ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา 07.30 น.วันพุธที่ 30 ธันวาคม 2563

30 ธันวาคม 2563, 07:58น.


ธ.ก.ส.คืนเงินดอกเบี้ยกว่า 3,000 ล้าน เป็นของขวัญปีใหม่ให้เกษตรกรทั่วประเทศ



          นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ส่งมอบของขวัญปีใหม่ 2564 ให้เกษตรกรผ่านโครงการชำระดีมีคืนและโครงการลดภาระหนี้ เพื่อบรรเทาภาระทางการเงินของเกษตรกรจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยทันทีที่ชำระหนี้เกษตรกรจะได้รับเงินคืนร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง และกรณีสถาบันเกษตรกรได้รับเงินคืนร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง วางเป้าหมายคืนเงินเข้ากระเป๋าเกษตรกรจำนวนกว่า 3,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2564



1.โครงการชำระดีมีคืน  สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะหนี้เป็นหนี้ปกติ และไม่มีดอกเบี้ยค้างชำระเกิน15 เดือน ซึ่งต้องมีหนี้คงเหลือ ณ 31 ต.ค. 2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ย ตามนโยบายรัฐบาล เมื่อชำระจะได้รับคืนดอกเบี้ยโดยการโอนคืนเข้าบัญชีเงินฝากของลูกค้าในวันถัดไปหลังจากวันที่ชำระหนี้ กรณีเป็นเกษตรกร และบุคคล จะได้รับเงินคืนในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกินรายละ 5,000 บาท และกรณีกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับเงินคืนในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง แต่ไม่เกินรายละ 50,000 บาท วงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2563-31 มี.ค.2564 หรือจนกว่าจะเต็มวงเงินงบประมาณ



2. โครงการลดภาระหนี้ สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้เป็นหนี้ค้างชำระหรือสถานะหนี้ปกติที่มีดอกเบี้ยค้างชำระเกินกว่า 15 เดือน ซึ่งต้องมีหนี้คงเหลือ ณ 31 ต.ค.2563 ยกเว้นสัญญาเงินกู้ตามโครงการที่ได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามนโยบายรัฐบาล โดย ธ.ก.ส. จะนำดอกเบี้ยที่คืนให้มาลดภาระหนี้ด้วยการตัดชำระต้นเงิน และหลังจากตัดชำระหนี้แล้ว มีเงินคงเหลือจะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรในวันถัดไป ซึ่งในกรณีลูกค้าเกษตรกรและบุคคล จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 20 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง กรณีกลุ่มบุคคล กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ นิติบุคคล และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะได้รับคืนดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราร้อยละ 10 ของดอกเบี้ยที่ชำระจริง ไม่จำกัดวงเงินที่จะคืน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2563- 31 มี.ค. 2564



          หลังการชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะส่งข้อความ SMS ให้เกษตรกรลูกค้าได้รับทราบเมื่อมีการโอนเงินเข้าบัญชี เงินฝากและกรณีที่เกษตรกรลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect จะได้รับข้อความแจ้งเตือนผ่าน LINE Official BAAC Family เช่นกัน หากเกษตรกรลูกค้าต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ Call Center 02-555-0555 หรือที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ



ครม.อนุมัติงบฯกว่าหมื่นล้านควบคุมโควิด-19 



          น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ จำนวน 10 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 1.13 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม 



1.กลุ่มเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรค วงเงินงบประมาณรวม 4.33 พันล้านบาท ประกอบด้วย 



-โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในชุมชน จำนวน 1.05 ล้านคน ระยะเวลา 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.2564) ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ วงเงิน 1.57 พันล้านบาท



-โครงการเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมควบคุมโรค วงเงิน 419.84 ล้านบาท



-โครงการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรคและห้องปฏิบัติการ ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมควบคุมโรค วงเงิน 503.89 ล้านบาท



-โครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 เพื่อรองรับการเป็นเครือข่ายห้องปฏิบัติการวินิจฉัยการติดเชื้อโรคโควิด-19 โรคอุบัติใหม่และเชื้อโรคระบาดอื่นๆ ในเขตภาคเหนือ ผู้รับผิดชอบโครงการ คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วงเงิน 24 ล้านบาท



2.กลุ่มรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ วงเงินงบประมาณรวม 6.96 พันล้านบาท ประกอบด้วย



-โครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค ผู้รับผิดชอบโครงการคือ สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 2.037 พันล้านบาท



-โครงการจัดหายาและวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของหน่วยบริการสุขภาพ ผู้รับผิดชอบโครงการคือสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 1.92 พันล้านบาท



-โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้รับผิดชอบโครงการคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 2.99 พันล้านบาท



3.กลุ่มสนับสนุน วงเงินงบประมาณรวม 27.2 ล้านบาท ประกอบด้วย



-โครงการจัดซื้อ จัดหาเครื่องมือตรวจสอบระบบการแพร่กระจายเชื้อในห้องแยกโรค และอุปกรณ์การคัดกรองโรคโควิด-19  ผู้รับผิดชอบโครงการคือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ วงเงิน 17 ล้านบาท



-โครงการพัฒนาระบบปกติใหม่ของการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ วงเงิน 9.7 ล้านบาท



นายกฯ ชวนสังสรรค์ในครอบครัว ขอดูสถานการณ์หลังปีใหม่



          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กำชับตอนหนึ่งในการประชุมครม.นัดสุดท้ายของปีว่าขอให้ทุกกระทรวงช่วยสนับสนุนงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง เน้นย้ำไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวอย่างเด็ดขาด และเน้นเรื่องการเฝ้าระวังจุดเสี่ยงต่างๆ อย่าให้เกิดปัญหาซ้ำกับพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และ จ.ระยอง เพราะไม่ต้องการให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ถึงขึ้นต้องออกเป็นข้อห้าม และขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นล็อกดาวน์ แต่จะเน้นว่าเป็นการขอความร่วมมือ



          ส่วนกรณีที่มีข้อสงสัยกันมากในประเด็นการเดินทางข้ามจังหวัดว่าจะมีมาตรการใดออกมาห้ามหรือไม่ ในที่ประชุมครม.นายกฯ ใช้คำว่า "ขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายการเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่จำเป็น เช่นว่าปีใหม่ ยังไม่กลับต่างจังหวัดได้หรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นเอาไว้ให้ไปวันหยุดพิเศษวันอื่นที่รัฐบาลจะประกาศให้เป็นช่วงวันหยุดยาว"



         นายกฯ กล่าวว่า สถานการณ์ต่างๆขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของเราทุกคน และขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป ถ้าทุกคนปฏิบัติตามมาตรการที่โฆษกศบค.ชี้แจงไป ในส่วนตัวคิดว่าคงไปไม่ถึงจุดนั้น เราต้องคาดหวังและมีศรัทธาร่วมกัน ไม่ใช่ฝ่ายรัฐ เพราะเจ้าหน้าที่อย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีศรัทธาร่วมกันว่าจะทำอะไรเพื่อให้ประเทศปลอดภัย รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นั่นคือสิ่งที่ประชาชนต้องมุ่งหวัง ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการการเมือง หรือข้าราชการประจำ เวลานี้ไม่ใช่เวลาทำงานการเมือง แต่เป็นเวลาที่ต้องดูแลประชาชนไปด้วยกัน ขอฝากไว้ด้วย ในส่วนตัวคาดหวังว่าจะไม่ถึงขั้นนั้น ขอบคุณความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วน ยืนยันว่าจะทำงานอย่างเต็มที่



         ขณะที่เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ได้โพสต์ข้อความว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในช่วงเทศกาล "ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่" ปีนี้ ทำให้เราต้องปรับตัว จัดสังสรรค์กันในครัวเรือน ในวงจำกัด



ระยอง ยกระดับควบคุมสูงสุด-ตั้งโรงพยาบาลสนาม



นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ประกาศยกระดับอีก 4 อำเภอ เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ประกอบด้วย



-อ.บ้านฉาง



- อ.แกลง



-อ.บ้านค่าย



-อ.นิคมพัฒนา



ส่วนอีก 2 อำเภอ คือ อ.ปลวกแดง และ อ.วังจันทร์ เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด จำเป็นต้องปิดจุดเสี่ยงเพิ่มทั้งหมดควบคุมทั้งจังหวัดเหมือนกับอ.เมือง



         สถานการณ์โควิด-19 ของ จ.ระยอง มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 56 คน รวมเป็น 148 คน พบมากที่สุดในพื้นที่ อ.เมือง



          ผู้ว่าราชการจังหวัด สั่งปิดสถานบันเทิง โรงเรียน สถานอาบอบนวด นวดแผนไทย สวนสนุก แต่ยังเปิดซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร แต่ร้านอาหารต้องนำกลับไปรับประทานที่บ้านเท่านั้น ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวทั้งจังหวัด รวมถึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการจ้างแรงงานทำงานในช่วงวันหยุด โดยจ่ายค่าแรงเป็นการทำงานในวันหยุด เป็นอีกหนึ่งมาตรการในการป้องกันไม่ให้เชื้อกระจายออกไป โรงพยาบาลสนามมี 2 ระดับ คือ ที่เป็นห้องเดียว และห้องนอนรวมกัน คล้ายกับที่ จ.สมุทรสาคร แต่ที่จะเลือกทำโรงพยาบาลสนามในรูปแบบแยกห้องจะให้ความปลอดภัยและสะดวกสบายกว่า



อ.แม่สอด ยกระดับคุมโควิด-19 ห้ามรถรับจ้างวิ่ง



          สถานการณ์โควิด-19 ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งมีพื้นที่ติดแนวชายแดนไทย-เมียนมา ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจากวงเดียวกันถึง 11 คนรวด และรวมผู้ป่วยรายเดิมอีก1 คน จนต้องเปิดตึกพิเศษเป็นโรงพยาบาลสนามที่โรงพยาบาลแม่สอด เพื่อรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่อาจจะเพิ่มขึ้นอีก โดยเจ้าหน้าที่ยังคงปฏิบัติการเชิงรุกอย่าง ต่อเนื่อง

          นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ลงนามในคำสั่งของจังหวัดตากที่ 3637/2563 เรื่อง มาตรการป้องกันควบคุมโควิด-19 เฉพาะพื้นที่ อ.แม่สอด ลงวันที่ 28 ธ.ค. 2563 ให้งดบริการรถยนต์แท็กซี่รับจ้างทุกประเภททุกคัน ทั้งภาคเอกชน และสหกรณ์จนถึงวันที่ 3 ม.ค.2564 งดปฏิบัติศาสนกิจ และศาสนพิธีของทุกศาสนาที่มีการรวมกลุ่มตั้งแต่ 20 คนขึ้นไปในสถานที่ใดๆ ยกเว้นแต่มีความจำเป็นให้นายอำเภอแม่สอดพิจารณาเป็นกรณีไป งดทานอาหารที่ร้านจำหน่ายอาหารทุกชนิดตามสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น สถานีขนส่ง ท่าอากาศยาน และสถานที่บริการ ร้านค้าต่างๆ ตลาดทุกประเภทที่มีผู้ใช้บริการจะต้องมีมาตรการการป้องกันตามที่สาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด



 

ข่าวทั้งหมด

X