ศบค.ประชุมจัดโซนสกัดโควิด
ในวันนี้ (24 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะประชุม ศบค. เพื่อแบ่งพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยเมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สถิติผู้ป่วยรายใหม่เริ่มลดลง เนื่องจากมีการตรวจสอบและควบคุมพื้นที่มากขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือหากวิเคราะห์สาเหตุขั้นต้นมาจากแรงงานต่างด้าวผู้ลักลอบเข้าเมือง จะต้องขจัดขบวนการเหล่านี้ให้ได้ โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาการขึ้นทะเบียนแรงงานชั่วคราวโดยใช้บัตรสีชมพู เพราะหากมีการใช้มาตรการที่มีความเข้มงวดมากเกินไป ก็จะมีนายจ้างที่นำแรงงานผิดกฎหมายไปปล่อยที่อื่น โดยการประชุม ศบค.วันนี้ จะได้ข้อยุติว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป รวมถึงการกำหนดพื้นที่เป็นพื้นที่แพร่ระบาดมากและแพร่ระบาดน้อย พื้นที่มีความเสี่ยงมากหรือมีความเสี่ยงน้อยเพื่อกำหนดมาตรการที่เฉพาะลงไป
ผบ.ทสส.สั่งเข้มชายแดน
ส่วนที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ. เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับภารกิจในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยกองกำลังป้องกันชายแดนต้องทำหน้าที่เข้มงวดมากขึ้น เพิ่มการวางจุดตรวจพื้นที่ที่สำคัญ และให้ใช้เครื่องมือพิเศษตรวจพื้นที่ ทั้งมีการประสานการทำงานกับกระทรวงมหาดไทย ในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนตามแนวชายแดนเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลควบคุมพื้นที่
ผบ.ตร.เผยมีเบาะแสขบวนการค้าต่างด้าว
พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่มีเบาะแสขบวนการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่การดำเนินคดีจะต้องมีพยานหลักฐาน ทั้งฝ่ายตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองต่างช่วยกันดูแล โดยจะเน้นไปที่ขบวนการในการพาคนลักลอบเข้าเมือง แต่ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยต้องดูแล เพราะถ้าไม่ดูแลเขา คนไทยเองก็จะมีปัญหา ฝากถึงผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาว่าจะเข้ามาผิดหรือถูกก็เรื่องหนึ่ง แต่ขอให้เชื่อฟังเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค
นอกจากนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยังกล่าวว่า จะมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่ยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนดำเนินการ ถ้าหลักฐานชัดเจนก็ดำเนินคดีหมด
ส่วนมาตรการต่าง ๆ จะเน้นพื้นที่ 10 จังหวัดชายแดนภาคตะวันตก ประกอบด้วย กาญจนบุรี ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี แม่ฮ่องสอน ระนอง และราชบุรี ต้องดูเรื่องการข้ามไปข้ามมาผ่านช่องทางธรรมชาติ และด่านตรวจคนเข้าเมือง กับต้องเน้นไปที่จังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ นครปฐม และราชบุรี ทุกพื้นที่ต้องอยู่ในความควบคุมของคณะกรรมการควบคุมโรคระดับจังหวัดเป็นหลัก ตำรวจเป็นผู้สนับสนุนเรื่องการติดตามหาคน การสอบสวนโรค
รมว.สธ.ระบุปิดหน้าไม่ปิดเมือง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอว่าอย่าหลงเชื่อข่าวปลอม และขอกำลังใจให้คนทำงาน เวลานี้ไม่ใช่เวลากล่าวโทษกัน ต้องอาศัยความร่วมมือทุกฝ่าย เริ่มจากการสวมหน้ากากอนามัยให้ได้ 100% ล้างมือ เว้นระยะห่าง เพราะหากช่วยกันปิดหน้าใส่หน้ากากก็ไม่ต้องปิดเมือง สาธารณสุขจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อุปกรณ์ ยา เวชภัณฑ์ มีเพียงพอ
สธ.เตรียมพร้อมแผนส่งต่อผู้ป่วยและสำรองยาฟาวิพิราเวียร์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ สธ. กล่าวว่า เนื่องจากพบผู้ป่วยระลอกใหม่เพิ่มต่อเนื่อง สธ.ได้ให้กรมการแพทย์จัดระบบการรักษาพยาบาล การเตรียมระบบส่งต่อ การเตรียมความพร้อมสำหรับสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยของประเทศ วางแผนการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามความจำเป็นของผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 วัน หากติดตามอาการจนผู้ป่วยหายเป็นปกติและไม่มีอาการแทรกซ้อนอย่างน้อย 48 ชั่วโมง ผู้ป่วยกลับบ้านได้ กรณีจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส ได้จัดเตรียมยาฟาวิพิราเวียร์ ไว้ประมาณ 488,200 เม็ด กระจายยาไปยังโรงพยาบาลต่างๆ นอกจากนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ยังเตรียมผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ภายในประเทศและยาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคโควิด-19 ไว้ด้วยแล้ว
กทม.ปิดโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก แนะทำงานที่บ้านลดเสี่ยง
ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) ระบุว่า กทม.พบผู้ป่วยที่มีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในต่างจังหวัดเพิ่มเป็น 20 คนแล้ว และมีการตรวจเชิงรุกในตลาด 478 แห่ง และไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่จะมีการตรวจซ้ำอีกครั้ง รวมถึงจะมีการตรวจโรงงาน ในพื้นที่เขตที่ติดกับ จ.สมุทรสาคร โดยจะเปลี่ยนวิธีการตรวจจากการใช้ RT-PCR เป็นการใช้น้ำลายแทนการสวอป
นอกจากนี้ กทม.ให้ปิดโรงเรียน กทม.437 แห่งและศูนย์เด็กเล็ก 292 แห่ง เป็นเวลา 12 วันเริ่ม ตั้งแต่วันนี้
สำหรับหน่วยงาน กทม.ที่ไม่ใช่หน่วยงานบริการ ให้ทำงานที่บ้าน และขอเชิญชวนให้หน่วยงานภาครัฐอื่นและเอกชนอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้านในช่วง 12 วันนี้
....