ศบค.ไม่มีการล็อกดาวน์ แต่แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 พื้นที่ คุมโควิด-19

24 ธันวาคม 2563, 13:03น.


         นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เปิดเผย ผลการประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานว่า ที่ประชุมไม่มีการล็อกดาวน์ แต่แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 พื้นที่ เพื่อออกมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในแต่ละพื้นที่ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด เป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการแบ่งพื้นที่ เพื่อให้เกิดมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด  



การแบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์ 4 แห่ง



1.พื้นที่ควบคุมสูงสุด มีผู้ติดเชื้อมาก มากกว่า 1 พื้นที่ย่อย เช่น จ. สมุทรสาคร มีมาตรการดังนี้



- เร่งรัดการตรวจหาคนติดเชื้อเร่งด่วน นำไปสู่การแยกกักผู้ติดเชื้อหรือตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยให้กระทรวงกลาโหม ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข รับผิดชอบเรื่องนี้ 



-พิจารณาเยียวยาความเป็นอยู่ของผู้ติดเชื้อและครอบครัว



-ต้องใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ ที่มีความละเอียดสูงกว่าแอปพลิเคชันไทยชนะ



-กำหนดเวลาเปิด ปิดของสถานประกอบการ



-ควบคุมการเข้าออกของคนต่างด้าว ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว และยานพาหนะทุกชนิด โดยไม่ให้กระทบต่อการค้า



-จัดตั้งด่านตรวจคัดกรอง



-ใช้มาตรการ work from home



-เปลี่ยนการเรียนการสอน เป็นแบบออนไลน์



-สถานประกอบการและโรงงานให้เปิดทำการได้ เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ แต่ต้องมีมาตรการป้องกันโรค



-กิจการประมง สามารถดำเนินการได้แต่ต้องตรวจหาเชื้อก่อนออกเรือ โดยกระทรวงกลาโหม จะช่วยสนับสนุนกำลังคนในการตรวจหาเชิงรุกทางทะเล และอาหารทะเลที่นำขึ้นฝั่งแล้วก็ต้องตรวจสอบด้วย โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันตรวจ



2.พื้นที่ควบคุม ติดกับพื้นที่ควบคุมสูงสุด มีผู้ติดเชื้อเกินกว่า 10 ราย และมีแนวโน้มมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม มีมาตรการ ดังนี้



-ตรวจหาเชื้อเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง บุคคลเสี่ยงและกิจกรรมเสี่ยง



-เน้นมาตรการป้องกันการระบาด



- ต้องใช้แอปฯหมอชนะ



-พิจารณากำหนดเวลาเปิด ปิดสถานประกอบการที่จำเป็น



-ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว



-เฝ้าระวังว่าจะมีคนจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด หลบหนีเข้ามาหรือไม่ หากพบให้แจ้งตำรวจดำเนินการ



3.พื้ื้นที่เฝ้าระวังสูง ติดเชื้อน้อยกว่า 10 ราย มีแนวโน้มควบคุมสถานการณ์ได้ มีมาตรการดังนี้



-ตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง กลุ่มบุคคลเสี่ยง



-เน้นย้ำมาตรการป้องกันการระบาด ใช้แอปฯหมอชนะ



-พิจารณากำหนดเวลาเปิด ปิดสถานประกอบการ สถานบันเทิง ตามความเหมาะสม



-ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว



-หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวจำนวนมากทุกรูปแบบ



4.พื้นที่ที่เฝ้าระวัง คือพื้นที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ และไม่มีสิ่งบอกเหตุว่าจะมีผู้ติดเชื้อ มีมาตรการดังนี้



-ตรวจหาเชื้อในเชิงรุกเช่นกัน



-เน้นย้ำมาตรการด้านสาธารณสุขทุกเรื่อง เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง การใช้เจลแอลกอฮอล์ ฯลฯ   



ส่วนการจัดงานเคาท์ดาวน์ช่วงปีใหม่ ให้พิจารณาตามพื้นที่



-พื้นที่ควบคุมสูงสุด ต้องงดการจัดกิจกรรมการฉลองทุกชนิด เว้นการจัดกิจกรรมแบบออนไลน์



-พื้นที่ควบคุม งดการจัดกิจกรรมที่เป็นสาธารณะ แต่ให้จัดกิจกรรมที่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม หรือผู้เข้าร่วมที่คุ้นเคยกันไม่กี่ราย เช่น ในครอบครัว ในกลุ่มเพื่อน หรือจัดกิจกรรมออนไลน์



-พื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่เฝ้าระวัง ให้จัดกิจกรรมได้ แต่ต้องลดขนาดงานให้เล็กลง มีมาตรการลดความหนาแน่นของผู้ร่วมกิจกรรม และควบคุมไม่ให้คับคั่งแออัด โดยต้องดูสถานะของพื้นที่ในขณะนั้นด้วยว่ามีความเปลี่ยนแปลงของจำนวนผู้ติดเชื้อหรือไม่  



 

ข่าวทั้งหมด

X