การแถลงเปิดคดีถอดถอน นาย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ประเด็นแก้ไขที่มาของวุฒิสภา หรือส.ว. นาย วิชา มหาคุณ ตัวแทนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้แถลงเปิดคดีว่า การกระทำของนาย สมศักดิ์ ได้ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ขัดต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 และมีการใช้อำนาจหน้าที่ส่อไปในทางทุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเสียงข้างมาก รวมทั้งมีพฤติการณ์ที่ไม่เหมาะสมในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เห็นได้จากการที่นาย สมศักดิ์ กระทำผิดไว้ในหลายประการ เช่น การสั่งปิดอภิปรายก่อนกำหนด ในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ทั้งที่เหลือเวลาอภิปรายกว่า 8 ชั่วโมง รวมทั้งการที่นาย สมศักดิ์ เรียกประชุมเพื่อลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมจำนวน 3 ฉบับ ทั้งๆที่ยังมีผู้ไม่ได้อภิปรายจำนวนมาก รวมทั้งกำหนดระยะเวลาในการแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก็ยังไม่เสร็จสิ้น แสดงให้เห็นว่าเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมและไม่เคารพเสียงข้างน้อย อีกทั้งเป็นการไม่ให้โอกาสผู้ขอแปรญัตติ
นอกจากนี้นาย สมศักดิ์ ยังรับร่างกฎหมายที่ นายอุดมเดช รัตนเสถียร ผู้เสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับไปเปลี่ยนกับร่างฉบับเดิม โดยมีการแก้ไขหลักการให้ สมาชิกวุฒิสภาสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันกันโดยไม่ต้องเว้นวรรค ซึ่งถือว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญด้วย
หลังจากปปช.แถลงเปิดคดี ต่อจากนั้นก็จะเป็นนายสมศักดิ์ แถลงแก้ข้อกล่าวหา แต่นาย สมศักดิ์ ไม่ได้ส่งตัวแทนมาชี้แจง มีเพียงเอกสารชี้แจงที่เคยยื่นมานานแล้วเท่านั้น ถือว่าเป็นการสละสิทธิ์ที่สามารถกระทำได้ จากนั้น ที่ประชุมสนช. จึงได้ลงมติกำหนดตั้งคณะกรรมาธิการซักถามคู่กรณีทั้งสอง โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้คณะกรรมาธิการชุดเดียวกับนาย นิคม ที่มีจำนวน 9 คน และมีมติเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 189 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ให้ยืดเวลาสมาชิกสนช.ส่งคำถามไปยังคณะกรรมาธิการซักถามได้จนถึงวันที่ 12 มกราคม เวลา 12.00น. และยังมีมติกำหนดวันประชุมเพื่อเริ่มพิจารณาประเด็นซักถามในวันที่ 15 มกราคม เวลา 10.00น. และภายในวันที่ 20 มกราคม คู่กรณีจะต้องส่งหนังสือแถลงปิดคดีมายังที่ประชุมอีกครั้งด้วย