ก่อนเริ่มแถลงเปิดคดีถอดถอน นาย สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนาย นิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ประเด็นการแก้ไขที่มาของวุฒิสภาหรือส.ว. พล.ต.อ. ชัชวาล สุขสมจิตต์ สมาชิกสนช.ได้เสนอให้เป็นการประชุมลับตามข้อบังคับการประชุม 152 เนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลต่อการเมืองและเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ แต่สมาชิกส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยต่อการประชุมลับ เพราะสังคมอาจสงสัย ดังนั้นจึงเห็นควรให้มีการประชุมแบบเปิดเผย เพื่อผลประโยชน์ต่อสังคม และมองว่าจะไม่ส่งผลต่อการเมืองหรือสังคม ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ชี้แจงว่า การถอดถอนเป็นเรื่องที่ สังคมต้องการฟังคำชี้แจงจากทั้งผู้กล่าวหาและจากผู้ถูกกล่าวหา พร้อมระบุว่าจะควบคุมการแถลงของทั้ง 2 ฝ่ายให้อยู่ในประเด็นและไม่ให้บานปลายจากนั้นประธานสนช.จึงสั่งให้สมาชิกลงมติว่าจะทำการประชุมลับหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยให้ประชุมลับด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นด้วย 107 เสียง เห็นด้วย 70 เสียง งดลงคะแนน 19 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ก่อนที่ประชุมจะเชิญคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามาในห้องประชุมเพื่อเริ่มกระบวนการแถลงเปิดคดี
โดยนาย วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2550 จะยุติลงไปแล้ว แต่ยังมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542ที่ให้อำนาจถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังคงอยู่ รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 ก็ให้อำนาจดังกล่าวไว้ ปปช.จึงลงมติเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2557 ให้ส่งเรื่องการประพฤติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าวของนาย นิคม ไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาถอดถอน แต่ด้วยวุฒิสภาถูกยุบไป และมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่วุฒิสภาแทนตามคำสั่งแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช. สนช.จึงมีหน้าที่พิจารณาการถอดถอนดังกล่าว ทั้งนี้นาย วิชา ระบุว่า นาย นิคม ได้กระทำความผิดกฎหมายหลายฉบับ ทั้งข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2553 ผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดยปปช.เห็นว่านาย นิคม มีการส่อใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเสียงข้างมาก ส่อว่าขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับพ.ศ.2550 ม.3 วรรค 2 และม.291 รวมทั้งส่อว่าเป็นการละเมิดเสียงข้างน้อย ซึ่งไม่เป็นไปตามประชาธิปไตย อันเห็นได้จากการรีบรับญัตติปิดประชุมทันที โดยไม่ให้สมาชิกรัฐสภาที่เหลืออีกว่าร้อยคนที่ยื่นแสดงความจำนงขออภิปรายและยื่นญัตติแสดงความเห็นได้แสดงความเห็นต่างๆหลายสิบครั้ง โดยเฉพาะการรับญัตติดังกล่าวยังเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ รวมทั้งนาย นิคม มีพฤติการณ์ดังกล่าวหลายสิบครั้ง ปปช จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถอดถอนนาย นิคม อดีตประธานวุฒิสภา