด
CR:Facebook Yong Poovorawan
กทม.วุ่นพนักงานร้านอาหารติดเชื้อโควิด-19
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) สรุปว่า กทม.ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มอีก 14 คน รวมทั้งสิ้น 108 คน โดยในจำนวน 14 คน มี 11 คน พบในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนอีก 3 คนอยู่ระหว่างการสอบสวน
ที่ประชุม ศบค. กทม. มีมติแจ้งให้ประชาชนที่ไปใช้บริการร้านอาหาร 3 ร้าน ตั้งแต่วันที่ 15-29 ธ.ค.2563 ติดต่อที่สำนักอนามัย เบอร์ 0-2203-2393 และ 0-2203-2396 เนื่องจากมีผู้ป่วยจากจ.นนทบุรีมาใช้บริการ และพบพนักงานในร้านติดเชื้อโควิด-19 อาจมีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน เพื่อเจ้าหน้าที่จะนัดมา SWAB ตรวจหาเชื้อ ทั้งนี้ ร้านอาหาร ประกอบด้วย
-ร้านอาหารอีสานกรองแก้ว แถวปิ่นเกล้า
-ร้านแซ่บอีสานคาราโอเกะ ย่านเทเวศร์
-ร้านน้องใหม่คาราโอเกะหรือร้านน้องใหม่พลาซ่า ร้านอยู่ภายในซอยออมสิน หลังห้างพาต้าปิ่นเกล้า
กรมควบคุมโรค จัด 3 คลัสเตอร์เชื้อโควิด-19 ในกทม.
นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยที่พบในพื้นที่กทม.แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1.เชื่อมโยง จ.สมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อกว่า 70 คน ในพื้นที่เขตบางขุนเทียน 27 คน หนองแขม 7 คน บางแค 5 คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่บริเวณรอยต่อ จ.สมุทรสาคร การกระจายของผู้ป่วยจะอยู่เป็นกลุ่มๆ ลักษณะคล้ายชุมชน
2.ในโรงงานผลิตรองเท้าแห่งหนึ่งย่านพระราม 2 เขตบางขุนเทียน ซึ่งการสอบสวนโรค พบผู้ป่วย 7 คน เป็นชาย 6 คน หญิง 1 คน เป็นคนไทย 1 คน และชาวเมียนมา 6 คน เป็นพนักงานรายวันในสายการผลิตเดียวกัน จากการสอบสวนโรคเพิ่มเติมด้วยการเก็บตัวอย่างบริเวณที่ผู้ป่วยทำงาน พบว่ามีเชื้อปนเปื้อนที่ก๊อกน้ำ อ่างน้ำและห้องน้ำ ดังนั้น ปัจจัยเสี่ยงของการแพร่โรคแห่งนี้จึงอยู่ที่การเป็นพนักงานในสายการผลิตเดียวกันและใช้ห้องน้ำร่วมกัน
3.กลุ่มก้อนสถานบันเทิง พบผู้ติดเชื้อแล้ว 22 คน พบว่าผู้ป่วยคนแรกเป็นนักเที่ยวจาก จ.นนทบุรี ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี (สสจ.) ได้รายงานเป็นผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้และได้แถลงไทม์ไลน์แล้ว และยังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง จากการสอบสวนโรคพบว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่าเกี่ยวข้องกับร้านอาหาร 3 ร้าน ดังกล่าว
บุกจับผับดังใน อ.หาดใหญ่ เปิดเกินเวลายันรุ่งเช้า
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ร่วมกับ ตำรวจ สภ.คอหงส์ เจ้าหน้าที่สรรพสามิตและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อ.หาดใหญ่ นำโดยนายเอกชัย แก้วรัตนะ ปลัดอาวุโส รักษาราชการแทนนายอำเภอหาดใหญ่ ตามคำสั่งและมาตรการของนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดสงขลา ที่ได้สั่งกำชับให้สถานประกอบการทุกแห่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโควิด-19
การตรวจค้นภายในผับดัง ถนนกาญจนวนิช อ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งสถานบันเทิงชื่อดังใน อ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นเป็นดิสโก้เทคกึ่งผับ และทราบว่าเปิดให้บริการเกินเวลาจนถึง03.00น.-04.00น.ทุกคืน บางคืนเปิดจนเกือบสว่าง พบกลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่เป็นเยาวชนทั้งชายและหญิงเข้าใช้บริการจำนวนมาก ภายในร้านมีการกินดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเต้นรำกันอย่างเมามัน สุดเหวี่ยง โดยไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19
น.ส.อันธิกา ดอฆอ หรือ อั๋น อายุ 39 ปี รับเป็นเจ้าของร้าน เจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวเอาไว้ ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดสงขลาพร้อมแจ้งดำเนินคดี 3 ข้อหา
-เปิดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกิน 24.00น.
-ฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดสงขลา
-ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
ชลบุรี ติดเชื้อพุ่ง12 คน บ่ายนี้ นายกฯ ลงพื้นที่พัทยา
ในวันที่ 30 ธ.ค.นี้ นายกฯลงพื้นที่พัทยา จ.ชลบุรี โดยมีกำหนดการจะไปที่แหลมบาลีฮายด้วยเพื่อตรวจเยี่ยมสถานการณ์ในพื้นที่
นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายอภิรัตน์ กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 12 คน รวม 36 คน จากเดิม 24 คน แยกออกเป็น อ.เมืองชลบุรี 12 คน อ.บางละมุง 22 คน และ อ.สัตหีบ 2 คน ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากพ่อค้าอาหารทะเลที่เดินทางมาจาก จ.สมุทรสาคร และแหล่งพนัน
ส่วนการติดตามแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองเป็นชาวเมียนมา 16 คน ที่เดินทางมาจาก จ.ปราจีนบุรี เพื่อมาหางานทำที่ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา สามารถติดตามได้ทั้งหมดแล้วอยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้าเรื่องการสอบสวนโรค ขณะที่ มาตรการล็อกดาวน์จังหวัดชลบุรี นายภัครธรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์ยังไม่รุนแรงถึงขั้นนั้น ขอให้ติดตามข่าวสารเป็นระยะๆ
รพ.สนาม'สาคร'เปิดใช้ 31ธ.ค.
ความคืบหน้าการสร้างศูนย์ห่วงใยคนสาครแห่งที่ 2 (วัดโกรกกราก) จังหวัดสมุทรสาคร พระครูวิสุทธิ์สิทธิคุณ เจ้าคณะตำบลโกรกกราก เจ้าอาวาสวัดโกรกกราก ได้ให้เจ้าหน้าที่ของทางวัดปรับพื้นที่ภายในศูนย์ปฏิบัติธรรม-วิปัสสนา บนเนื้อที่ 5 ไร่ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นำเตียงนอนเข้ามาจัดวางไว้แล้ว 108 เตียง
ส่วนภายนอกศูนย์ตั้งเต็นท์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และบุคลากรฝ่ายงานต่างๆ ที่จะเข้ามาประจำศูนย์แห่งนี้ คาดการณ์ว่าจะเริ่มรับผู้ติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรง เข้ามาพักภายในศูนย์ได้ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2563